PDA

View Full Version : ความรู้เบื้องต้นเรื่อง mod


banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:10
ที่โพสต์กระทู้นี้ ไม่ได้แปลว่า ผมเก่งกาจ หรือเป็นเซียน

แต่เป็นเพราะมักมีกระทู้ถามว่า mod คืออะไร อยู่บ่อยๆ

และมักจะมีคำตอบว่า ให้ไปอ่านหนังสือเล่มนี้ เล่มโน้น

อย่างหนังสือ สอวน ทฤษฎีจำนวน

ไปอ่านแล้วก็หงายหลังออกมา ไม่รู้เรื่องเลยครับ

จนวันหนึ่งไปอ่านที่อาจารย์ ดำรงค์ ทิพย์โยธาเขียนไว้

อ่านแล้วเข้าใจพื้นฐานของการหาเศษเหลือ

จึงนำมาเรียบเรียงใหม่ แล้วมาโพสต์

ด้วยความหวังว่า ผู้ที่เคยได้ยินเรื่อง mod จะพอเข้าใจได้บ้างว่า mod คืออะไร แล้วหาได้อย่างไร

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:11
นั่ง Time Machine ไปยุคประถม

ถ้าถามว่า 5 หารด้วย 2 เหลือเศษเท่าไร เด็กๆก็ตอบได้ว่า เหลือเศษ 1

ถามว่า 289 หารด้วย 13 เหลือเศษเท่าไร

เด็กก็จะตั้งหารยาว ได้ผลลัพธ์เป็น 22 เหลือเศษ 3

เขียนในรูปเศษส่วน จะได้ $\frac{289}{13} = \frac{22(13) +3}{13} = \frac{22(13) }{13} + \frac{3}{13}$

จะเห็นว่า $\frac{22(13) }{13}$ ตัวเศษ มี 13 เป็นพหุคูณ หรือตัวร่วม ทำให้ หารด้วย 13 ลงตัว และมี $\frac{3}{13}$ เศษคือ $3$


แต่โจทย์ไม่ง่ายๆแบบข้างต้น มักเป็นการหารเลขยกกำลัง เช่น

$2^{10}$ หารด้วย $5$ เหลือเศษ เท่าไร

จงหาเศษเหลือจากการหาร $3^{100}$ ด้วย $7$

เศษเหลือจาการหาร $17^{1000}$ ด้วย $13$ เป็นเท่าไร

แบบนี้ถ้าทำแบบตั้งหารยาว คงยุ่งยากและยาวมากๆ

เราจะหาแนวทางในการหาเศษเหลือของตัวเลข $x^n$ ที่หารด้วย $p$

ค่อยๆทำความเข้าใจตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:11
ตัวอย่างที่ 1

เศษเหลือที่ได้จากการหาร $2^{100}$ ด้วย 5 เท่ากับเท่าใด

วิธีที่ 1
เพราะว่า $2^{100} = (2^4)^{25}= (16)^{25} =...6$

เพราะฉะนั้นหลักหน่วยของ $2^{100}$ เป็นเลข $6$

สรุป เศษเหลือที่ได้จากการหาร $2^{100}$ ด้วย $5$ มีค่าเท่ากับ $1$


วิธีที่ 2

$2^{100}= (2^2)^{50} = 4^{50}= (5-1)^{50}$

$=\binom{50}{0}5^{50} - \binom{50}{1}5^{49} + \binom{50}{2}5^{48} - \binom

{50}{3}5^{47} + ... - \binom{50}{49}5^{1}+1 $

เพราะว่า $5$ หาร $\binom{50}{k}5^{50-k}$ ลงตัวทุกค่า $ k=0,1,...,49$

เพราะฉะนั้น $5$ หาร $2^{100}$ เหลือเศษ $1$

หมายเหตุ
การแก้ปัญญาข้อนี้วิธีที่ $1$ เป็นวิธีที่เข้าใจได้ง่ายกว่าวิธีที่ $2$ แต่เมื่อ

ต้องการหาในกรณีที่ตัวหารไม่ใช่เลข $5$ หรือ $10$ จะพบว่าวิธีที่ $2$ จะดีกว่า

ถึงตรงนี้ ก็ไปหาความรู้เรื่องทฤษฎีทวินามมาอ่าน หรืออย่างน้อย จำรูปแบบนี้ไว้ก่อนก็ได้

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:12
ตัวอย่าง 2.

เศษเหลือที่ได้จากการหาร $10^{ 10}$ ด้วย $7$ เท่ากับเท่าใด

วิธีทำ

$ \because \ \ 10^{10} = (7+3)^{10}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ \ = \binom{10}{0}7^{10}\cdot 3^0 + \binom{10}{1}7^{9}\cdot 3^1 + ...+

\binom{10}{9}7^{1}\cdot 3^9 + 3^{10}$

เพราะฉะนั้นเศษเหลือที่ได้จากการหาร $10^{10}$ ด้วย $7$ ต้องเท่ากับเศษเหลือจากการหาร $3^{10}$ ด้วย $7$

แต่เพราะว่า $3^{10} =(3^2)^5 = 9^5 = (7+2)^5$

$= \binom{5}{0}7^{5}\cdot 2^0 + \binom{5}{1}7^{4} \cdot 2^1 + ... + \binom{5}{4}7^{1} \cdot

2^4 + 2^5$

เพราะฉะนั้นเศษเหลือที่ได้จากการหาร $3^{10}$ ด้วย $7$ ต้องเท่ากับเศษเหลือที่ได้จากการหาร $2^5$ ด้วย $7$

เพราะว่า $2^5 = 32 $ หารด้วย $7$ เหลือเศษ $4$

สรุป $10^{10}$ หารด้วย $7$ เหลือเศษ $4$

ถึงตรงนี้พอได้แนวคิดบ้างหรือยังครับ

ถ้าอย่างนั้น ก็มาดูตัวอย่างต่อไป

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:13
ตัวอย่างที่ 3.
เศษเหลือที่ได้จากการหาร $10^{100} \ $ ด้วย $ \ 13$ เท่ากับเท่าใด


วิธีทำ

$10^{100} =(10^2)^{50} =(100)^{50} =[ 7(13)+9]^{50}$

เพราะว่าเศษเหลือจากการหาร $10^{100}$ ด้วย $13$ เท่ากับเศษเหลือที่ได้จากการหาร $9^{50}$ ด้วย $13$

$ \ \ \ 9^{50} = (9^2)^{25} =(81)^{25} =(6(13)+3)^{25}$


เพราะฉะนั้นเศษเหลือที่ได้จากการหาร $9^{50}$ ด้วย $13$ ต้องเท่ากับเศษเหลือที่ได้จากการหาร $3^{25} $ ด้วย $13$


$ \ \ \ \ 3^{25} = (3^5)^5 =(243)^5 =(18(13)+9)^5$


เศษเหลือจากการหาร $3^{25}$ ด้วย $13$ เท่ากับเศษเหลือจากการหาร $9^5$ ด้วย $13$


$ \ \ \ \ \ \ 9^5 = (3^2)^5 =(3^5)^2 =(243)^2 =(18(13)+9)^2$

เศษเหลือจากการหาร $9^5$ ด้วย $13$ เท่ากับเศษเหลือจากการหาร $9^2$ ด้วย $13$

เพราะว่า $9^2 = 81$ หารด้วย $13$ เหลือเศษ $3$

เพราะฉะนั้น $10^{100}$ หารด้วย $13$ เหลือเศษ $3$


เป็นไงครับ เริ่มมันแล้วหรือยัง :haha:

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:14
มาดูตัวอย่างต่อไป ตอนนี้อาจต้องยาวหน่อย แต่พอถึงเรื่อง mod จะค่อยๆสั้น แล้วก็สั้นอีก

ใจเย็นๆ เอาให้คล่องก่อน แล้วพื้นฐานจะแน่น :D

ตัวอย่างที่ 4.

เศษเหลือที่ได้จากการหาร $2^{100}$ ด้วย $7$ เท่ากับเท่าใด


วิธีทำ

$2^{100} = (2^4)^{25} = (16)^{25} = (14+2)^{25}$

$ \ \ \ \ \ = \binom{25}{0}14^{25} \cdot 2^0 + \binom{25}{1}14^{24} \cdot 2^1 + ... + \binom

{25}{24}14^{1} \cdot 2^{24} +2^{25}$


เพราะว่า $7$ หาร $ \binom{25}{0}14^{25} \cdot 2^0 + \binom{25}{1}14^{24} \cdot 2^1 + ... + \binom{25}

{24}14^{1} \cdot 2^{24}$ ลงตัว

เพราะฉะนั้นเศษเหลือที่ได้จากการหาร $2^{100}$ ด้วย $7$ ต้องเท่ากับเศษที่ได้จากการหาร $2^{25}$ ด้วย $7$


$2^{25} = (2^5)^5 = 32^5 = (28+4)^5$

$ \ \ \ \ = \binom{5}{0}28^{5} \cdot 4^{0} + \binom{5}{1}28^{4} \cdot 4^{1} + ... + \binom{5}

{4}28^{1} \cdot 4^{4}+4^5$

เพราะว่า $7$ หาร $\binom{5}{0}28^{5} \cdot 4^{0} + \binom{5}{1}28^{4} \cdot 4^{1} + ... + \binom{5}

{1}28^{1} \cdot 4^{4}$ ลงตัว

เพราะฉะนั้นเศษเหลือจากการหาร $2^{25}$ ด้วย $7$ ต้องเท่ากับเศษเหลือที่ได้จากการหาร $4^5$ ด้วย $7$

$4^5 = (2^2)^5 = (2^5)^2 = (32)^2 = (28+4)^2 =28^2+2(28)(4)+4^2$

$ \ \ \ \ \ \ \ = 28^2+2(28)(4)+16$

$ \ \ \ \ \ \ \ = 28^2+2(28)(4)+14+2$

ดังนั้น $7$ หาร $4^5$ เหลือเศษ $2$

สรุป $7$ หาร $2^{100}$ เหลือเศษ $2$



เหตุผลสำคัญที่เราจะอ้างใช้ในโอกาสต่อไป คือ
ถ้า $x^n= (kp+r)^n$ แล้วเศษเหลือที่ได้จากการหาร $x^n$ ด้วย $p$ เท่ากับเศษเหลือ จากการหาร $r^n$ ด้วย $p$

ข้อพิสูจน์ จากการกระจายทวินาม
$(a+b)^n = \binom{n}{0}a^n+ \binom{n}{1}a^{n-1} b + \binom{n}{2}a^{n-2} b^2 +
... + \binom{n}{n} b^n$


ดั้งนั้น
$(kp+r)^n = \binom{n}{0}(kp)^n+ \binom{n}{1}(kp)^{n-1}r + ...+ \binom{n}{n-1}(kp)r^{n-1} +

\binom{n}{n}r^n$

แต่เพราะว่า $p$ หาร $\binom{n}{i}(kp)^{n-i}r^i$ ลงตัวทุกค่า $ i = 0,1,2,...,n-1$

เพราะฉะนั้น $p$ หาร $ \binom{n}{0}(kp)^n+ \binom{n}{1}(kp)^{n-1}r + ...+ \binom{n}{n-1}(kp)r^{n-1} $

ลงตัว

ดังนั้นเศษเหลือจากการหาร $ \ (kp+r)^n$ ด้วย $p$ ต้องเท่ากับเศษเหลือจากการหาร $r^n$ ด้วย $p$

ต่อนี้ไป เราจะไม่เขียนยาวๆแบบนี้อีกแล้ว

แต่จะอ้างเหตุผลข้างต้นแทน

ดูตัวอย่างต่อไปเลยครับ

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:15
ตัวอย่างที่ 5.

เศษเหลือจากการหาร $2^{1000}$ ด้วย $13$ เท่ากับเท่าใด


วิธีทำ

$2^{1000} = (2^5)^{200} = (32)^{200} = (26+6)^{200} = (2(13)+6)^{200}$

$6^{200} = (6^2){100} =(36){100} =(26+10)^{100} =(2(13)+10)^{100}$

$10^{100} = (10^2)^{50} =(100)^{50} =(7(13)+9)^{50}$

$9^{50} = 81^{25} = (6(13)+3)^{25}$

$3^{25} = (3^5)^5 = (243)^5 = (18(13)+9)^5$

$9^5 = 59049$

เพราะว่า $59049$ หารด้วย $3$ เหลือเศษ $3$

โดยการอ้างเหตุผลข้างต้น
เศษเหลือจากการหาร $2^{1000}$ ด้วย $13$
= เศษเหลือจากการหาร $6^{200}$ ด้วย $13$
= เศษเหลือจากการหาร $10^{100}$ ด้วย $13$
= เศษเหลือจากการหาร $9^{50}$ ด้วย $13$
= เศษเหลือจากการหาร $3^{25}$ ด้วย $13$
= เศษเหลือจากการหาร $9^5$ ด้วย $13$
= เศษเหลือจากการหาร $59049$ ด้วย $13$
= $3$


หมายเหตุ การหาเศษเหลือแบบนี้จะทำได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับผู้ฝึก
จะแบ่งตัวเลขออกเป็นผลบวกหรือการแบ่งกำลัง (ฝึกบ่อยๆ จะมองออกเอง) ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีเช่น

$2^{1000} = (2^8)^{125} =(256)^{125} =(19(13)+9)^{125}$

$9^{125} = 3^{250} =(3^5)^{50} =(243)^{50} =(18(13)+9)^{50}$

$9^{50} = (9^2)^{25} =81^{25} =(6(13)+3)^{25}$

$3^{25} = (243)^5 = (18(13)+9)^5$

$9^5 = 59049$

ดังนั้นจะได้เศษเหลือของ $2^{1000}$ หารด้วย $13$ เท่ากับ $3$ เหมือนกัน



แล้วเมื่อไรจะเข้าเรื่อง mod เสียที :haha:

ใจเย็นๆ ตัวอย่างข้างล่างนี้ เราก็จะเข้าเรื่อง mod เสียที :haha:

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:20
ตัวอย่างที่ 6.

