Mathcenter Forum

Mathcenter Forum (https://www.mathcenter.net/forum/index.php)
-   ฟรีสไตล์ (https://www.mathcenter.net/forum/forumdisplay.php?f=6)
-   -   กวดวิชา นั้นสำคัญจริงหรือ ? (https://www.mathcenter.net/forum/showthread.php?t=12128)

เทพศาสตรา 29 ตุลาคม 2010 15:23

กวดวิชา นั้นสำคัญจริงหรือ ?
 
ในปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเรียนพิเศษ หรือกวดวิชา นั้นมีบทบาทความสำคัญมากสำหรับนักเรียนไทย
มากเพียงใด กว่า 90 เปอร์เซนต์ (อันนี้ตามความรู้สึก) ของนักเรียนไทย สอบเข้าได้ ไม่ว่าจะเป็น ระดับมัธยม ระดับมหาวิทยาลัย ที่เรียนดี ๆ ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาการเรียนพิเศษทั้งสิ้น จนทำให้สิ่งดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง
ที่สำคัญสำหรับนักเรียนไทยไปแล้ว ส่งผลถึงภาระที่ต้องเพิ่มขึ้นของ ผู้ปกครองที่อยากให้ลูก ๆ เรียนในที่ดี ๆ มีการศึกษาสูง โดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่าย ด้วยความคิดที่ว่า การศึกษาคือการลงทุน

แต่นิยามดังกล่าวก็ขัดความรู้สึกที่ผู้ปกครองหลายท่านมีต่อการศึกษา เช่น อยากให้มีการเรียนฟรี แต่กวดวิชาถึงไหนถึงกัน ทั้ง ๆ ที่การสอนในโรงเรียนกวดวิชา ก็สอนเหมือนกับที่โรงเรียนสอน เนื้อหาไม่ต่างกัน ซ้ำยังไม่ละเอียดเท่ากับที่โรงเรียนด้วยซ้ำไป แล้วใยผู้ปกครองหลายท่านจึงยอมจ่ายให้กับสิ่งเหล่านี้ เหตุก็เพราะความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าการเรียน
เสริมมากกว่าที่โรงเรียนจะสร้างโอกาสทางการศึกษาได้มากขึ้น แต่หารู้ไม่ว่าเงินที่ท่านเสียไปนั้นสูญเปล่า

ที่เป็นอย่างนี้เพราะ ในปัจจุบันการเรียนพิเศษนั้น มีการสอนอยู่ทุกระดับตั้งแต่ อนุบาล ไปจนถึง อุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) ลองนึกดูสิว่า กว่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัย ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไร ไม่ต้องคิดตั้งแต่อนุบาลก็ได้
เอาตั้งแต่ระดับมัธยมปลายจนถึงจบมหาวิทยาลัย ต้องจ่ายค่าเรียนเสริมไปเท่าไหร่ และค่าอื่นๆ เช่นค่าเล่าเรียน
ค่ากินค่าอยู่ และอื่นๆ อีกจิปาถะเท่าไหร่ แล้วจบปริญญาตรีมาทำงานเงินเดือน ขั้นต่ำประมาณ 8000 บาท
หักเป็นค่าแรงของเราเองเท่าไหร่ เหลือค่าวิชาความรู้เท่าไร คุ้มหรือไม่กับการเรียนพิเศษ ลงนึกดูนะครับ