เศษเหลือจากการหาร $7^{2541}$ ด้วย $4$ เท่ากับเท่าใด


วิธีทำ
$ \ \ \ \ \ \ \ \ 7^{2541}= (4+3)^{2541}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{2541} = (3^3)^{847} =(27)^{847} =(6(4)+3)^{847}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{847} = (3^7)^{121} =(2187)^{121} =(546(4)+3)^{121}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{121} =(3^{11})^{11} = (177147)^{11}

= (44286(4)+3)^{11}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{11} = 177147$ หารด้วย $4$ เหลือเศษ $3$


เศษจากการหาร $7^{2541}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{2541}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{847}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{121}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{11}$ ด้วย $4$
= $3$



ในหลักสูตรเกี่ยวกับระบบจำนวนมีการกำหนดสัญลักษณ์ $a \equiv b \pmod{m} $

หมายความว่า $a-b$ หารด้วย $m$ ลงตัว ตัวอย่างเช่น

$10-1$ หารด้วย $3$ ลงตัว เพราะฉะนั้น $10 \equiv 1 \pmod{3} $

$17-5$ หารด้วย $12$ ลงตัว เพราะฉะนั้น $17 \equiv 5 \pmod{12} $

$100-50$ หารด้วย $10$ ลงตัว เพราะฉะนั้น $100 \equiv 50 \pmod{10} $


ในกรณีที่ $0\leqslant b < m$ และ $a \equiv b \pmod{m} $

จะได้ว่า $b$ เป็นเศษเหลือที่ได้จากการหาร $a$ ด้วย $m$

โดยการใช้สัญลักษณ์ $a \equiv b \pmod{m} $ จะได้ว่า

$7^{2541} \pmod{4} \equiv 3^{2541} \pmod{4} \equiv 3^{847} \pmod{4} \equiv 3^{121} \pmod{4} \equiv 3^{11}\pmod{4} $

$ \equiv 177147\pmod{4} $

$ \equiv 3 \pmod{4} $

ต่อไปพิจารณาเศษเหลือที่ได้จากการหาร$(m+b)^n$ ด้วย $m$ โดยการกระจายทวินาม

$(m+b)^n = \binom{n}{0}mn+\binom{n}{1}m^{n-1} b+...+ \binom{n}{n-1}mb^{n-1}+b^n$

ดังนั้น $(m+b)^n-b^n =\binom{n}{0}m^n+\binom{n}{1}m^{n-1} b+...+ \binom{n}{n-1}mb^{n-1}$

เพราะว่า $m$ หาร $\binom{n}{0}m^n+\binom{n}{1}m^{n-1} b+...+ \binom{n}{n-1}mb^{n-1}$ ลงตัว

เพราะฉะนั้น $m$ หาร $(m+b)^n-b^n$ ลงตัว

สรุป $(m+b)^n \equiv b^n \ (mod \ m) $

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:21
ตัวอย่างที่ 7.

การหาเศษเหลือที่ได้จากการหาร $2^{1000}$ ด้วย $13$


เพราะว่า $ 2^{1000} =(2^4)^{250} =16^{250} =(13+3)^{250}$

เพราะฉะนั้น $2^{1000} \equiv (13+3)^{250} \pmod {13} \equiv 3^{250} \pmod {13}$


ในทำนองเดียวกันกับการพิสูจน์ว่า $(m+b)^n \equiv b^n \pmod{m} $

จะได้ว่า $(km+b)^n \equiv b^n \pmod{m} $

นั้นคือ ถ้า $m$ หาร $A$ ลงตัว แล้ว $(A+b)^n \equiv b^n \pmod{m} $

เพราะว่า $3^{250} = (3^5)^{50} = (243)^{50} =(18(13))+9)^{50}$

เพราะฉะนั้น $3^{250} \pmod {13} \equiv (18(13+9))^{50} \pmod {13}$

$\equiv 9^{50} \pmod {13} \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv (9^2)^{25}

\pmod {13} $

$\equiv 81^{25} \pmod {13} \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv (6(13)

+3)^{25} \pmod {13}$

$\equiv 3^{25} \pmod {13} \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv (3^5)

^5 \pmod {13} $

$\equiv (18(13)+9)^5 \pmod {13} \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv9^5 \pmod

{13} $

$\equiv 3^{10} \pmod {13} \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv(3^5)

^2 \pmod {13} $

$\equiv 9^2 \pmod {13} \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv 81

\pmod {13} $

$\equiv 3 \pmod {13} $


สรุป $2^{1000} \equiv 3 \pmod {13} $

นั้นคือ $2^{1000}$ หารด้วย $13$ เหลือเศษ $3$



ต่อไปเราจะหาเหตุผลที่สำคัญซึ่งจะช่วยในการหาเศษเหลือที่ได้จากการหารได้ง่ายขึ้น

ก่อนอื่นขอให้ดูจากตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้

$14$ หารด้วย $3$ เหลือเศษ $2$
$11$ หารด้วย $3$ เหลือเศษ $2$

$(14)(11) = 154$ หารด้วย $3$ เหลือเศษ $1$

เศษที่เหลือจากการหารด้วย $3$ จากสองสมการข้างต้นคูณกัน

$(2)(2) = 4$ หารด้วย $3$ อีกครั้ง จะเหลือเศษ $1$

สรุปด้วยการเขียนในรูปแบบสัญลักษณ์

$14 \equiv 2 \pmod {3} $
$11 \equiv 2 \pmod {3} $

$ (14)(11) =(2)(2) \pmod {3} \equiv 4 \pmod {3} \equiv 1 \pmod {3}$

ในกรณีทั่วไปเราสรุปเป็นทฤษฎีบทได้ดังนี้

ทฤษฎีบท 1

$a,b,c,d $ เป็นจำนวนเต็ม, $m$ เป็นจำนวนเต็มบวก

ถ้า $a \equiv b \pmod {m }$ และ $c \equiv d \pmod {m }$ แล้ว


$ac \equiv bd \pmod {m }$
$a - c \equiv ( b - d ) \pmod {m }$
$a + c \equiv ( b + d) \pmod {m }$

ข้อพิสูจน์

$a \equiv b \pmod {m }, \ \ c \equiv d \pmod {m }$

$a = mk + b, \ \ c = ml + d$

$ a - c = mk + b - ml - d$

$ = m(k - 1) + ( b - d )$


เพราะฉะนั้น $m$ หาร $a - c$ เหลือเศษ $ b -d$

นั้นคือ $a- c \equiv (b - d ) \pmod {m }$

ในทำนองเดียวกัน $a + c \equiv ( b + d ) \pmod {m }$


เพราะว่า $ac = ( mk + b) (ml + d )$

$= m^2 kl + mkd + mbl + bd$

$= m ( mkl + kd + bl ) + bd$

เพราะฉะนั้น $m$ หาร $ac$ เหลือเศษ $bd$

นั้นคือ $ac \equiv bd \pmod {m }$

หมายเหตุ ผลจากทฤษฎีบทจะได้ว่า

ถ้า $a \equiv b \pmod {m } $ แล้ว $ \ a^n \equiv b^n \pmod {m }$ ทุกค่า $n$ ที่เป็นจำนวนเต็ม

ผลจากทฤษฎีบท 1 นี้จะช่วยให้การหาเศษเหลือง่ายขึ้น

เป็นอย่างไรบ้างครับ มึนไหม

ถ้ายังมึนก็ย้อนกลับไปอ่านใหม่อีกรอบ, อีกรอบ, อีกรอบ

ถ้าหายมึนแล้ว เรามาดูว่า จะใช้ mod ให้เกิดประโยชน์อย่างไร :D

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:21
ตัวอย่างที่ 8.

การหาเศษเหลือของ $10^{10}$ หารด้วย ${7}$

วิธีทำ

เพราะว่า $10$ หารด้วย $7$ เหลือเศษ $3$

เพราะฉะนั้น $10 \equiv 3 \pmod{7} $

ดังนั้น $10^{10} \equiv 3^{10} \pmod{7}$

เพราะว่า $3^{10} = 9^5$ และ $ \ 9 \equiv 2 \pmod{7}$

เพราะฉะนั้น $3^{10} \pmod{7} \equiv 9^5 \pmod{7}$ $ \equiv (7+2)^5 \pmod

{7}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv 2^5 \pmod{7}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv 32 \pmod{7}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ \ \equiv 4 \pmod{7}$

สรุป $10^{10} \ $ หารด้วย $ \ 7$ เหลือเศษ $4$


เป็นยังไงบ้าง ง่ายไหมครับ

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:22
ตัวอย่าง 9.

การหาเศษเหลือจากการหาร $10^{100} \ $ ด้วย $ \ 13$

วิธีทำ

$10^{100} = (10^2) ^{50} = 100^{50}$

เพราะว่า $100 \ $ หารด้วย $ \ 13$ เหลือเศษ $ \ 9 \ $

เพราะฉะนั้น $ 100 \equiv 9 \pmod{13} $

ดังนั้น $100^{50} \equiv 9^{50} \pmod{13} $

$\equiv (9^2)^{25} \pmod{13} \ \ \ \ \ \ \equiv 81^{25} \pmod{13}$

$\equiv (6(13)+3)^{25} \pmod{13} \ \ \ \ \ \ \equiv 3^{25} \pmod{13}$

$ \equiv (3^5)^5 \pmod{13} \ \ \ \ \ \ \equiv (243)^5 \pmod{13}$

$ \equiv (18(13)+9)^5 \pmod{13} \ \ \ \ \ \ \equiv 9^5 \pmod{13}$



แต่ $ \ 9 \equiv 9 \pmod{13}$

$9^2 \equiv 9^2 \pmod{13} \equiv 81 \pmod{13} \equiv 3 \pmod{13}$

$ 9^4 \equiv 3^2 \pmod{13} \equiv 9 \pmod{13}$

$9^5 \equiv 9 (9) \pmod{13} \equiv 81 \pmod{13} \equiv 3 \pmod{13}$

สรุป $10^{100} \equiv 100^{50} \pmod{13} \equiv 9^{50} \pmod{13}$

$ \equiv 9^5 \pmod{13} \equiv 3 \pmod{13}$

นั้นคือ $10^{100}$ หารด้วย $13$ เหลือเศษ $3$


มันส์ไหมครับ ถ้ามันส์ ก็มามันส์ด้วยกันต่อในตัวอย่างต่อไป :haha:

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:23
ยังมีวิธีง่ายกว่านี้ขึ้นไปอีก

เรามาศึกษาด้วยกันนะครับ

ตัวอย่างที่ 10.

เศษเหลือที่ได้จากการหาร $13^{100}$ ด้วย $17$ เท่ากับเท่าใด


วิธีทำ

เศษเหลือที่ได้จากการหาร $13^{100}$ ด้วย $17$


$ \equiv 13^{100} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv ( 13^2)^{50} \pmod{17} $

$ \equiv (169)^{50} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv (9(17)+16)^{50} \pmod{17} $

$ \equiv (16)^{50} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv (2^4)^{50} \pmod{17} $

$ \equiv (2^5)^{40} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv (32)^{40} \pmod{17} $

$ \equiv ( 17+15)^{40} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv (15)^{40} \pmod{17} $

$ \equiv (15^2)^{20} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv (225)^{20} \pmod{17} $

$ \equiv (4)^{20} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv 2^{40} \pmod{17} $

$ \equiv (2^5)^{8} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv 32^8 \pmod{17} $

$ \equiv (17+15)^{8} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv 15^8 \pmod{17} $

$ \equiv (15^2)^{4} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv (225^4) \pmod{17} $

$ \equiv4^{4} \pmod{17} \ \ \ \ \ \equiv 256 \pmod{17} $

$ \equiv 1 \pmod{17} $



สรุป $13^{100}$ หารด้วย $17$ เหลือเศษ $1$







ต่อไปเราจะหาขั้นตอนวิธีที่จะทำให้การคำนวณง่ายขึ้น
ก่อนอื่นขอทบทวนแนวคิดของการหาหลักหน่วยของ $3^n$

เพราะว่า
$3^1= 3$

$3^2 = 9$

$3^3 = 27$

$3^4 = 81$
.
.
.


$ 3^{4k} = ...1$ หลักหน่วยเป็นเลข $1$

$3^{4k+1} = ...3 $ หลักหน่วยเป็นเลข $3$

$3^{4k+2} = ...9 $ หลักหน่วยเป็นเลข $9$

$3^{ 4k+3} =...7 $ หลักหน่วยเป็นเลข $7$

เพราะฉะนั้นหลักหน่วยของ $3^n$ จึงขึ้นอยู่กับเศษเหลือของ $n$ หารด้วย $4$


แนวทางการหาเศษเหลือจาก $a^n$ ด้วย $m$

1. หาค่า $k$ น้อยสุดที่ทำให้ $a^k \equiv 1 \pmod{m}$

2. หาเศษเหลือจากการหาร $n$ ด้วย $k$ สมมติเป็น $p$

3. จะได้ว่า $a^n \equiv a^p \pmod{m}$




มาดูตัวอย่างต่อไปนะครับ

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:24
ตัวอย่าง 11.

การหาเศษเหลือจากการหาร $13^{100}$ ด้วย $17$

ขั้นตอนที่ 1
$13 \equiv 13 \pmod{17} $

$13^2 \equiv 169 \pmod{17} \ \ \ \ \equiv 16 \pmod{17}$

$13^3 \equiv 13(16) \pmod{17} \ \ \ \ \equiv 208 \pmod{17} \ \ \ \ \equiv 4 \pmod{17}$

$13^4 \equiv 13(4) \pmod{17} \ \ \ \ \equiv 52 \pmod{17} \ \ \ \ \equiv 1 \pmod{17}$

ได้ $k = 4$

ขั้นที่ $2 \ \ \ 100$ หารด้วย $4$ เหลือเศษ $0$

ขั้นที่ $3 \ \ \ 13^{100} \equiv 13^0 \pmod{17} \ \ \equiv 1 \pmod{17}$

สรุป $13^{100}$ หารด้วย $17$ เหลือเศษ $1$



ง่ายขึ้นไหมครับ :haha:

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:24
ตัวอย่าง 12.

จงหาเศษเหลือที่ได้จากการหาร $10^{100}$ ด้วย $7$

วิธีทำ ขั้นที่ $1$ หาค่า $k$ น้อยสุดที่ทำให้ $ 10^k \equiv 1 \pmod{7} $

$ 10^1 \equiv 10 \pmod{7} \equiv 3 \pmod{7}$

$ 10^2 \equiv 30 \pmod{7} \equiv 2 \pmod{7}$

$ 10^3 \equiv 20 \pmod{7} \equiv 6 \pmod{7}$

$ 10^4 \equiv 60 \pmod{7} \equiv 4 \pmod{7}$

$ 10^5 \equiv 40 \pmod{7} \equiv 5 \pmod{7}$

$ 10^6 \equiv 50 \pmod{7} \equiv 1 \pmod{7}$


สรุป $k = 6$

ขั้นที่ $2 \ \ \ 100 = 16(6)+4 $

ขั้นที่ $3 \ \ \ 10^{100} \equiv 10^{16(6)+4} \pmod{7} \equiv 10^4 \pmod{7} \equiv 4

\pmod{7} $


สรุป $7$ หาร $10^{100}$ เหลือเศษ $4$

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:25
ท้ายสุดของปัญหาในข้อนี้จะขอนำทฤษฎีของระบบจำนวนมาแนะนำให้ใช้
เพื่อเกิดประโยชน์ในการคิดเลขให้เร็วขึ้น ดังนี้

ทฤษฎีบท 2

ถ้า $p$ เป็นจำนวนเฉพาะ และ $a$ เป็นจำนวนบวกที่ $p$ หาร $a$ ไม่ลงตัวแล้ว

$ a^{p- 1} \equiv 1 \pmod{p} $


ตัวอย่าง 13.