และข้อเสียของการเรียนพิเศษมีมากมายหลายหลากมาก เป็นผลเสียระยะยาวที่เกิดขึ้นแล้วกับสังคมไทย
1. อะไรก็ตามได้มาง่าย ๆ จะทำ คือ การเรียนพิเศษ หรือเรียนเสริมนั้น เนื้อหาที่สอนเหมือนโรงเรียนทุกประการ
แต่แตกต่างกันตรงที่ เป็นการสรุปเนื้อหามาให้ผู้เรียนได้อ่านหรือศึกษา ไม่ต้องไปศึกษาหนังสือเล่มหนา ๆ
เพียงแค่ศึกษากับกระดาษไม่กี่แผ่นก็สามารถทำข้อสอบได้แล้ว จึงเป็นเหตุทำให้เด็กไม่ชอบอ่านหนังสือ หรืออ่านหนังสือไม่เป็น หรือเกียจคร้านมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดนิสัย ชอบทางลัด อะไรก็ตามที่ลงแรงน้อย
(ลงทุนมากไม่สน) ได้ผลตามต้องการก็ทำ แต่หารู้ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะส่งผลในระยะยาว คือ
ไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนอย่างถ่องแท้ แก้ปัญหาที่นอกเหนือจากโจทย์ที่เรียนไม่เป็น ไม่รู้จักกระบวนการการแก้ปัญหา เช่น ผมเป็นผู้ช่วยสอนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง น้อง ๆ ลองนึกถึงนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ น้อง ๆ คงจะร้องโห พี่ต้องเก่งคณิตศาตร์ กับฟิสิกส์อย่างมากเลย พี่สอบเข้าเรียนได้ไงอะ
เรียนยากไหมพี่ นี่เป็นภาพลักษณ์ภายนอกที่คนอื่น ๆ มอง แต่เมื่อได้สัมผัสจริง ๆ แล้วหนักกว่าที่คิด
คือ วิชาคณิตศาสตร์ ทฤษฏีพื้นฐานไม่รู้เรื่อง ให้ทำโจทย์ ก็ทำอย่างไรก็ได้ (เอาง่าย ๆ เข้าไว้) ขอให้ได้คำตอบ
ซึ่งคำตอบจะถูกได้อย่างไร ก็พื้นฐานไม่มี แล้วก็ตรวจคำตอบเองไม่เป็นว่าทำถูกหรือไม่หรือผิดตรงไหน
เพราะไร้ซึ่งพื้นฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอนที่โรงเรียนไม่ใช้กวดวิชา (กวดวิชาสอนแต่ทำโจทย์) แล้วอย่างนี้
จะเป็นวิศวกรที่มีคุณภาพได้อย่างไร ... เฮ้ออนาคตวิศวกรไทย นั่นจึงส่งผลต่อการทำงาน กล่าวคือ
จบมาแล้วไม่มีคุณภาพแล้วจะมีงานทำได้อย่างไร...ตกงานกันเยอะ สังคมไทยไม่พัฒนา ทั้ง ๆ ที่มีบัญฑิต
กันเกลื่อนเมือง แต่ไม่มีความคิดในการแก้ปัญหา...ไร้ซึ่งปัญญา

ถ้าเล่ากันจริงคงจะยาวไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังใหม่...ท่านผู้อ่านลองวิเคราะห์พิจารณาดูเองแล้วกันนะครับว่า
การเรียนพิเศษมีความสำคัญจริงหรือ ไม่ผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน....พ่อแม่ท่านใดที่ยังคิดว่าการเรียน
พิเศษให้ผลดีต่อลูกคุณจริง ๆ แล้วหละก็ลองพิจารณาให้รอบด้านนะครับ...อย่าให้เป็นดังนิทานเรื่องพ่อแม่รังแกฉัน

(ความคิดเห็นคือมุมมองใหม่ที่ช่วยให้เราเปิดโลกได้มากขึ้น...หาใช่การสร้างความขัดแย้งไม่...ชนใดเปิดกว้างรับความคิดเห็นชนนั้น...เป็น ผู้ถึงรู้ซึ่งโลกแห่งความจริงมากกว่าใคร)

Ai-Ko 29 ตุลาคม 2010 16:54

สวัสดีเจ้าค่ะ ส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษนะเจ้าคะ แต่ว่าตรงนี้อยากจะพูดถึงด้านดีของการเรียนพิเศษพอสังเขป ยังไงก็ลองรับฟังดูนะเจ้าคะ

ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าแม้การเรียนพิเศษจะเป็นกระแสอย่างหนึ่งในแวดวงการศึกษาของบ้านเรา แต่หากโรงเรียนสอนพิเศษไม่มีประสิทธิภาพจริงในระดับหนึ่ง คนก็คงไปไม่เรียน จุดแข็งอย่างหนึ่งของโรงเรียนสอนพิเศษ โดยเฉพาะสำนักที่มีชื่อเสียงก็คือ อาจารย์ในสถาบันมีคุณภาพจริงเจ้าค่ะ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ในสถาบันกวดวิชาเรียนมาสูงกว่าหรืออะไร แต่หมายถึง "มีความสามารถในการถ่ายทอด" เจ้าค่ะ แล้วถ้าถามว่าทำไมถึงกล่าวว่าอาจารย์ในสถาบันเหล่านั้นจึงมีความสามารถสื่อสารกับเด็กได้ดีกว่า คำตอบหนึ่งก็คือ สถาบันที่บุคลากรทำไม่ได้ก็ไม่ได้โด่งดังขึ้นมายังไงล่ะเจ้าคะ พูดง่ายๆ ก็คือที่ดังได้มันก็ต้องมีสาเหตุเหมือนกัน