จงหาเศษเหลือจากการหาร $10^{100}$ ด้วย $17$

วิธีทำ
เพราะว่า
$10^{16} \equiv 1 \pmod{17 } $ และ $ \ \ 100 = 6(16) + 4 $

เพราะฉะนั้น

$10^{16} \equiv 1 \pmod{17} $

$(10^{16})^6 \equiv 1^6 \pmod{17} $

$10^{6(16)} \equiv 1 \pmod{17} $

$10^{6(16)+4} \equiv 10^4 \pmod{17} $

เพราะว่า
$10^2 \equiv 100 \pmod{17} \ \ \ \equiv 15 \pmod{17} $

$10^3 \equiv 150 \pmod{17} \ \ \ \equiv 14 \pmod{17} $

$10^4 \equiv 140 \pmod{17} \ \ \ \equiv 4 \pmod{17} $


เพราะฉะนั้น $10^{100}$ หารด้วย $17$ เหลือเศษ $4$



ตัวอย่าง 14.

จงหาเศษเหลือจากการหาร $2^{100!}$ ด้วย ${19}$

วิธีทำ


เพราะว่า $2^{18} \equiv 1 \pmod{19} \ $ และ $\frac{100!}{18} \ $ เป็นจำนวนเต็ม

เพราะฉะนั้น
$(2^{18})^{\frac{100!}{18}} \equiv 1 \pmod{19} $

$2^{100!} \equiv 1 \pmod{19} $

เพราะฉะนั้น $19$ หาร $2^{100!}$ เหลือเศษ $1$

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:26
อ่านถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่า พอจะเข้าใจพื้นฐานเรื่อง mod ได้แล้ว

ถ้าน้องๆหลานๆสนใจ ก็ต้องหาแบบฝึกหัดมาทำให้เกิดความช่ำชอง

ผมเชื่อว่า ด้วยพื้นฐานที่ได้อ่านมานี้ ก็สามารถไปอ่านเรื่อง mod ในหนังสือต่างๆด้วยความเข้าใจได้

ไม่มีวิธีลัดที่จะให้เก่งเรื่อง mod มากไปกว่าการทำแบบฝึกหัดมากๆ

ส่วนผม ผมคงจบตรงนี้ เพราะวัตถุประสงค์ของผม แค่เพื่อติวหลานที่อยู่ประถมเท่านั้น

โปรดอย่าถามอะไรที่ยากๆ หรือที่เกินประถมหรือมัธยมต้น

เพราะผมก็รู้แค่นี้แหละ

รู้แล้วเอามาเผยแพร่ให้เด็กๆของเรา เป็นเด็กเก่ง

เพราะเด็กๆในวันนี้ จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป

banker
08 กรกฎาคม 2010, 17:27
เสริมสุดท้าย

ถ้าเซียน หรือท่านผู้รู้เรื่อง mod เห็นว่า มีผิดพลาดตรงไหน

หรืออยากเพิ่มเติมตรงไหน ก็ช่วยแนะนำด้วยครับ

สุดท้ายจริงๆ ขอบคุณอาจารย์ ดำรงค์ ทิพย์โยธา ที่เสียสละเวลาเขียนหนังสือดีๆให้พวกเราได้เรียนรู้

{ChelseA}
08 กรกฎาคม 2010, 17:39
:great:ขอบคุณ คุณลุง banker จริงๆครับ สมควรปักหมุดๆ

Siren-Of-Step
08 กรกฎาคม 2010, 17:48
ฝากไว้
จงแสดงว่า $2^{340} \equiv 1 (mod 341)$

banker
08 กรกฎาคม 2010, 20:27
ฝากไว้
จงแสดงว่า $2^{340} \equiv 1 (mod 341)$

hint
$2^{10} = (1024) = (1023+1) = (3(341) +1)$

MiNd169
08 กรกฎาคม 2010, 21:16
ขอบคุณ คุณbankerมากครับ สมควรปักหมุดมากๆ
ขอถามหน่อยนะครับว่า ทวินาม เป็นเรื่องที่หาได้จากระดับการศึกษาชั้นไหนครับ

หยินหยาง
08 กรกฎาคม 2010, 22:06
เสริมสุดท้าย

ถ้าเซียน หรือท่านผู้รู้เรื่อง mod เห็นว่า มีผิดพลาดตรงไหน

หรืออยากเพิ่มเติมตรงไหน ก็ช่วยแนะนำด้วยครับ



อยากเพิ่มเติมข้างหน้า mod เพื่อให้เกิดความกระชุ่มกระช่วยของ ท่านสว. banker โดยเติมคำว่า four เป็น four mod ครับ เพราะนอกจากจะปักหมุดแล้วอาจปักอกแถมอีกอย่างได้ครับ :D:D:laugh:

poper
08 กรกฎาคม 2010, 22:14
ต้องขอขอบคุณคุณอา banker มากๆเลยครับ
ผมกำลังสนใจเรื่อง mod อยู่พอดี แต่หาอ่านยากมาก
ได้แบบนี้แล้วหาโจทย์ใน MC ทำให้มันส์ไปเลยล่ะกัน
ขอบคุณคุณอาอีกครั้งครับที่เสียสละเวลามาแบ่งปันความรู้:please:

กิตติ
08 กรกฎาคม 2010, 23:03
ย่อยของยากให้ทานได้ง่ายและคล่องคอมากขึ้น
ขอบคุณครับคุณอาBanker

JSompis
09 กรกฎาคม 2010, 04:45
อธิบายได้เห็นภาพเลยลุง เข้าใจง่ายดี ขอบคุณมากๆครับ เก็บเข้าคลังไว้ก่อน

คusักคณิm
09 กรกฎาคม 2010, 17:50
ลองทำข้อพวกนี้แบบไม่ใช้ mod ดู ^^
จงหาเศษ
1.$(4)(4!)^2000$ หารด้วย 7
2.$(5)(5!)^2000$ หารด้วย 7
3.$(6)(6!)^2000$ หารด้วย 7

กิตติ
09 กรกฎาคม 2010, 21:46
1.$(4!)^{2000}=24^{2000}=(7(3)+3)^{2000}$ เหลือเศษเท่ากับ $3^{2000}$
คิดตามแบบปกติ จะได้ว่า$(3^5)^{400}=(7(34)+5)^{400}$
$5^{400}=(7(89)+2)^{100}$
$2^{100}\times 4 =2^{102}=(7+1)^{34}$.....ตอบว่าเหลือเศษ 1
$24\equiv 24 (mod 7) \equiv3 (mod 7) $
$24^2 \equiv 72(mod 7) \equiv 2(mod 7)$
$24^3 \equiv 48(mod 7) \equiv 6(mod 7)$
$24^4 \equiv 144(mod 7) \equiv 4(mod 7)$
$24^5 \equiv 96(mod 7) \equiv 5(mod 7)$
$24^6 \equiv 120(mod 7) \equiv 1(mod 7)$
$24^6 \equiv 1(mod 7)$
ดังนั้น $k=6$
$2000=6(333)+2$
$24^{6(333)+2} \equiv 24^2(mod 7) \equiv 2(mod 7)$
$4\times 24^{2000} \equiv 4\times 2(mod 7) \equiv 8(mod 7) \equiv 1(mod 7)$
ได้คำตอบเท่ากันคือ เศษ 1

poper
09 กรกฎาคม 2010, 21:56
ข้อ 2 แบบนี้ถูกรึป่าวอ่ะครับ
$5!=120$
${(120)}^{2000}={(7(17)+1)}^{2000}$
${(5!)}^{2000}≡1(mod 7)$
$5{(5!)}^{2000}≡5(mod 7)$
ตอบเหลือเศษ 5
(พิมเครื่องหมาย ≡ ยังไงอ่ะครับ)

กิตติ
09 กรกฎาคม 2010, 22:07
2.$5(5!)^{2000}$ $(120)^{2000}$
แยกเป็น $8^{2000}\times 3^{2000} \times 5^{2000}$
$8^2 \equiv 64 (mod 7) \equiv 1(mod7)$
$2000 =2(1000)+0$
$8^{2000} \equiv 8^0(mod 7) \equiv 1(mod7)$...เศษ 1

$3^2 \equiv 9 (mod 7) \equiv 2(mod7)$
$3^3 \equiv 6 (mod 7) $
$3^4 \equiv 18 (mod 7) \equiv 4(mod7)$
$3^5 \equiv 12 (mod 7) \equiv 5(mod7)$
$3^6 \equiv 15 (mod 7) \equiv 1(mod7)$
$3^6 \equiv 1(mod7)$
$2000=6(333)+2$
$3^{2000} \equiv 9 (mod 7) \equiv 2(mod7)$......เศษ 2

$5^2 \equiv 25 (mod 7) \equiv 4(mod7)$
$5^3 \equiv 20 (mod 7) \equiv 6(mod7)$
$5^4 \equiv 30 (mod 7) \equiv 2(mod7)$
$5^5 \equiv 10 (mod 7) \equiv 3(mod7)$
$5^6 \equiv 15 (mod 7) \equiv 1(mod7)$
$2000=6(333)+2$
$5^{2000} \equiv 25 (mod 7) \equiv 4(mod7)$......เศษ 4

$8^{2000} \equiv 1(mod7)$ $3^{2000} \equiv 2(mod7)$
$8^{2000} \times 3^{2000} \equiv 1\times 2(mod7) \equiv 2(mod7)$
$8^{2000} \times 3^{2000} \equiv 2(mod7)$ กับ $5^{2000} \equiv 4(mod7)$
$8^{2000} \times 3^{2000} \times 5^{2000}\equiv 2\times 4(mod7) \equiv 1(mod7)$
$(120)^{2000}\equiv 1(mod7)$
$5\times (120)^{2000}\equiv 5\times 1(mod7) \equiv 5(mod7)$
ตอบเศษ 5

ให้ง่ายอีกหน่อยเมื่อกี้รู้แล้วว่า$(4!)^{2000} \equiv 2(mod7)$
$5^{2000} \equiv 4(mod7)$
$(4!)^{2000}\times5^{2000} \equiv 2\times 4(mod7) \equiv 1(mod7)$
$(5!)^{2000} \times 5 \equiv 5(mod7)$

กระบี่เดียวดายแสวงพ่าย
09 กรกฎาคม 2010, 22:10
แหมตอนแรกผมนึกว่าจะหมายถึงmode (ฐานนิยม)เสียแล้วครับ

กิตติ
09 กรกฎาคม 2010, 22:21
3.$6(6!)^{2000}$
$(5!)^{2000} \equiv 1 (mod7)$
$6^2 \equiv 36(mod7) \equiv 1(mod7)$
$6^{2000}\equiv 36(mod7) \equiv 1(mod7)$
$(6!)^{2000} \equiv 1(mod7)$
$6(6!)^{2000}\equiv 6(mod7)$
เศษ 6

ลองทำตามวิธีคุณอาbankerสอนให้ทำ ย่นเวลาเยอะเลยครับ....

poper
09 กรกฎาคม 2010, 22:35
ไม่เข้าใจว่าคุณกิตติทำไมถึงต้องทำยาวขนาดนั้นอ่ะครับ
ข้อ 2 ตามที่ผมเข้าใจคือ 7 หาร ${(120)}^{2000}$ จะเหลือเศษเท่ากับ 7 หาร ${(7(17)+1)}^{2000}$
ดังนั้นก็จะเท่ากับเศษที่ได้จากการหารด้วย $1^{2000}$ ซึ่งก็คือ 1 แสดงว่า ${(5!)}^{2000}≡1(mod7)$ ไม่ใช่เหรอครับ
วิธีผมมีอะไรผิดรึป่าวครับ
(เอ่อ.. เครื่องหมาย≡พิมไงอ่ะครับ ขี้เกียจก๊อปง่ะ)

กิตติ
09 กรกฎาคม 2010, 22:55
ก็ลองทำตามทฤษฎีบทที่มีให้ดูครับ จริงๆจะแยกเป็น$12\times 10$ก็ได้ แล้วแต่ถนัดครับ จะใช้เป็น$24\times 5$ก็แล้วแต่ถนัด
$12^2 \equiv 144 (mod 7) \equiv 4(mod 7)$
$12^3 \equiv 48 (mod 7) \equiv 6(mod 7)$
$12^4 \equiv 72 (mod 7) \equiv 2(mod 7)$
$12^5 \equiv 24 (mod 7) \equiv 3(mod 7)$
$12^6 \equiv 36 (mod 7) \equiv 1(mod 7)$
$12^{2000} \equiv 12^2 (mod 7) \equiv 4(mod 7)$

$10^2 \equiv 100 (mod 7) \equiv 2(mod 7)$
$10^3 \equiv 20 (mod 7) \equiv 6(mod 7)$
$10^4 \equiv 60 (mod 7) \equiv 4(mod 7)$
$10^5 \equiv 40 (mod 7) \equiv 5(mod 7)$
$10^6 \equiv 50 (mod 7) \equiv 1(mod 7)$
$2000=6(333)+2$
$10^{2000} \equiv 10^2 (mod 7) \equiv 2(mod 7)$
$12^{2000} \times 10^{2000}\equiv 4\times 2(mod 7) \equiv 1(mod 7)$
$5(5!)^{2000}\equiv 5(mod 7)$
ก็ได้คำตอบเท่ากันนี่ครับ

สัญลักษณ์$\equiv $ อยู่ในกลุ่มเดียวกับ$\leqslant \not= \approx $

poper
09 กรกฎาคม 2010, 23:06
ขอบคุณครับ วิธีที่ผมทำไม่ผิดใช่มั้ยครับ
ถ้าจำผิดๆไปล่ะแย่เลย

catengland
09 กรกฎาคม 2010, 23:08
คุณ banker เอามาจากเล่มไหนของ อ.ดำรงค์ ทิพย์โยธา ครับ
คณิตศาสตร์ปรนัยรึเปล่า แนะนำผมหน่อยนะคร้าบบบบบบบบบบ

banker
10 กรกฎาคม 2010, 09:15
คณิตศาสตร์ปรนัยเล่ม 19 ครับ

3297

ดูเหมือนเล่มนี้จะยกเป็นรางวัล math contest ไปแล้วครับ

รอ modertor ประกาศว่าใครจะเป็นผู้ได้รับ :D

TuaZaa08
11 กรกฎาคม 2010, 20:40
คณิตศาสตร์ปรนัยเล่ม 19 ครับ

3297

ดูเหมือนเล่มนี้จะยกเป็นรางวัล math contest ไปแล้วครับ

รอ modertor ประกาศว่าใครจะเป็นผู้ได้รับ :D

*0* อยากได้

ซื้อที่ไหนได้มั้งเนี่ย

กิตติ
11 กรกฎาคม 2010, 22:49
เข้าไปในเวปไซด์ศูนย์หนังสือจุฬา...น่าจะมีอยู่
ผมเพิ่งซื้อที่ดวงกมลเชียงใหม่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว หนังสือปกเยินมีแต่รอยขูดขีด ก็ซื้อครับ 160 บาท..เห็นมีอยู่2เล่ม
น่าอ่านครับ

คusักคณิm
14 กรกฎาคม 2010, 21:02
เจอที่ห้องสมุดโรงเรียน แต่บัตรสมาชิกหาย== อดเลย ToT

poper
14 กรกฎาคม 2010, 22:41
รบกวนขอโจทย์อีกได้มั้ยครับอยากฝึกทำอ่ะครับ

banker
15 กรกฎาคม 2010, 16:35
รบกวนขอโจทย์อีกได้มั้ยครับอยากฝึกทำอ่ะครับ

1. จงหาเศษจากการหาร $2^{20}$ ด้วย $41$

2. จงหาเศษจากการหาร $7^{10}$ ด้วย $51$

3. จงหาเศษจากการหาร $10^{49}$ ด้วย $7$

ผมก็ยังไม่ได้ทำ ลองดูนะครับ

Siren-Of-Step
15 กรกฎาคม 2010, 17:57
1. จงหาเศษจากการหาร $2^{20}$ ด้วย $41$

2. จงหาเศษจากการหาร $7^{10}$ ด้วย $51$

3. จงหาเศษจากการหาร $10^{49}$ ด้วย $7$

ผมก็ยังไม่ได้ทำ ลองดูนะครับ

ข้อ 1
เพราะว่า $2^{40} \equiv 1 \pmod{41}$
จะได้ว่า $2^{20} \equiv 1 \pmod{41}$

ข้อ 2
เพราะว่า $7^{2} \equiv -2 \pmod{51}$
$7^{10} \equiv -2^5 \equiv 19 \pmod{51}$

ข้อ 3
$ 10^{6} \equiv 1 \pmod{7}$
$10^{49} \equiv 6 \pmod{7}$

กิตติ
16 กรกฎาคม 2010, 00:33
ข้อ 3 $10^{7-1}\equiv 1(mod 7)$
$(10^6)^8\equiv 1(mod 7)$
$10^{48}\equiv 1(mod 7)$
$10\equiv 3(mod 7)$
$10^{49}\equiv 3(mod 7)$
ไม่รู้ว่าผมจะคิดผิดหรืองงเองครับ...ดึกแล้วชักมึน

banker
16 กรกฎาคม 2010, 08:18
ข้อ 3 $10^{7-1}\equiv 1(mod 7)$
$(10^6)^8\equiv 1(mod 7)$
$10^{48}\equiv 1(mod 7)$
$10\equiv 3(mod 7)$
$10^{49}\equiv 3(mod 7)$
ไม่รู้ว่าผมจะคิดผิดหรืองงเองครับ...ดึกแล้วชักมึน

ถูกแล้วครับ :great:

poper
16 กรกฎาคม 2010, 08:51
ข้อ 1 ทำแบบนี้ได้มั้ยครับ
$2^{20}=32^4={(41-9)}^4$
$9^4=81^2={(41(2)-1)}^2$
ดังนั้น $2^{20}\equiv 1(mod41)$
ข้อ 2
$7^{10}=49^5={(51-2)}^5$
$-2^5=-32=-(51-19)=-51+19$ ตอบเศษ 19
ข้อ 3 ก็ใช้ $a^{p-1}\equiv 1(modp)$
ถูกมั้ยครับผม

banker
16 กรกฎาคม 2010, 09:27
ถูกครับ

การแจกแจง หรือยกกำลัง ทำได้หลากหลายแบบ แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคน (ทำบ่อยๆ ก็เป็นประสบการณ์ไป)

ทำบ่อยๆ ทำมากๆ ก็อาจข้ามบางขั้นตอน จนกลายเป็นกลับไปสู่สามัญ :haha:

poper
16 กรกฎาคม 2010, 12:35
ขอบคุณครับ
ขออีกเยอะๆเลยครับเริ่มมันส์แล้ว

banker
16 กรกฎาคม 2010, 14:55
ขอบคุณครับ
ขออีกเยอะๆเลยครับเริ่มมันส์แล้ว

จัดให้ตามคำขอครับ

4. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $9^{50}$ ด้วย $7$

5. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $5^{36}$ ด้วย $13$

6. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $17^{75}$ ด้วย $19$

7. จงหาเลขโดดสองหลักสุดท้ายของ $9^{9^9}$

8. จงหาเลขโดดสามหลักสุดท้ายของ $7^{999}$

9. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $4444 ^{4444}$ ด้วย $9$

10. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $1^5 + 2^5 + 3^5 + ... + 99^5 +100^5$ ด้วย $4$

Siren-Of-Step
16 กรกฎาคม 2010, 17:12
ถูกแล้วครับ :great:

สะเพร่าเองซะงั้น :please::nooo::cry:

Siren-Of-Step
16 กรกฎาคม 2010, 17:30
จัดให้ตามคำขอครับ

4. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $9^{50}$ ด้วย $7$

5. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $5^{36}$ ด้วย $13$

6. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $17^{75}$ ด้วย $19$

7. จงหาเลขโดดสองหลักสุดท้ายของ $9^{9^9}$

8. จงหาเลขโดดสามหลักสุดท้ายของ $7^{999}$

9. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $4444 ^{4444}$ ด้วย $9$

10. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $1^5 + 2^5 + 3^5 + ... + 99^5 +100^5$ ด้วย $4$

ข้อ 4. $9^6 \equiv 1 \pmod{7}$
$9^{50} \equiv 4 \pmod{7} $

ข้อ 5 $5^{12} \equiv 1 \pmod{13}$
$5^{36} \equiv 1 \pmod{13}$

ข้อ 6 $17^{18} \equiv 1 \pmod{19}$
$17^{75} \equiv 11 \pmod{19}$

ข้อ 7 Hint : mod 100

ข้อ 8 Hint : mod 1000

ข้อ 9 ไม่แน่ใจ แปลงมาเป็น $7^{4444} $
$7^8 \equiv 1 \pmod{9}$
$7^{4440} \equiv 1 \pmod{9}$
$7^{4444} \equiv 7 \pmod{9}$

ช้อ 10
ผมถึกเอาคิดแยกเอาเลย

neem
16 กรกฎาคม 2010, 19:43
ขอบคุณมากๆค่ะ อยากรู้มานานแล้วว่า mod คืออะไร

ในที่สุดก็ได้รู้ ต้องขอบคุณมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆอีกทีค่ะ

MiNd169
16 กรกฎาคม 2010, 21:26
เพิ่มเติม

แสดงวิธี หรือ บอกแนว ข้อนี้ให้หน่อยนะครับ

$5^{2008} + 2^{2010}$ หารด้วย $7^2$ เหลือเศษเท่าไร

ขอบคุณครับ

กิตติ
17 กรกฎาคม 2010, 10:56
7. จงหาเลขโดดสองหลักสุดท้ายของ $9^{9^9}$



ข้อนี้เอาเรื่องเพราะทำให้ต้องคิดสองต่อ
จาก$9^{9^9}=9^{\overbrace{9.9...9}^{9 ตัว} }$
รอบแรกหาก่อนว่า$n$ที่ทำให้$9^n \equiv 1 \pmod{100} $จะได้ว่า$9^{10} \equiv 1 \pmod{100} $.....ไล่หาไปเรื่อยๆทีละตัวเอาจนถึงตัวที่10
รอบต่อมาเอา$n$ที่ได้ไปหาตัวลงท้ายของ$\overbrace{9.9...9}^{9 ตัว} $ เพื่อหาวนรอบลงท้าย จะได้ว่า$9^2 \equiv 1 \pmod{10} $
จะได้ว่า$9^9 \equiv 9 \pmod{10} $......เศษคือ$9$
เอาเศษที่ได้ไปแทนใน$9^{9^9}$ เพื่อหาสองตัวท้าย....คือ $9^{9^9} \equiv 9^9 \pmod{100}$
$9^9 \equiv 89 \pmod{100} $
ดังนั้นสองตัวท้ายของ$9^{9^9}$ คือ $89$

banker
17 กรกฎาคม 2010, 11:47
ข้อนี้เอาเรื่องเพราะทำให้ต้องคิดสองต่อ
จาก$9^{9^9}=9^{\overbrace{9.9...9}^{9 ตัว} }$
รอบแรกหาก่อนว่า$n$ที่ทำให้$9^n \equiv 1 \pmod{100} $จะได้ว่า$9^{10} \equiv 1 \pmod{100} $.....ไล่หาไปเรื่อยๆทีละตัวเอาจนถึงตัวที่10
รอบต่อมาเอา$n$ที่ได้ไปหาตัวลงท้ายของ$\overbrace{9.9...9}^{9 ตัว} $ เพื่อหาวนรอบลงท้าย จะได้ว่า$9^2 \equiv 1 \pmod{10} $
จะได้ว่า$9^9 \equiv 9 \pmod{10} $......เศษคือ$9$
เอาเศษที่ได้ไปแทนใน$9^{9^9}$ เพื่อหาสองตัวท้าย....คือ $9^{9^9} \equiv 9^9 \pmod{100}$
$9^9 \equiv 89 \pmod{100} $
ดังนั้นสองตัวท้ายของ$9^{9^9}$ คือ $89$

ถูกต้องครับ :great:

หรืออีกมุมมอง

$ \because 9^9 \equiv9 \pmod{10}$

$9^{9^9}= 9^{9+10k} $

$ \because (9^{10})^k \equiv 1 \pmod{100}$

$9^{9^9}\equiv 9^9 \times 9^{10k}\equiv 9^9 \times 1\pmod{100} \equiv 9^9 \pmod{100} \equiv89 \pmod{100}$

Siren-Of-Step
17 กรกฎาคม 2010, 13:28
7. จงหาเลขโดดสองหลักสุดท้ายของ $9^{9^9}$



ข้อ 7

โดย จะหาเลขสองหลักสุดท้ายของ $9^{9^9}$
$9^3 \equiv 29 \pmod{100}$
$9^9 \equiv 29^3 \equiv 89 \pmod{100} $
จะไ้ด้ $9^{9^9} \equiv 89^9 \pmod{100}$
จะหาสองหลักสุดท้าย คิดเฉพาะ$ 9^9$ เท่านั้น
$9^9 \equiv 29^3 \equiv 89 \pmod{100} $

banker
17 กรกฎาคม 2010, 15:49
10. จงหาเศษที่เกิดจากการหาร $1^5 + 2^5 + 3^5 + ... + 99^5 +100^5$ ด้วย $4$

$1^5 \equiv 1 \pmod{4} $

$2^5 \equiv 0 \pmod{4} $

$3^5 \equiv 3 \pmod{4} $

$4^5 \equiv 0 \pmod{4} $


$1^5+2^5+3^5 +4^5 \equiv 1+0+3+0 \pmod{4} \equiv4 \pmod{4} \equiv0 \pmod{4} $


$5^5 \equiv (4+1)^5\equiv 1 \pmod{4} $

$6^5 \equiv (4+2)^5 \equiv 2^5 \equiv 0 \pmod{4} $

$7^5 \equiv (4+3)^5\equiv 3 \pmod{4} $

$8^5 \equiv (2^5)^3\equiv 0 \pmod{4} $


$5^5+6^5+7^5 +8^5 \equiv 1+0+3+0 \pmod{4} \equiv4 \pmod{4} \equiv0 \pmod{4} $
.
.
.

$97^5 \equiv (96+1)^5\equiv 1 \pmod{4} $

$98^5 \equiv (96+2)^5 \equiv 2^5 \equiv 0 \pmod{4} $

$99^5 \equiv (96+3)^5\equiv 3 \pmod{4} $

$100^5 \equiv (2^5)^{20}\equiv 0 \pmod{4} $


$97^5+98^5+99^5 +100^5 \equiv 1+0+3+0 \pmod{4} \equiv4 \pmod{4} \equiv0 \pmod{4} $



ทุกๆ 4 จำนวน เศษรวมกันเป็น 0

$1^5 + 2^5 + 3^5 + ... + 99^5 +100^5 \equiv 0 \pmod{4}$


เศษที่เกิดจากการหาร $1^5 + 2^5 + 3^5 + ... + 99^5 +100^5$ ด้วย $4$ คือ $0$

กิตติ
17 กรกฎาคม 2010, 16:49
8. จงหาเลขโดดสามหลักสุดท้ายของ $7^{999}$


ข้อนี้โหดมากเลยครับ.....หมดเวลาเป็นชั่วโมงเพื่อไล่หาค่า
$7^4 \equiv 401 \pmod{1000} $
$7^5 \equiv 807 \pmod{1000} $
ใช้วิธี$a \equiv b \pmod{c} \rightarrow a^n \equiv b^n \pmod{c} $
ตัวกำหนดความยากง่ายก็คือ$b$...นี่แหละครับ ยิ่งน้อย เวลาเอาไปคูณกับอะไรหรือยกกำลังก็ง่ายขึ้น.....ผมนั่งไล่ไปจนได้
$7^{22} \equiv 49 \pmod{1000} $....จริงๆไล่ไปจนถึง$7^{30}$....เริ่มไม่ไหวแล้ว ผมเลือกตรงนี้เพราะเห็นว่าค่า$49$น้อยที่สุดแล้ว และเรารู้ว่า$9^n$ลงท้ายด้วย$1$กับ$9$ เท่านั้น ดังนั้นมีโอกาสที่จะหา$7^n \equiv 1 \pmod{1000} $ได้
$7^{44} \equiv 401 \pmod{1000}$
$7^{88} \equiv 801 \pmod{1000}$
$7^{176} \equiv 601 \pmod{1000}$
$7^{352} \equiv 201 \pmod{1000}$
$7^{704} \equiv 401 \pmod{1000}$
$7^{704+176} \equiv 601\times 401 \pmod{1000} \rightarrow 7^{880} \equiv 1 \pmod{1000} $......ตรงนี้บังเอิญได้พอดี จริงๆกะว่าจะเอาตัวมาคูณไปเรื่อยๆจนถึง$7^{999}$
จะได้ว่า$999=880+119$
$7^{999} \equiv 7^{119} \pmod{1000} $
$7^{88+22} \equiv 49\times 801 \pmod{1000} \rightarrow 7^{110} \equiv 249 \pmod{1000} $
$7^{4+5} \equiv 401\times 807 \pmod{1000} \rightarrow 7^9\equiv 607 \pmod{1000}$
$7^{110+9} \equiv 249\times 607 \pmod{1000}\rightarrow 7^{119} \equiv 143 \pmod{1000} $