หลายคนคงเห็นว่า โรงเรียนสอนพิเศษก็สอนเนื้อหาเหมือนกัน หรือบางทีละเอียดน้อยกว่าในโรงเรียนด้วยซ้ำ แล้วไปจ่ายเงินเพิ่มเรียนในที่อย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไร? ประโยชน์มันอยู่ตรงที่ต่อให้เป็นเรื่องเดียวกัน ความเข้าใจก็แปรตามวิธีอธิบายหรือถ่ายทอดได้มาก คนที่ไม่รู้เรื่องก็กลายเป็นรู้เรื่องได้ คนที่รู้เรื่องบางครั้งก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าตรงนี้ก็ต้องเอาไปชั่งกับราคาที่ต้องจ่ายว่าคุ้มค่าหรือไม่ แต่หากจะมองเพียงผิวเผินว่าก็เหมือนๆ กันแล้วไม่พิจารณาเป็นทางเลือกเลยก็คงด่วนสรุปเกินไปสักหน่อย

ประเด็นเรื่องต้องเสียค่าใช้จ่ายไปตั้งเท่าไรจึงจะจบการศึกษาออกมาได้ ตรงนี้สามารถมองได้ว่าการจ่ายเหล่านั้นเป็น "การซื้อความเป็นไปได้" เจ้าค่ะ ในแง่หนึ่งก็เหมือนกันการซื้อสลากกินแบ่งนั่นเอง หลายคนที่ซื้อแล้วไม่ได้รางวัลก็คงมองว่าถูกกินเงิน แต่สำหรับคนที่ได้ประโยชน์ บางครั้งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนอนาคตของตัวเองไปเลยเจ้าค่ะ การพยายามทุ่มเงินเรียนเพื่อให้ได้เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เป็นห้าอันดับแรก แทนที่จะต้องเข้าที่ที่ไม่ติดอันดับ หากลองคิดดีๆ จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพราะบ่อยครั้งสังคมก็ยังตัดสินคนๆ หนึ่งว่ามีคุณค่าแค่ไหนจากเพียงกระดาษหนึ่งใบอยู่ดี สรุปประเด็นเรื่องนี้ก็คือ ปัญหาไม่ได้เป็นสีขาว-ดำว่า "ควรหรือไม่ควรเรียนพิเศษ" แต่น่าจะอยู่ตรงเขตสีเทาว่า "เรียนพิเศษมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า?" มากกว่า อนึ่ง คำว่ามากหรือน้อยของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การทำไว้มากๆ เผื่อไว้ก่อนก็ใช่ว่าเป็นเรื่องดี อย่างที่เขาว่า "อ่านมากก็เจ็บมาก" เจ้าค่ะ

สุดท้าย ประเด็นเรื่องเด็กไทยมีความสามารถในการคิดน้อยลง ตรงนี้ก่อนอื่นคงต้องยกตัวอย่างค้านว่า เด็กในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเรียนพิเศษกันหนักยิ่งกว่าเมืองไทย (ถึงขั้นว่าที่เกาหลีเคยมีเหตุนักเรียนนักศึกษาประท้วงว่าพวกเขา "ไม่ใช่เครื่องจักรการเรียน" ที่เกิดมามีหน้าที่รับความรู้อัดเข้าไปในสมอง) แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าทรัพยากรคนของญี่ปุ่นหรือเกาหลีด้อยความสามารถด้านความคิด แสดงว่า ไม่ว่าเรื่อง "เด็กไทยคิดไม่เป็น" จะจริงหรือไม่ อย่างน้อยสาเหตุไม่ได้อยู่เพียงแค่ "เด็กเรียนพิเศษหรือไม่" เท่านั้นแน่ๆ เจ้าค่ะ