คำตอบมาแล้ว สามตัวหลักสุดท้ายของ$7^{999}$ คือ$143$
โจทย์ข้อนี้กินแรงมากเลยครับ....ถ้าจะผิดก็ด้วยเบลอในตัวเลข โหดได้ใจเลยครับ
ไม่รู้ว่ามีทริคคิดให้สั้นกว่านี้ได้ไหม....หมดแรงเลยวันนี้

banker
18 กรกฎาคม 2010, 16:36
วันสองวันก่อนเป็นวันหวยออก ก็เลยมานั่นขีดๆเขียนๆหาสูตรเลขท้ายสองตัวสามตัว

แล้วก็ได้สูตรเด็ดมาสองสูตร

เลขท้ายสองตัว $(1+10k)^n \equiv 1+10kn \pmod {100}$

เลขท้ายสามตัว $(1+100k)^n \equiv 1+100kn \pmod {1000} $


ที่มาที่ไป

ไม่ใช่การพิสูจน์ เพียงแต่จะเล่าว่า ขีดเขียนอย่างไร ถึงออกมาเป็นแบบนี้

จากการสังเกต

เพราะว่า $(1+10)^1 = 11 $ นั่นคือ $(1+10)^1 \equiv 1+ 10 \times 1 \equiv 11 \pmod {100}$

เพราะว่า $(1+10)^2 = 121 $ นั่นคือ $(1+10)^2 \equiv 1+ 10 \times 2 \equiv 21 \pmod {100}$

เพราะว่า $(1+10)^3 = 1331 $ นั่นคือ $(1+10)^3 \equiv 1+ 10 \times 3 \equiv 31 \pmod {100}$

เพราะว่า $(1+10)^4 = 14641 $ นั่นคือ $(1+10)^4 \equiv 1+ 10 \times 4 \equiv 41 \pmod {100}$

เพราะว่า $(1+10)^5 = 161051 $ นั่นคือ $(1+10)^5 \equiv 1+ 10 \times 5 \equiv 51 \pmod {100}$
.
.
.
เราจึงอนุมานว่า $(1+10)^n = 11^n $ นั่นคือ $(1+10)^n \equiv 1+ 10 \times n \equiv 1+10n \pmod {100}$

แทนที่จะเป็น 10 ถ้าใส่ $k$ เข้าไปเป็น $10k$ โดย $k$ และ $n$ เป็นจำนวนนับไปก่อน ก็จะได้สูตร

เลขท้ายสองตัวเท่ากับ $(1+10k)^n \equiv 1+10kn \pmod {100}$



ทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นเลขท้ายสามตัว จากการสังเกต

เพราะว่า $(1+100)^1 = 101 $ นั่นคือ $(1+100)^1 \equiv 1+ 100 \times 1 \equiv101 \pmod {1000}$

เพราะว่า $(1+100)^2 = 10201 $ นั่นคือ $(1+100)^2 \equiv 1+ 100\times 2 \equiv 201 \pmod {1000}$

เพราะว่า $(1+100)^3 = 1030301 $ นั่นคือ $(1+100)^3 \equiv 1+ 100 \times 3 \equiv 301 \pmod {1000}$

เพราะว่า $(1+100)^4 = 104060401 $ นั่นคือ $(1+100)^4 \equiv 1+ 100 \times 4 \equiv 401 \pmod {1000}$

เพราะว่า $(1+100)^5 = 10510100501 $ นั่นคือ $(1+100)^5 \equiv 1+ 100 \times 5 \equiv 501 \pmod {1000}$
.
.
.
เราจึงอนุมานว่า $(1+100)^n = 101^n $ นั่นคือ $(1+100)^n \equiv 1+ 100 \times n \equiv 1+100n

\pmod {1000}$

แทนที่จะเป็น 100 ถ้าใส่ $k$ เข้าไปเป็น $100k$ โดย $k$ และ $n$ เป็นจำนวนนับไปก่อน ก็จะได้

สูตร

เลขท้ายสามตัวเท่ากับ $(1+100k)^n \equiv 1+100kn \pmod {1000}$


มาลองทดสอบกันดู

$9^{10} = 3486784401$

ใช้สูตร สองหลักสุดท้ายของ $9^{10}$ คือ $(9^2)^{5} \equiv (81)^5 \equiv (1+80)^5 \equiv

1+80\times5 \equiv 01\pmod {100}$

$9^{75} = 9(9)^{74} =9(81)^{37} \equiv 9(1+80)^{37} \equiv 9(1+80\times37) \equiv 9(2961)

\equiv 26640 \equiv 40 \pmod {100}$


ตัวอย่าง 7. จงหาเลขโดดสองหลักสุดท้ายของ $9^{9^9}$

เพราะว่า $9^9 = 387420489$

$9^{9^9} = 9^{387420489} = 9 \times 9^{387420488} $
$\equiv 9(9^{387420488}) \equiv 9(81)^

{193710244} $
$\equiv 9(1+80)^{193710244} \equiv 9(1+80\times193710244) $
$\equiv 139471375689

\equiv 89 \pmod {100}$


8. จงหาเลขโดดสามหลักสุดท้ายของ $7^{999}$

$7^{999} = 7^{3} (7^{996}) = 7^{3} (7^4)^{249} = 7^{3} (2401)^{249}= 7^{3} (1+2400)^{249}$

$\equiv 7^3(1+2400\times249) \pmod {1000}$

$\equiv 7^3(601) \pmod {1000}$

$\equiv 206143 \pmod {1000}$

$\equiv 143 \pmod {1000}$


มันเป็นแค่การสังเกตของผม คงไม่ใข่ทฤษฎีบทอะไร

ใช้ได้กับบางจำนวนที่ยกกำลังแล้วทำให้เลขลงท้ายด้วย $1$ หรือ $01$ ได้

จะช่วยย่นเวลาในการหาเลขลงท้าย สองตัว หรือเลขลงท้ายสามตัว


ทำแบบฝึกหัดมากๆ แล้วความรู้จะแตกฉานเอง :haha:

กิตติ
18 กรกฎาคม 2010, 19:02
ที่คุณอาBankerเขียนให้ดูนั้นน่าจะพอขยายความได้จาก
$(1+10k)^n \equiv 1+10kn \pmod {100}$

$(1+10k)^n =\binom{n}{0} .1^n.(10k)^0+\binom{n}{1} .1^{n-1}.(10k)^1+\binom{n}{2} .1^{n-2}.(10k)^2+\binom{n}{3} .1^{n-3}.(10k)^3+...+\binom{n}{n-1} .1^{1}.(10k)^{n-1}+\binom{n}{n} .1^0.(10k)^n$

$(1+10k)^n =1+n(10k)+\binom{n}{2} .1.(100)k^2+\binom{n}{3} (1000)k^3+...+\binom{n}{n-1} .(10)^{n-1}k^{n-1}+(10)^nk^n$

ถ้าลองเขียนในรูปการหารด้วย100 จะได้ว่า$(1+10k)^n \equiv 1+10nk \pmod{100} $

$(1+100k)^n =\binom{n}{0} .1^n.(100k)^0+\binom{n}{1} .1^{n-1}.(100k)^1+\binom{n}{2} .1^{n-2}.(100k)^2+\binom{n}{3} .1^{n-3}.(100k)^3+...+\binom{n}{n-1} .1^{1}.(100k)^{n-1}+\binom{n}{n} .1^0.(100k)^n$

$(1+100k)^n =1+n(100k)+\binom{n}{2} .1.(10000)k^2+\binom{n}{3} (10^6)k^3+...+\binom{n}{n-1} .(100)^{n-1}k^{n-1}+(100)^nk^n$

ถ้าลองเขียนในรูปการหารด้วย1000 จะได้ว่า$(1+100k)^n \equiv 1+100nk \pmod{1000} $

ดังนั้นสิ่งที่คุณอาbankerบอกว่าสังเกตแล้วจริงๆดูแบบนี้ก็ได้เหมือนกันครับ.....ข้อสังเกตของคุณอาสุดยอดเลยครับ

คusักคณิm
19 กรกฎาคม 2010, 07:13
ขอบคุณคุณลุงมาdนะครับ
ที่ทำให้ผมใช้ mod เป็นแล้ว ^^

MiNd169
19 กรกฎาคม 2010, 15:51
แสดงวิธี หรือ บอกแนว ข้อนี้ให้หน่อยนะครับ

$5^{2008} + 2^{2010}$ หารด้วย $7^2$ เหลือเศษเท่าไร

ขอบคุณครับ

(ไปไม่ค่อยเป็นเลย ตัวหาร ยกกำลังแล้ว เยอะเนี่ย)

Xx GAMMA xX
19 กรกฎาคม 2010, 18:03
คิดเศษจากการหาร$5^{2008}$ด้วย$7^2$ก่อนนะครับ
$5^{42} ≡ 1 (mod49)$
$(5^{42})^{47} ≡ 1 (mod49)$
$5^{1974}$ ≡ 1 (mod49)
$5^{2008}$ ≡ $3^{34}$ (mod49)
จาก$5^4$ ≡ 625 (mod49)
$5^4$ ≡ -12 (mod49)
$5^8$ ≡ 144 (mod49)
$5^8$ ≡ -3 (mod49)
$5^{32}$ ≡ 81 (mod49)
$5^{32}$ ≡ -17 (mod49)
$5^{34}$ ≡ -425 (mod49)
$5^{34}$ ≡ 16 (mod49)
ดังนั้น$5^{2008}$ ≡ $5^{34}$ (mod49)
$5^{2008}$ ≡ 16 (mod49)

หาเศษจากการหาร $2^{2010}$ ด้วย $7^2$
$2^{42}$ ≡ 1 (mod49)
$2^{1974}$ ≡ 1 (mod49)
$2^{2010}$ ≡ $2^{36}$ (mod49)
จาก$2^6$ ≡ 64 (mod49)
$2^6$ ≡ 15 (mod49)
$2^{12}$ ≡ 225 (mod49)
$2^{12}$ ≡ -20 (mod49)
$2^{24}$ ≡ 400 (mod49)
$2^{24}$ ≡ 8 (mod49)
($2^{24}$)($2^{12}$) ≡ -160 (mod49)
$2^{36}$ ≡ -160 (mod49)
$2^{36}$ ≡ 36 (mod49)
ดังนั้น$2^{2010}$ ≡ $2^{36}$ (mod49)
$2^{2010}$ ≡ 36 (mod49)
สรุป($5^{2008}$)+($2^{2010}$) ≡ 16+36 (mod49)
($5^{2008}$)+($2^{2010}$) ≡ 52 (mod49)
ผิดตรงไหนบอกด้วยนะครับ
ปล.ขอโทษผู้อ่านด้วยครับ(ใช้Latexไม่เป็น)

MiNd169
19 กรกฎาคม 2010, 18:15
เรารู้ได้อย่างไรครับว่า

$5^{42} ≡ 1 (mod49)$

$2^{42} ≡ 1 (mod49)$

ในช่วงแรกน่ะครับ

ปล.ขอโทษผู้อ่านด้วยครับ(ใช้Latexไม่เป็น)
ใช้ $$ ครอบข้อความครับ ส่วนเลขชี้กำลังใช้ {ตัวเลข} อีกที

Onasdi
19 กรกฎาคม 2010, 18:21
http://en.wikipedia.org/wiki/Euler's_theorem

Xx GAMMA xX
19 กรกฎาคม 2010, 18:30
ใช้ทฤษฎีของ Fermat-Euler theorem เลยครับว่า
$a^{Ø(n)}$ ≡ 1 (modn)ครับ
ข้อนี้ n=$7^2$
ดังนั้น Ø(n) = Ø($7^2$) = $7^2$-$7^1$ = 49-7 = 42ครับ

ใช้ $$ ครอบข้อความครับ ส่วนเลขชี้กำลังใช้ {ตัวเลข} อีกที
ขอบคุณมากครับแต่ทำไมผมทำแล้วยังเป็นอย่างนี้อยู่เลยครับ

nongtum
19 กรกฎาคม 2010, 19:41
แวะมาทิ้งวิืธีไว้ให้ฝึกแกะกันเล่นๆก่อนไปปั่นงานครับ

$\begin{array}{rcl}
5^{2008}+2^{2010} &=& (7-2)^{2008}+4\cdot2^{2008} \pmod{49} \\
&\equiv& -2008\cdot 7\cdot 2^{2007}+5\cdot2^{2008} \pmod{49}\\
&\equiv& 7\cdot 2^{2007}+10\cdot2^{2007} \pmod{49}\\
&\equiv& 17\cdot 2^{12} \pmod{49}\\
&\equiv& 17\cdot 15^2 \pmod{49}\\
&\equiv& 51\cdot 25 \cdot 3 \pmod{49}\\
&\equiv& (2\cdot 25) \cdot 3 \pmod{49}\\
&\equiv& 3 \pmod{49}\\
\end{array}$

กิตติ
20 กรกฎาคม 2010, 13:40
($5^{2008}$)+($2^{2010}$) ≡ 52 (mod49)

จริงๆแล้วมันคือ $5^{2008}+2^{2010} \equiv 3 \pmod{49} $
คำตอบน่าจะเป็นเศษ $3$

ขอบคุณมากครับที่ช่วยนำความรู้เรื่องEuler's theoremมาช่วยหาค่าที่เหลือเศษ1จากการหาร ช่วยย่นระยะเวลาไปได้อีกโขเลย

neem
30 กรกฎาคม 2010, 19:01
#2 08 กรกฎาคม 2010, 17:11
banker
เซียนกระบี่ วันที่สมัครสมาชิก: 24 มกราคม 2002
ข้อความ: 3,930




--------------------------------------------------------------------------------

นั่ง Time Machine ไปยุคประถม

ถ้าถามว่า 5 หารด้วย 2 เหลือเศษเท่าไร เด็กๆก็ตอบได้ว่า เหลือเศษ 1

ถามว่า 289 หารด้วย 13 เหลือเศษเท่าไร

เด็กก็จะตั้งหารยาว ได้ผลลัพธ์เป็น 22 เหลือเศษ 3

เขียนในรูปเศษส่วน จะได้ 13289=1322(13)+3=1322(13)+313

จะเห็นว่า 1322(13) ตัวเศษ มี 13 เป็นพหุคูณ หรือตัวร่วม ทำให้ หารด้วย 13 ลงตัว และมี 313 เศษคือ 3