เรื่องที่เด็กเกียจคร้าน ชอบทางลัด พูดตรงๆ อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ในแง่หนึ่งวิทยาการส่วนใหญ่รอบตัวเราก็เกิดจากความรู้สึกว่า "น่าจะมีวิธีทำไอ้นี่ง่ายๆ จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น" อยู่แล้วเจ้าค่ะ เพียงแต่ว่านั้นเป็น "การขี้เกียจอย่างมีปัญญา" ซึ่งมีผลพลอยได้ทำให้โลกก้าวไปข้างหน้า (อย่างน้อยก็ในแง่ของระดับวิทยาการ) นอกจากนี้ หากพิจารณาธรรมชาติของ "ความรู้" ในโลก ไม่น้อยเลยที่เป็นส่วนต่อยอดจากที่มีอยู่แล้ว แน่นอน พื้นฐานที่ดีย่อมลดข้อผิดพลาดในการใช้ความรู้ได้ แต่ลองนึกดูดีๆ ความจริงคนส่วนใหญ่แทบไม่เคยเรียนรู้อะไรจากศูนย์จริงๆ เลย ไม่ว่าจะทฤษฎี สูตร แนวคิด มุมมอง เกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากจุดยืนที่ยกพื้นขึ้นมาแล้วระดับหนึ่งทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการวิจารณ์ว่าการเรียนรู้แบบดังกล่าวถือว่า "รู้เพียงผิวเผิน" หรือ "ไม่มีคุณค่า" อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงในโลกสักเท่าไร มุมมองตรงนี้ก็คือ ความเข้าใจถ้ามีได้ก็ยิ่งดี แต่ต่อให้ขาดไป ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไรขนาดนั้น

เราอาจติดภาพพจน์ว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากศูนย์ การเรียนที่แท้จริงต้องใช้หนังสือหนาๆ ต้องศึกษาตรึกตรองด้วยตนเอง คำอธิบายคร่าวๆ ที่ใช้คำง่ายๆ แลกกับภาพที่เข้าใจง่ายขึ้น หรือสูตรซึ่งจำได้แม่นแต่ไร้ที่มาเป็นสิ่งที่ควรขจัดให้หมดไป มองกลับกัน ทั้งหมดนั้นอาจชี้ว่าค่านิยมการศึกษาของสังคมมีปัญหา ลองคิดง่ายๆ หากเป็นเพลงหรือหนังหรือนิยาย ลองยึดติดกับหลักการจนเกินไปผู้บริโภคก็ย่อมไม่เลือกเป็นธรรมดา แล้วเวลาอย่างนั้นปกติฝ่ายที่ถูกตำหนิก็คือผู้สร้างที่ไม่มีความสามารถส่ง "สาร" ของตนเองไปหาผู้ฟังได้ แล้วทำไมพอเป็นเรื่องการศึกษา เราจึงคิดกลับกันว่าคนเรียนนั่นล่ะผิดที่ไม่เข้าใจ ทั้งที่ถ้าเปรียบเทียบกัน ชั้นเรียนไม่น่าสนใจหรือหนังสือเข้าใจยาก ก็ไม่ได้ต่างจากเพลงตลาดซ้ำซากหรือหนังเกรดบีขนาดนั้น ถ้าอย่างนั้นหากผู้บริโภคยุคใหม่จะวิ่งเข้าหาผู้ผลิตที่ดีกว่าก็คงไม่แปลกอะไร

หากจะสอนให้คนพยายาม เราควรสร้างแรงจูงใจและให้ผู้เรียนได้สัมผัสว่า "ดูสิ พยายามแล้วสำเร็จมันรู้สึกดีอย่างนี้ไงล่ะ" จนอีกฝ่ายเห็นถึงคุณค่าของความพยายามว่ามันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะลงมือด้วยตัวเอง ไม่ใช่พร่ำพูดปากเปียกปากแฉะว่าความพยายามนั้นดีอย่างไร โลกเราพูดกันตรงๆ เป็นที่ซึ่งความพยายามส่วนใหญ่ละลายหายไปกับอากาศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่คนๆ หนึ่งจะไม่อยากพยายามนั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย

สุดท้าย อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนพิเศษโดยตรง แต่ถ้าถามว่าแล้วความจริงสาเหตุของความล้มเหลวของระบบการศึกษาอยู่ตรงไหน ก็คงต้องบอกว่าอยู่ที่ "ทัศนคติ" ที่แฝงมากับระบบนั่นเอง จำได้ไหมว่าการเรียนหนังสือเป็นหน้าที่ของเยาวชนทุกคน และระบบที่ว่ามีชื่อว่า "การศึกษาภาคบังคับ" ใช่แล้ว คำว่าบังคับตรงนั้นเองที่มีผลกระทบต่อทัศนคติของผู้เรียนอย่างมาก เรา "บังคับ" ให้เด็กต้องรู้สิ่งนู้นสิ่งนี้ หล่อหลอมให้เป็นคนในอุดมคติ (คุณฟังไม่ผิด เรากำลังเลี้ยงดูเยาวชนของเราให้เป็นคนในอุดมคติ ไม่ใช่คนที่อยู่ในโลกความจริงได้) ใครเจอเรื่องแบบนี้ก็ย่อมรู้สึกต่อต้านเป็นธรรมดา แล้วผลก็ออกมาที่เด็ก ไม่สิ คนในสังคมส่วนใหญ่มีความรู้สึกกับวิชาที่ตนไม่สนใจว่า "เรียนไปทำไม ไม่เห็นได้ใช้" เราไม่มีความรู้สึกยินดีที่ได้รู้ ไม่มีความกระตือรือร้นอยากจะรู้ เพราะเราถูกยัดเยียดในสิ่งที่เราไม่ต้องการจนไม่มีความหิวกระหายนั้นอีกแล้ว เพราะเราเชื่อว่ารู้ไปชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น ทัศนคติอย่างนี้ต่างหากที่เป็นต้นเหตุของปัญหาระบบการศึกษา หากจะแก้ไข เราต้องเหนี่ยวนำให้คนเรียนเกิดความรู้สึกว่าเรื่องต่างๆ แม้ตนอาจจะไม่สนใจก็ไม่ได้แปลว่ามันไร้ค่า วิธีการเป็นรูปธรรมก็เช่น การปรับปรุงเนื้อหาการเรียนของแต่ละวิชาว่า นอกจากสอนเนื้อหาแล้ว เราควรถ่ายทอดวิชาให้น่าสนใจด้วยการเล่าประวัติที่มา หรือสิ่งที่สามารถทำได้เป็นรูปธรรมด้วยความรู้นั้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากับความรู้อื่นๆ ให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าองค์ความรู้ทั้งหมดนั้นมีความเชื่อมโยงกัน เช่นหากเรียนเรื่องการเคลื่อนที่วิถีโค้ง (projectile) แทนที่จะบอกเหมือนโยนความรับผิดชอบให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยว่านี่คือกลศาสตร์พื้นฐาน มีความสำคัญต้องเรียนรู้ไว้ สู้เล่าให้นักเรียนฟังไปเลยไม่ดีกว่าหรือว่า "เรื่องนี้อิงจากสภาพสังคมจริงในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ คุณเป็นอาจารย์ประจำวิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเล็กๆ แห่งหนึ่ง วันหนึ่งมีจดหมายมาจากอาจารย์สมัยเรียนของคุณว่า 'เจ้าเมืองผมต้องการหาวิธีเล็งปืนใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดจำนวนกระสุนที่เสียเปล่า ผมเชื่อว่าหากคุณร่วมมือกับผมแล้วผมสามารถขอให้เจ้าเมืองสนับสนุนให้ตั้งตำแหน่งอาจารย์เพิ่มใน ม. ชื่อดังที่นี่ได้ คุณสนใจไหม?' คุณจะทำอย่างไร?"

ไม่รู้ว่าเขียนนอกเรื่องหรือเปล่า แต่ยังไงก็ขอฝากความคิดเห็นส่วนตัวไว้ตรงนี้ด้วยเจ้าค่ะ

Siren-Of-Step 29 ตุลาคม 2010 17:15

ตามความคิดเห็นของนักเรียน (หมายถึง ตัวผม) สมัยนี้การแข่งขันมีสูงขึ้น ภาระของนักเรียนก็ยิ่งมีมากขึ้น ส่วนตัวผม ม.ปลาย แทบจะไม่มีเวลาอ่านหนังสือ เหมือน ม. ต้น (งานภาระที่บ้าน , การบ้านที่โรงเรียน) ปิดเทอมก็มีการบ้าน ผมต้องหาที่เรียนพิเศษเรียน บางวิชา คือ ฟิิสิกส์ เคมี เพื่อ เสริมความรู้และเทคนิคในการทำโจทย์ ทั้งนี้ ก็ต้องอ่านหนังสือควบคู่ไปด้วยส่วนหนึ่ง ความคิดของนักเรียนส่วนใหญ่ คิดว่า เอาเงินไปทิ้งกับที่เรียนพิเศษที่ดัง ๆ คนติดเยอะ ไม่หมั่นทบทวน หรือศึกษาเพิ่ม หวังว่าเรียนที่นี้ เรียนแล้ว จะติดมหาวิทยาลัย เหมือนกับคิดว่าเราเรียนที่นี้ เปอร์เซ็นต์จะติดเยอะกว่าที่อื่น ๆ มันเป็นอยู่ในนักเรียนส่วนใหญ่จริง ๆ