แต่โจทย์ไม่ง่ายๆแบบข้างต้น มักเป็นการหารเลขยกกำลัง เช่น

210 หารด้วย 5 เหลือเศษ เท่าไร

จงหาเศษเหลือจากการหาร 3100 ด้วย 7

เศษเหลือจาการหาร 171000 ด้วย 13 เป็นเท่าไร

แบบนี้ถ้าทำแบบตั้งหารยาว คงยุ่งยากและยาวมากๆ

เราจะหาแนวทางในการหาเศษเหลือของตัวเลข xn ที่หารด้วย p

ค่อยๆทำความเข้าใจตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

----------------------------------------------------------------------------------

=(050)550−(150)549+(250)548−(350)547+...−(4950)51+1

เพราะว่า 5 หาร (k50)550−k ลงตัวทุกค่า k=0,1,...,49

คืออะไรคะ ช่วยอธิบายหน่อยค่ะ

Onasdi
30 กรกฎาคม 2010, 20:12
ใช้ทฤษฎีบททวินามครับ

$(a+b)^n=\dbinom{n}{0}a^n+\dbinom{n}{1}a^{n-1}b+\dbinom{n}{2}a^{n-2}b^2+\dots+\dbinom{n}{n}b^n$ สำหรับจำนวนนับ $n$

โดยที่ $\displaystyle{\dbinom{r}{s}=\frac{r!}{(r-s)!s!}}$ สำหรับจำนวนนับ $r\ge s$

เช่น $(a+b)^3=\dbinom{3}{0}a^3+\dbinom{3}{1}a^2 b+\dbinom{3}{2}ab^2+\dbinom{3}{3}b^3=a^3+3a^2b+3ab^2+b^3$

!!!-Argentum-!!!
07 กันยายน 2010, 18:13
หยิบมาจาก TMO 1 ครับ ยังไม่มีใครเฉลย :kaka:

ข้อ 15 วันแรก

จงหาจำนวนเต็ม $n$ ที่มากที่สุดซึ่ง $n$ $\leqslant$ $2004$ และ $3^{3n+3}$ - 27 หารด้วย 169 ลงตัว

~ArT_Ty~
07 กันยายน 2010, 19:33
หยิบมาจาก TMO 1 ครับ ยังไม่มีใครเฉลย :kaka:

ข้อ 15 วันแรก

จงหาจำนวนเต็ม $n$ ที่มากที่สุดซึ่ง $n$ $\leqslant$ $2004$ และ $3^{3n+3}$ - 27 หารด้วย 169 ลงตัว

จัดรูปจะได้

$=27(3^{3n}-1)$

$=27(3^3-1)(3^{3n-3}+3^{3n-6}+...+3^3+1)$

$=27(26)(3^{3n-3}+3^{3n-6}+...+3^3+1)$

$\therefore 13\left|\,3^{3n-3}+3^{3n-6}+...+3^3+1\right. $

เห็นได้โดยง่ายว่า $3^{3n}\equiv 1(mod 13)$

$\therefore 3^{3n-3}+3^{3n-6}+...+3^3+1\equiv n(mod13) $

$\therefore 13\left|\,n\right. $

$\therefore n$ มากที่สุดคือ $n=2002$

หยินหยาง
07 กันยายน 2010, 20:11
ยังไม่ถูกครับ

~ArT_Ty~
07 กันยายน 2010, 21:02
ยังไม่ถูกครับ

แก้แล้วครับ

ผิดนิดเดียวเอง ขอโทษครับ

ผิดตรงไหนช่วยบอกด้วยนะครับ :please::please::please:

หยินหยาง
07 กันยายน 2010, 21:16
แก้แล้วครับ

ผิดนิดเดียวเอง ขอโทษครับ

ผิดตรงไหนช่วยบอกด้วยนะครับ :please::please::please:
ไม่ต้องบอกครับ ก็แก้แล้วนี่ครับ :great:

กิตติ
24 กันยายน 2010, 10:27
จงหาจำนวนเต็ม $n$ ที่มากที่สุดซึ่ง $n$ $\leqslant$ $2004$ และ $3^{3n+3}$ - 27 หารด้วย 169 ลงตัว
$3^{3n+3}$ - 27 หารด้วย 169 ลงตัว ความหมายเดียวกับ $3^{3n+3}$หารด้วย169 เหลือเศษ 27
$3^{3n+3} \equiv 27 \pmod{169} $
ผมลองใช้Euler's theoremเล่นๆ....อ่านจากลิ้งค์ข้างต้นแล้วลองทำดู
ผมคิดได้ค่า$n=1976$
$\phi (169 ) = 169(1-\frac{1}{13}) = 12\times 13 = 156$
จาก $x \equiv y \pmod{\phi (n)} $ แล้ว $a^x \equiv a^y \pmod{n} $ เมื่อ $a$ กับ $n$ เป็นco-prime
$159 \equiv 3 \pmod{156} \rightarrow 3^{159} \equiv 3^3 \pmod{169} $
และจาก$156 \equiv 0 \pmod{156} \rightarrow 3^{156} \equiv 1 \pmod{169} $
$3^{159}\times 3^{156} \equiv 3^3 \pmod{169} \rightarrow 3^{159+156} \equiv 3^3 \pmod{169} $
จะได้ว่า$159+156m =3(n+1) \rightarrow 53+52m=n+1$
$n=52(m+1)\rightarrow m=\frac{n}{52}-1 $ เมื่อ $\ n \leqslant 2004$
ได้ค่า $n$ ที่มากที่สุดที่ยังทำให้เป็น $m$ จำนวนเต็มอยู่คือ $1976$
ไม่รู้ว่าผมงงตรงไหนหรือเปล่า.....

กะทิบูด
26 กันยายน 2010, 01:38
ตกลง ตอบข้อไหน ครับ ^^

Xx GAMMA xX
27 กันยายน 2010, 18:22
$3^{3n+3}$ - 27 หารด้วย 169 ลงตัว ความหมายเดียวกับ $3^{3n+3}$หารด้วย169 เหลือเศษ 27
$3^{3n+3} \equiv 27 \pmod{169} $
ผมลองใช้Euler's theoremเล่นๆ....อ่านจากลิ้งค์ข้างต้นแล้วลองทำดู
ผมคิดได้ค่า$n=1976$
$\phi (169 ) = 169(1-\frac{1}{13}) = 12\times 13 = 156$
จาก $x \equiv y \pmod{\phi (n)} $ แล้ว $a^x \equiv a^y \pmod{n} $เมื่อ $a$ กับ $n$ เป็นco-prime
$159 \equiv 3 \pmod{156} \rightarrow 3^{159} \equiv 3^3 \pmod{169} $
และจาก$156 \equiv 0 \pmod{156} \rightarrow 3^{156} \equiv 1 \pmod{169} $
$3^{159}\times 3^{156} \equiv 3^3 \pmod{169} \rightarrow 3^{159+156} \equiv 3^3 \pmod{169} $
จะได้ว่า$159+156m =3(n+1) \rightarrow 53+52m=n+1$
$n=52(m+1)\rightarrow m=\frac{n}{52}-1 $ เมื่อ $\ n \leqslant 2004$
ได้ค่า $n$ ที่มากที่สุดที่ยังทำให้เป็น $m$ จำนวนเต็มอยู่คือ $1976$
ไม่รู้ว่าผมงงตรงไหนหรือเปล่า.....

ผมคิดว่าตรงนี้mไม่จำต้องเป็นจน.เต็มก็ได้นะครับ
เพราะสมมติm=1/4 nก็เป็นจน.เต็มเหมือนกันใช่ไหมครับ

กิตติพงศ์
27 กันยายน 2010, 19:26
$m$ต้องเป็นจำนวนเต็มครับ เพราะเราต้องการรู้ว่าต้องทบไปกี่รอบ
$m$ เป็นจำนวนรอบการนำ$3^{156}$ ไปคูณตามวิธีของการใช้$mod$
$3^{159} \equiv 27 \pmod{169} $
$3^{156} \equiv 1 \pmod{169} $
$3^{159+156} \equiv 27 \pmod{169} $
$3^{159+2(156)} \equiv 27 \pmod{169} $
$3^{159+3(156)} \equiv 27 \pmod{169} $
$3^{159+m(156)} \equiv 27 \pmod{169}$
ตามนี้ครับ

กิตติ
27 กันยายน 2010, 19:33
ความเห็น#78เมื่อกี้ผมเองครับ พอดีลองเอาusernameของลูกชายมาลงดูว่าใช้ได้ไหม

poper
27 กันยายน 2010, 19:47
โอ้ว...
มีทายาทผู้เยี่ยมยุทธมาสืบทอดแล้วครับ:great:

Onasdi
27 กันยายน 2010, 20:02
แต่เหมือนว่าคุณกิตติจะใช้ $3^a\equiv 3^b \pmod{m}~\Rightarrow~ a=b$ ซึ่งไม่จำเป็นครับ

กิตติ
27 กันยายน 2010, 20:34
ที่ผมใช้น่าจะเป็นแบบนี้คือ ผมใช้$3^{156} \equiv 1 \pmod{169} $ ไปคูณกับ $3^{159} \equiv 27 \pmod{169} $ ตามที่ความรู้ข้างต้น ผมต้องการรู้ว่าต้องการคูณไปกี่ครั้ง
$3^{159+156m} \equiv 27 \pmod{169} $แล้วเทียบกับสิ่งที่ผมแปลงจากโจทย์คือ
$3^{3n+3}\equiv 27 \pmod{169}$ แล้วผมก็จับให้$3^{159+156m}=3^{3n+3}$ซึ่งเป็นพจน์ตัวถูกหารด้วย 169เหมือนกัน
ก็ได้$159+156m=3n+3$
ไม่รู้ว่าตรงไหนที่ผมเข้าใจผิดบ้าง ช่วยชี้แนะด้วยครับ

กิตติ
27 กันยายน 2010, 20:41
โดนคุณpoperแซวเสียแล้ว มีทายาท แต่ผมยังไม่ถึงขั้นเยี่ยมยุทธ์ครับ อายคนอื่นในMCครับ มีคนที่เยี่ยมยุทธ์กว่าผมตั้งเยอะ
และท่าทางเจ้าลูกชายคนนี้เข็นไม่ค่อยขึ้นครับ ขี้เกียจมากครับ อุตสาห์หาโจทย์มาให้ ปริ้นให้แล้วยังไงก็วางไว้อย่างนั้นครับ
อ่อนใจเหมือนกัน ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบบังคับใคร เห็นน้องๆในนี้หลายคนมีความกระตือรือร้นมากกว่าลูกตัวเองแล้วอดดีใจแทนพ่อแม่ไม่ได้
ที่ลูกเขาขวนขวาย รักอยากจะเก่ง และมีเป้าหมายชัดเจน ว่าต้องติดโน่นติดนี่ ผมก็ได้แต่ฟื้นความรู้ตัวเอง รอให้ลูกขยัน

Onasdi
27 กันยายน 2010, 20:59
ที่ผมใช้น่าจะเป็นแบบนี้คือ ผมใช้$3^{156} \equiv 1 \pmod{169} $ ไปคูณกับ $3^{159} \equiv 27 \pmod{169} $ ตามที่ความรู้ข้างต้น ผมต้องการรู้ว่าต้องการคูณไปกี่ครั้ง
$3^{159+156m} \equiv 27 \pmod{169} $แล้วเทียบกับสิ่งที่ผมแปลงจากโจทย์คือ
$3^{3n+3}\equiv 27 \pmod{169}$ แล้วผมก็จับให้$3^{159+156m}=3^{3n+3}$ซึ่งเป็นพจน์ตัวถูกหารด้วย 169เหมือนกัน
ก็ได้$159+156m=3n+3$
ไม่รู้ว่าตรงไหนที่ผมเข้าใจผิดบ้าง ช่วยชี้แนะด้วยครับ
ตรงสีแดงสรุปไม่ได้ครับ ตัวอย่างเช่น
$3^{159} \equiv 27 \pmod{169}$ และ $3^{3} \equiv 27 \pmod{169}$ แต่ $3^{159}\ne 3^3$

แต่ค่าที่คุณกิตติหามา (1976) เป็นค่าที่ใช้ได้นะครับ ทั้งนี้เพราะว่า
$3^{3n+3}=3^{159+156m}~\Rightarrow~ 3^{3n+3}\equiv 3^{159+156m}\equiv 27 \pmod{169}$
แต่เรายังสรุปไม่ได้ว่ามันเป็นค่าที่มากที่สุดแล้ว

ป.ล. เห็นคุณกิตติสอนลูก เลยอยากแนะนำบทความนี้ (http://www.maa.org/devlin/LockhartsLament.pdf)ครับ เกี่ยวกับระบบการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ครับ แต่มันเป็นภาษาอังกฤษนะครับ

หยินหยาง
27 กันยายน 2010, 21:16
ท่านกิตติเป็นบุคคลที่น่าได้รับการช่วยเหลือ ผมเลยอยากจะเสนอความเห็นบางอย่าง แต่ไม่กล้าแนะนำบทความแบบท่าน Onasdi เพราะไม่มีเด็ดๆแบบนั้น :D แต่มีไอเดียไม่รู้จะถูกใจหรือไม่ ไม่ยากเพราะใช้ความสามารถในวิชาชีพครับ ลองคุยกับลูกว่าพ่อมีทางเลือกให้ลูก 2 อย่างคือ
1.ลูกจะขยันหาความรู้ใส่ตัวเอง หรือ
2.ลูกจะให้พ่อเอาความรู้ใส่ตัวลูก
ถ้าลูกเลือกอย่างหลังต้องบอกลูกว่า ลูกต้องทนเจ็บนิดหนึ่งเพราะพ่อต้องฉีดความรู้ใส่สมองลูกทุกวันจนกว่าลูกจะเก่ง :happy::)

กิตติ
27 กันยายน 2010, 21:43
ขอบคุณมากครับท่านซือแป๋หยินหยาง....น้อมรับกลยุทธ์ แต่ผมรู้สึกลึกๆข้างในใจตัวเองว่า แปลงร่างให้โหดกับลูกไม่ไหว ทั้งๆที่รู้ว่าโหดวันนี้เพื่ออนาคตที่ดี

ขอบคุณมากครับคุณOnasdi สำหรับบทความ ผมคงไม่ได้สอนลูกลูกจริงๆจังๆ ทำตัวเป็นที่ปรึกษามากกว่า เวลาทำโจทย์ที่โรงเรียนกับที่เรียนพิเศษไม่ได้
พอดีผมเข้าใจตามวิธีการหาเศษจากการหารตามตัวอย่างที่ว่า $10^{100}$หารด้วย $17$ เหลือเศษเท่าไหร่
เราก็หาได้ว่า$10^{16} \equiv 1 \pmod{17} $ แล้วเราก็ได้รอบของการหาร
$100 =6(16)+4$
$10^{6(16)+4} = 10^4 \equiv ? \pmod{17} $
$10^4 \equiv 4 \pmod{17} $
ผมก็เลยทำแบบข้างต้น
ถ้าเราเริ่มจาก$3^3 \equiv 27 \pmod{169} $ แล้วคูณด้วย$3^{156} \equiv 1 \pmod{169} $
แบบเดียวกับที่ผมทำได้ไหม
ผมยังงงๆอยู่ รบกวนช่วยบอกคำตอบให้หน่อยครับ จะถือว่าเป็นวิทยาทานถ้าช่วยแสดงวิธีทำหน่อยครับ....:please::please::please:
คืนนี้ผมขอตัวก่อนแล้วครับ เจ้าตัวเล็กเริ่มงอแงแล้วครับ เมื่อคืนก็ช่วยแฟนอุ้มลูกตั้งแต่สองทุ่มยันตีสอง วันนี้ไม่รู้ว่าจะงอแงถึงกี่โมง
ยังไงก็ขอขอบคุณทุกความเห็นที่ช่วยชี้ความกระจ่างให้ครับ

Onasdi
28 กันยายน 2010, 02:59
คือถูกแล้วครับที่บอกว่า $3^{3\times1976+3} = 3^{156\times 38+3} \equiv \left(3^{156}\right)^38\cdot 3^3 \equiv 27 \pmod{169}$
นั่นก็คือ $n=1976$ ใช้ได้ และเป็นค่าที่มากที่สุดที่ได้มาจากวิธีการหาแบบที่หามา
แต่อาจจะมีวิธีการหาแบบอื่นที่ทำให้เราได้ $n$ ที่มากกว่านี้ก็ได้ครับ ยังไม่มีเหตุผลว่าจะไม่มี

สำหรับวิธี ผมเองก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงครับ ท่านไหนคิดออกรบกวนแสดงวิธีทำเลยครับ

เท่าที่ผมคิดคือเหมือนว่าจะต้องหา order ของ 3 mod 169 ออกมา
นั่นก็คือหาจำนวนเต็มบวก $d$ ที่น้อยที่สุดที่ทำให้ $3^d \equiv 1 \pmod{169}$ มันดูน่าจะเหนื่อยใช้ได้ครับ

กิตติ
28 กันยายน 2010, 10:11
แสดงจากที่เราหาจากEuler's theorem
$a^{\phi(n)}\equiv 1 \pmod{n} $ .....แสดงว่า$\phi(n)$ ยังไม่ใช่ค่าที่น้อยที่สุดที่ทำให้การหารด้วย$n$ เหลือเศษ 1 หรือเปล่าครับ
อยากได้ความรู้เรื่องนี้ครับ รบกวนท่านที่รู้เล่าให้ฟังกับชี้จุดให้เข้าใจด้วยครับ

คนอยากเก่ง
28 กันยายน 2010, 19:41
ขอบคุณมากครับ

Onasdi
29 กันยายน 2010, 01:30
แสดงจากที่เราหาจากEuler's theorem
$a^{\phi(n)}\equiv 1 \pmod{n} $ .....แสดงว่า$\phi(n)$ ยังไม่ใช่ค่าที่น้อยที่สุดที่ทำให้การหารด้วย$n$ เหลือเศษ 1 หรือเปล่าครับ
อยากได้ความรู้เรื่องนี้ครับ รบกวนท่านที่รู้เล่าให้ฟังกับชี้จุดให้เข้าใจด้วยครับ
โดยทั่วไปแล้ว $\phi(n)$ ยังไม่ใช่ค่าที่น้อยที่สุดครับ แต่ก็มีกรณีที่ใช่ครับ

$a=2,~n=7$
$2^1 \equiv 2 \pmod{7}$
$2^2 \equiv 4 \pmod{7}$
$2^3 \equiv 1 \pmod{7}$
แต่ $\phi(7)=6$
===============
$a=3,~n=5$
$3^1 \equiv 3 \pmod{5}$
$3^2 \equiv 4 \pmod{5}$
$3^3 \equiv 2 \pmod{5}$
$3^4 \equiv 1 \pmod{5}$
และ $\phi(5)=4$

กิตติ
29 กันยายน 2010, 10:40
ผมคงต้องกลับไปดูเรื่องของEuler's theoremให้เข้าใจมากกว่าตอนนี้ก่อนแล้วจะรบกวนถามครับ
ขอบคุณครับคุณOnasdiที่ยกตัวอย่างให้เห็น

Siren-Of-Step
01 ตุลาคม 2010, 18:58
โดยทั่วไปแล้ว $\phi(n)$ ยังไม่ใช่ค่าที่น้อยที่สุดครับ แต่ก็มีกรณีที่ใช่ครับ

$a=2,~n=7$
$2^1 \equiv 2 \pmod{7}$
$2^2 \equiv 4 \pmod{7}$
$2^3 \equiv 1 \pmod{7}$
แต่ $\phi(7)=6$
===============
$a=3,~n=5$
$3^1 \equiv 3 \pmod{5}$
$3^2 \equiv 4 \pmod{5}$
$3^3 \equiv 2 \pmod{5}$
$3^4 \equiv 1 \pmod{5}$
และ $\phi(5)=4$
เราจะหาตัวน้อยสุดได้ไหมครับ ซึ่ง $a^n \equiv 1 \pmod{m}$

Onasdi
02 ตุลาคม 2010, 03:39
เราจะหาตัวน้อยสุดได้ไหมครับ ซึ่ง $a^n \equiv 1 \pmod{m}$
ผมคิดว่าไม่มีวิธีทั่วไปนะครับ ไม่แน่ใจเหมือนกัน

Siren-Of-Step
02 ตุลาคม 2010, 14:11
ถามหน่อยครับ $a^{\phi (n)} \equiv 1 \pmod{n}$
$a,n$ ต้องเป็น co-prime ใช่ปะครับ :please:

Onasdi
02 ตุลาคม 2010, 17:59
ถามหน่อยครับ $a^{\phi (n)} \equiv 1 \pmod{n}$
$a,n$ ต้องเป็น co-prime ใช่ปะครับ :please:
ใช่แล้วครับ นั่นเป็นเงื่อนไขของทฤษฎี

ถ้า $(a,n)\ne 1$ จะได้ว่ามีจำนวนเฉพาะ $p$ ที่หารทั้ง $a$ และ $n$
ดังนั้น $p\not|a^{\phi (n)}-1$ ทำให้ $n\not|a^{\phi (n)}-1$
นั่นคือ $a^{\phi (n)} \not\equiv 1 \pmod{n}$

Siren-Of-Step
02 ตุลาคม 2010, 21:25
มีทฤษฎี/เทคนิค อย่างอื่นไหมครับ ที่ช่วยในการทำโจทย์เร็วขึ้น

Onasdi
03 ตุลาคม 2010, 03:09
น่าจะมีเยอะครับ ต้องทำโจทย์เยอะๆถึงได้พวกเทคนิคครับ

เทคนิคนึงที่คิดออกคือการแยกตัวประกอบของตัวหาร
เช่นถ้าเราจะหา $n$ ที่น้อยๆที่ทำให้ $7^{n} \equiv 1 \pmod{15}$
เราก็อาจจะแยก $15=3\times 5$ แล้วทำ mod 3 กับ mod 5 ตามนี้ครับ

$7^{4} \equiv 1 \pmod{5}$ และ
$7^{2} \equiv 1 \pmod{3}$ จึงได้ $7^{4} \equiv 1 \pmod{3}$
ดังนั้น $7^{4} \equiv 1 \pmod{3\times 5}$

จะเห็นว่าวิธีนี้ดีกว่าการใช้ Euler's theorem ตรงๆ
เพราะถ้าใช้ตรงๆจะได้ $\phi(15)=\phi(3)\phi(5)=8$
ดังนั้น $7^{8} \equiv 1 \pmod{15}$

กิตติ
03 ตุลาคม 2010, 10:22
จริงๆผมน่าจะเอ๊ะใจตามที่คุณOnasdi ได้แสดงให้เห็นในกระทู้ก่อนๆแล้ว ในที่เขียนว่า
$7^{4} \equiv 1 \pmod{5}$ และ
$7^{2} \equiv 1 \pmod{3}$ จึงได้ $7^{4} \equiv 1 \pmod{3}$
ดังนั้น $7^{4} \equiv 1 \pmod{3\times 5}$
ผมก็เคยสงสัยว่าเราจะสรุปแบบนั้นได้หรือเปล่า
สมมุติเราหาเศษจากการหาร$A^k$ด้วย$B*C$
เราแยกออกเป็น$\frac{A^m}{B} \times \frac{A^n}{C}$ เมื่อ$m+n=k$
$A^m = BX+r $ เมื่อ$r$ เป็นเศษ....คือ$A^m \equiv r \pmod{B} $
$A^n = CY+s $ เมื่อ$s$ เป็นเศษ....คือ$A^n \equiv s \pmod{C} $
$A^k=(BX+r)(CY+s ) =BCXY+rCY+sBX+rs $
เศษจากการหารคือ$rCY+sBX+rs$
ในกรณีที่เป็นตัวอย่าง
$7^4 =49*49 =2401 =3(800)+1$
$7^4 =49*49 =2401 =5(480)+1$
$B=3,C=5$
$X=800,Y=480,r=1,s=1$
เศษที่เกิดขึ้นคือ $CY+BX+1 = 5(480)+3(800)+1$
โชคดีที่$480$หารด้วย$3$ลงตัว และ$300$หารด้วย$5$ลงตัว
จึงเหลือเศษเป็น $1$ อย่างเราต้องการ
ถ้าเป็นกรณีโดยทั่วไปที่ไม่ได้ตรงกันแบบนี้ มันน่าจะสรุปแบบนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะถ้า$r,s$ ไม่ได้เป็น $1$
ไม่รู้ว่าผมเข้าใจตรงไหนผิดหรือเปล่า.....

กิตติ
03 ตุลาคม 2010, 15:31
ลองให้$A^k$ หารด้วย$M$ และ$M=BC$ดู
$A^k = BX+r$.... $A^k \equiv r \pmod{B} $
$A^k = CY+s$.... $A^k \equiv s \pmod{C} $
$A^k = ZM+t$.... $A^k \equiv t \pmod{M} $
เมื่อ$X,Y,Z$ เป็นผลหารและ $r,s,t$ เป็นเศษ
ดังนั้น $BX+r = CY+s = ZM+t$
ถ้าให้เศษเท่ากันหมดคือ $r=s=t=1$ จะยุบเหลือ
$BX = CY = ZM$
$\frac{B}{C} =\frac{Y}{X} $
ดังนั้นเราจะสรุปได้ว่า
ถ้า $A^k \equiv 1 \pmod{B} $
และ $A^k \equiv 1 \pmod{C} $
แล้ว $A^k \equiv 1 \pmod{M=B\times C} $
ได้เมื่อ $\frac{B}{C} =\frac{Y}{X} $
ผมลองคิดต่อเล่นๆเท่านั้น....

Onasdi
03 ตุลาคม 2010, 16:28
จริงๆผมน่าจะเอ๊ะใจตามที่คุณOnasdi ได้แสดงให้เห็นในกระทู้ก่อนๆแล้ว ในที่เขียนว่า

ผมก็เคยสงสัยว่าเราจะสรุปแบบนั้นได้หรือเปล่า
สมมุติเราหาเศษจากการหาร$A^k$ด้วย$B*C$
เราแยกออกเป็น$\frac{A^m}{B} \times \frac{A^n}{C}$ เมื่อ$m+n=k$
$A^m = BX+r $ เมื่อ$r$ เป็นเศษ....คือ$A^m \equiv r \pmod{B} $
$A^n = CY+s $ เมื่อ$s$ เป็นเศษ....คือ$A^n \equiv s \pmod{C} $
$A^k=(BX+r)(CY+s ) =BCXY+rCY+sBX+rs $
เศษจากการหารคือ$rCY+sBX+rs$
ในกรณีที่เป็นตัวอย่าง
$7^4 =49*49 =2401 =3(800)+1$
$7^4 =49*49 =2401 =5(480)+1$
$B=3,C=5$
$X=800,Y=480,r=1,s=1$
เศษที่เกิดขึ้นคือ $CY+BX+1 = 5(480)+3(800)+1$
โชคดีที่$480$หารด้วย$3$ลงตัว และ$300$หารด้วย$5$ลงตัว
จึงเหลือเศษเป็น $1$ อย่างเราต้องการ
ถ้าเป็นกรณีโดยทั่วไปที่ไม่ได้ตรงกันแบบนี้ มันน่าจะสรุปแบบนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะถ้า$r,s$ ไม่ได้เป็น $1$
ไม่รู้ว่าผมเข้าใจตรงไหนผิดหรือเปล่า.....
ที่ผมทำไม่ใช่ $k=m+n$ ครับ เพราะว่า $m=n=k=4$
สิ่งที่ผมใช้คือ $$ถ้า\quad X \equiv Y \pmod{B}\quad และ\quad X \equiv Y \pmod{C} \quad แล้ว \quad X \equiv Y \pmod{ค.ร.น.[B,C]}$$ลองดูครับว่าทำไมถึงจริง

-SIL-
03 ตุลาคม 2010, 16:46
ตัวอย่างที่ 6.

เศษเหลือจากการหาร $7^{2541}$ ด้วย $4$ เท่ากับเท่าใด


วิธีทำ
$ \ \ \ \ \ \ \ \ 7^{2541}= (4+3)^{2541}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{2541} = (3^3)^{847} =(27)^{847} =(6(4)+3)^{847}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{847} = (3^7)^{121} =(2187)^{121} =(546(4)+3)^{121}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{121} =(3^{11})^{11} = (177147)^{11}

= (44286(4)+3)^{11}$

$ \ \ \ \ \ \ \ \ 3^{11} = 177147$ หารด้วย $4$ เหลือเศษ $3$


เศษจากการหาร $7^{2541}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{2541}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{847}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{121}$ ด้วย $4$
= เศษจากการหาร $3^{11}$ ด้วย $4$
= $3$



อีกมุมมองนึงครับ (ใช้พหุคูณ:happy:)
$7^{2541} = (8-1)^{2541} = 8k-1 = 4n+3$

กิตติ
03 ตุลาคม 2010, 19:45
$$ถ้า\quad X \equiv Y \pmod{B}\quad และ\quad X \equiv Y \pmod{C} \quad แล้ว \quad X \equiv Y \pmod{ค.ร.น.[B,C]}$$

ตรงนี้น่าสนใจมากเลยครับ ผมลองพิสูจน์ดู
$\quad X \equiv Y \pmod{B}\quad $ ดังนั้น $\quad X= MB+Y \quad$
$\quad X \equiv Y \pmod{C} \quad $ ดังนั้น $\quad X= NC+Y \quad$
ถ้า ค.ร.น. ของ$B,C$ คือ $D$ จะได้ว่า $\quad D= BP \quad ,\quad D=CQ \quad $
ดังนั้น$\quad X=\dfrac{MD}{P}+Y \quad = \dfrac{ND}{Q}+Y \quad$

ถ้า$\quad \dfrac{M}{P} และ \quad ,\quad \dfrac{N}{Q} \quad$ เป็นจำนวนเต็ม

เราเลยเขียนได้ว่า $\quad X \equiv Y \pmod{ค.ร.น.[B,C] = D} \quad$
ผมเข้าใจถูกไหมครับ.....

Onasdi
03 ตุลาคม 2010, 20:50
ถ้า$\quad \dfrac{M}{P} และ \quad ,\quad \dfrac{N}{Q} \quad$ เป็นจำนวนเต็ม
อันนี้เป็นสมมติฐานหรือว่าสรุปได้แล้วครับ?

เปลี่ยน mod เป็นการหารลงตัว ก็จะเห็นได้ด้วย $B|Z,~C|Z~\Rightarrow~[B,C]|Z$

กิตติ
03 ตุลาคม 2010, 21:20
จริงด้วยสิครับ....เปลี่ยนmodไปเป็นการหารลงตัว
เข้าใจแล้วครับ วันนี้ได้ความรู้เพิ่มอีกอย่างหนึ่งแล้ว
ขอบคุณครับ

ความรู้ยังอ่อนด้อย
04 ตุลาคม 2010, 13:13
คุณกิติครับ คุณหาหนังสือจากไหนหรอครับ

ผมอยากหาลองมาอ่านดูตอนที่ผมยังไม่เก่งเลย

ขอบคุณครับ

กิตติ
04 ตุลาคม 2010, 13:36
คุณความรู้ยังอ่อนด้อย ....ยังไม่เก่ง แต่ติดตัวสำรองศูนย์นเรศวร นี่นะครับ
ผมคงไม่เก่งกว่า เพราะไม่ติดอะไรเลย....
หนังสือที่ต้องการหมายถึงหนังสืออะไรครับ ถ้าเป็นแค่ความรู้สำหรับเตรียมตัวสอบก่อนเข้าค่าย ก็คงแนะนำหาเอาแถวในบอร์ดนี้
มีผู้เยี่ยมยุทธ์ที่เก่งกว่าผมมากๆๆๆหลายท่านแถมใจดีด้วย
สำหรับความรู้ระดับในค่ายนั้น เกินกว่าความรู้ที่ผมมีครับ คงไม่กล้าแนะนำ

ความรู้ยังอ่อนด้อย
06 ตุลาคม 2010, 16:04
ครับ แต่ผมไม่รู้ว่าเขาจะเรียกผมหรือเปล่า

ตอนสอบผมก็ทำไม่ได้หลายข้อเลย

แต่ผมว่าคุณเก่งมากๆเลยนะครับ ดูจากกระทู้หลายๆ กระทู้แล้ว

กิตติ
06 ตุลาคม 2010, 16:31
ตอนผมอายุเท่าๆน้องๆในMCนี้ บอกเลยครับยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของน้องๆในMCนี้เลย
ในMCมีคนเก่งเยอะแยะ ผมก็เป็นแค่ระดับธรรมดาครับ
ผมชอบที่จะให้สังคมเรามีคนเก่งเยอะๆ ประเทศจะได้พัฒนาไปไกลๆ
หวังว่าน่าจะมีโชคดีบ้างนะครับ ถึงไม่เรียกก็ยังเพิ่งละทิ้งความมานะพยายามแล้วกันครับ

Siren-Of-Step
06 ตุลาคม 2010, 16:58
ข้อนี้โหดมากเลยครับ.....หมดเวลาเป็นชั่วโมงเพื่อไล่หาค่า
$7^4 \equiv 401 \pmod{1000} $
$7^5 \equiv 807 \pmod{1000} $
ใช้วิธี$a \equiv b \pmod{c} \rightarrow a^n \equiv b^n \pmod{c} $
ตัวกำหนดความยากง่ายก็คือ$b$...นี่แหละครับ ยิ่งน้อย เวลาเอาไปคูณกับอะไรหรือยกกำลังก็ง่ายขึ้น.....ผมนั่งไล่ไปจนได้
$7^{22} \equiv 49 \pmod{1000} $....จริงๆไล่ไปจนถึง$7^{30}$....เริ่มไม่ไหวแล้ว ผมเลือกตรงนี้เพราะเห็นว่าค่า$49$น้อยที่สุดแล้ว และเรารู้ว่า$9^n$ลงท้ายด้วย$1$กับ$9$ เท่านั้น ดังนั้นมีโอกาสที่จะหา$7^n \equiv 1 \pmod{1000} $ได้
$7^{44} \equiv 401 \pmod{1000}$
$7^{88} \equiv 801 \pmod{1000}$
$7^{176} \equiv 601 \pmod{1000}$
$7^{352} \equiv 201 \pmod{1000}$
$7^{704} \equiv 401 \pmod{1000}$
$7^{704+176} \equiv 601\times 401 \pmod{1000} \rightarrow 7^{880} \equiv 1 \pmod{1000} $......ตรงนี้บังเอิญได้พอดี จริงๆกะว่าจะเอาตัวมาคูณไปเรื่อยๆจนถึง$7^{999}$
จะได้ว่า$999=880+119$
$7^{999} \equiv 7^{119} \pmod{1000} $
$7^{88+22} \equiv 49\times 801 \pmod{1000} \rightarrow 7^{110} \equiv 249 \pmod{1000} $
$7^{4+5} \equiv 401\times 807 \pmod{1000} \rightarrow 7^9\equiv 607 \pmod{1000}$
$7^{110+9} \equiv 249\times 607 \pmod{1000}\rightarrow 7^{119} \equiv 143 \pmod{1000} $

คำตอบมาแล้ว สามตัวหลักสุดท้ายของ$7^{999}$ คือ$143$
โจทย์ข้อนี้กินแรงมากเลยครับ....ถ้าจะผิดก็ด้วยเบลอในตัวเลข โหดได้ใจเลยครับ
ไม่รู้ว่ามีทริคคิดให้สั้นกว่านี้ได้ไหม....หมดแรงเลยวันนี้

ใช้ทวินามเอาครับ $7^4 = 2401 , 7^{4n} = 2401^n = (2400+1)^n$
หาเศษจากการหารด้วย 1000 คือ $1+\binom{n}{1}2400$
$n=249 , 24(249)(100)+1 = m01 = 601$
$601*7^3 = 206$$143$

กิตติ
06 ตุลาคม 2010, 17:01
ที่น้องsirenคิดนั้นก็เข้าข่ายเดียวกับที่ลุงBankerใบ้หวยให้ดูในกระทู้ก่อน
หลักการเดียวกัน

Siren-Of-Step
06 ตุลาคม 2010, 17:05
ให้เอากิตติเอาไปฝึกนะครับ

จงหาเลขสามหลักสุดท้ายของ $13^{2009}$ ข้อนี้ผมแนะนำให้ใช้ mod จะง่ายกว่าทวินามนะครับ (ความเห็นผมอะ)

กิตติ
06 ตุลาคม 2010, 17:30
ทวินามไม่เอาแล้วถ้าใช้modเป็น
จงหาเลขสามหลักสุดท้าย $13^{2009}$
$1000 = 2^35^3$
$\phi (1000) = 400$
$13^{400} \equiv 1 \pmod{1000} $
$(13^{400})^5 \equiv 1 \pmod{1000} $
$13^{2000}\equiv 1 \pmod{1000} $
$13^4 \equiv 561 \pmod{1000} $
$13^8 \equiv 721 \pmod{1000} $
$13^9 \equiv 9373 =373\pmod{1000} $
$13^{2009}\equiv 373 \pmod{1000} $
ลงท้ายด้วย$373$....ไม่รู้ว่าถูกไหม

Siren-Of-Step
06 ตุลาคม 2010, 17:43
ถูกต้องนะครับ !!

-SIL-
06 ตุลาคม 2010, 17:51
ทวินามไม่เอาแล้วถ้าใช้modเป็น
จงหาเลขสามหลักสุดท้าย $13^{2009}$
$1000 = 2^35^3$
$\phi (1000) = 400$
$13^{400} \equiv 1 \pmod{1000} $
$(13^{400})^5 \equiv 1 \pmod{1000} $
$13^{2000}\equiv 1 \pmod{1000} $
$13^4 \equiv 561 \pmod{1000} $
$13^8 \equiv 721 \pmod{1000} $
$13^9 \equiv 9373 =373\pmod{1000} $
$13^{2009}\equiv 373 \pmod{1000} $
ลงท้ายด้วย$373$....ไม่รู้ว่าถูกไหม

คิดว่าใช้ทวินามหหลังใช้ phi-func จะเท่กว่าครับ:D

ความรู้ยังอ่อนด้อย
06 ตุลาคม 2010, 17:53
φ(1000)=400

φ เครื่องหมายนี้คืออะไรหรอ

ผมลองดูแล้วตามไม่ทันเลย

PGMwindow
18 ตุลาคม 2010, 21:54
ขอบคุณสำหรับบทความเรื่อง mod มากครับ

Onasdi
18 ตุลาคม 2010, 23:41
φ(1000)=400

φ เครื่องหมายนี้คืออะไรหรอ

ผมลองดูแล้วตามไม่ทันเลย
มันคือ http://en.wikipedia.org/wiki/Euler's_totient_function#Computing_Euler.27s_function ครับ
เค้ากำลังใช้ทฤษฎีนี้อยู่ครับ http://en.wikipedia.org/wiki/Euler's_theorem

IloveMathPK
04 มีนาคม 2012, 22:25
อ่านถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่า พอจะเข้าใจพื้นฐานเรื่อง mod ได้แล้ว

ถ้าน้องๆหลานๆสนใจ ก็ต้องหาแบบฝึกหัดมาทำให้เกิดความช่ำชอง

ผมเชื่อว่า ด้วยพื้นฐานที่ได้อ่านมานี้ ก็สามารถไปอ่านเรื่อง mod ในหนังสือต่างๆด้วยความเข้าใจได้

ไม่มีวิธีลัดที่จะให้เก่งเรื่อง mod มากไปกว่าการทำแบบฝึกหัดมากๆ

ส่วนผม ผมคงจบตรงนี้ เพราะวัตถุประสงค์ของผม แค่เพื่อติวหลานที่อยู่ประถมเท่านั้น

โปรดอย่าถามอะไรที่ยากๆ หรือที่เกินประถมหรือมัธยมต้น

เพราะผมก็รู้แค่นี้แหละ

รู้แล้วเอามาเผยแพร่ให้เด็กๆของเรา เป็นเด็กเก่ง

เพราะเด็กๆในวันนี้ จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป
ซึ้งครับ ขอบคุณมากครับ ผมเข้าใจขึ้นมากเลย อยากให้มีคนแบบนี้ในสังคมเยอะๆ

polsk133
05 มีนาคม 2012, 00:14
น่าเสียดายนะครับ ที่ตอนแรกผมเข้ามายังไม่รู้เลยว่า mod คืออะไร แต่ก็ไม่เจอกระทู้นี้

lookket
05 มีนาคม 2012, 09:28
ขอบคุณมากๆ ค่ะ

kongp
13 มีนาคม 2012, 20:27
วิชาทฤษฏีจำนวน ไม่ใช่แค่หาเศษนะครับ แต่เป็นการวิเคราะห์ระบบตัวเลข เพื่อให้คำนวนได้แม่นยำและรวดเร็ว ดังนั้น ผลหารก็สำคัญไม่น้อย น่าจะออกเป็นข้อสอบบ้าง แต่ก้นั้นถามหาเศษเหลือก็คงเพราะเป็นปัญหาคณิตศาสตร์มากกว่านั่นเอง จริงไหมครับ

Gu_ChoewIndY
20 กรกฎาคม 2012, 17:41
:cry::aah:นั่ง Time Machine ไปยุคประถม

ถ้าถามว่า 5 หารด้วย 2 เหลือเศษเท่าไร เด็กๆก็ตอบได้ว่า เหลือเศษ 1

ถามว่า 289 หารด้วย 13 เหลือเศษเท่าไร

เด็กก็จะตั้งหารยาว ได้ผลลัพธ์เป็น 22 เหลือเศษ 3

เขียนในรูปเศษส่วน จะได้ $\frac{289}{13} = \frac{22(13) +3}{13} = \frac{22(13) }{13} + \frac{3}{13}$

จะเห็นว่า $\frac{22(13) }{13}$ ตัวเศษ มี 13 เป็นพหุคูณ หรือตัวร่วม ทำให้ หารด้วย 13 ลงตัว และมี $\frac{3}{13}$ เศษคือ $3$


แต่โจทย์ไม่ง่ายๆแบบข้างต้น มักเป็นการหารเลขยกกำลัง เช่น

$2^{10}$ หารด้วย $5$ เหลือเศษ เท่าไร

จงหาเศษเหลือจากการหาร $3^{100}$ ด้วย $7$

เศษเหลือจาการหาร $17^{1000}$ ด้วย $13$ เป็นเท่าไร

แบบนี้ถ้าทำแบบตั้งหารยาว คงยุ่งยากและยาวมากๆ

เราจะหาแนวทางในการหาเศษเหลือของตัวเลข $x^n$ ที่หารด้วย $p$

ค่อยๆทำความเข้าใจตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

banker
23 กรกฎาคม 2012, 12:17
งงเหมือนกัน ว่างงอะไร

Built
15 สิงหาคม 2012, 15:12
ยากจังคะ กำลังเริ่มมองหา time machine ใช้อยู่ เพราะลูกชายขึ้นป.4 แล้ว

เจมี่
26 พฤษภาคม 2022, 23:24
ตัวอย่างที่ 1

เศษเหลือที่ได้จากการหาร 2^100 ด้วย 5 เท่ากับเท่าใด

ไม่ได้ยากอะไรเลย
2^100 ≡ ? (mod 5)

2 ≡ 2 (mod 5)

2^2 ≡ 4 (mod 5)

2^3 ≡ 3 (mod 5)

〖〖(2〗^2)〗^50 ≡ 4^50(mod 5)

4^50 ≡ ? (mod 5)

4 ≡ 4 (mod 5)

4^2 ≡ 1 (mod 5) ( 16 หาร 5 เหลือเศษ 1)

〖〖(4〗^2)〗^25 ≡ 1^25(mod 5)

ตอบ เหลือ เศษ 1