คusักคณิm 29 ตุลาคม 2010 19:07

เอาง่ายๆนะครับ
ถ้าผมหยุด แล้วคนอื่นจะหยุดตามไหม ?
หยุดไป ทำไงดีล่ะอ่านก็ไม่ทัน
อย่างเช่น บทหนึ่งๆ โรงเรียนใช้ 10 ชม. กวดวิชา 1ชม.เศษๆก็เสร็จ อ่านเอง 2 ชม.(แถมcontrol ตัวเองก็มิได้ == อ่านไปกินไป)

ตอนนี้ที่รร. ก็จะบ้าตาย ! กีฬาสี ครูไปอบรม พาเด็กไปแข่ง ==

LightLucifer 29 ตุลาคม 2010 21:31

แล้วแต่คนชอบ

ส่วนตัวไม่ได้เรียนพิเศษที่ tutor แต่เรียน ที่ รร จัดให้

แต่ก็ทำคะแนนได้ดีกว่าคนที่เรียนพิเศษตาม tutor อยู่หลายคน

การอ่านเองบางทีก็ให้อะไรที่แตกต่างจากการไปเรียนพิเศษ

แต่การเรียนพิเศษก็ให้มุมมองที่อ่านเองแล้วจะไม่เห็นเช่นกัน

ปล. #2 ผมก็ชอบนะ Touhou อ่ะ

nooonuii 29 ตุลาคม 2010 22:32

ผมมีแค่สองอย่างนี้ตลอดระยะเวลาที่เป็นนักเรียนมา

1. ทัศนคติที่มีต่อวิชาที่เรียน

2. เวลาที่หมดไปกับการศึกษาค้นคว้า และ ฝึกฝนตัวเอง

ในชีวิตนี้ผมไม่เคยเรียนพิเศษกับอาจารย์ท่านไหนแบบตัวต่อตัว

แต่ผมเคยเรียนพิเศษกับอาจารย์ผู้เขียนหนังสือมากกว่าร้อยเล่มที่ผมเคยอ่าน

(และเรียนพิเศษกับอาจารย์ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนจากหนังสือการ์ตูนอีกนับพันเล่ม :D)

ถ้าหากผู้เรียนมีสองอย่างนี้แล้ว ผมว่าเรียนพิเศษก็ดี เพราะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้เรียนยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ถ้าไม่มีสองอย่างนี้แล้วบางครั้งเรียนพิเศษก็เปล่าประโยชน์

ผมเคยรู้สึกว่าการเรียนพิเศษเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์สำหรับคนๆหนึ่งมากๆ

เมื่อมีครั้งหนึ่งผมรับงานติวจากอาจารย์ท่านหนึ่ง เด็กที่จะมาติวคือลูกชายท่านเอง

ผมติววิชาแคลคูลัส เด็กคนนี้ติด F มาต้องการแก้เกรด ผมตั้งใจเต็มที่

แต่ผมกลับรู้สึกว่าผมไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดีของตัวเองเลย เพราะน้องที่ผมติวอยู่เขาไม่มีทั้งสองอย่างที่ผมกล่าวมา

เขามาติวก็เพราะผู้ใหญ่ให้มาติว ติวเสร็จกลับบ้านก็ไม่เคยหาเวลามานั่งทบทวนสิ่งที่เรียนไปเลย

ผมทราบเพราะว่าเรียนเสร็จผมฝากโจทย์ให้เขาไปทำ โจทย์ก็ไม่ได้ยากอะไรทำตามที่เรียนทุกอย่าง

เจอกันอีกครั้งเขาก็ไม่ได้ทำมา สุดท้ายผมก็เลิกรับงานนี้ไป

ครูนะ 30 ตุลาคม 2010 15:39

ตอนนี้ผมพบแล้วว่า

กวดวิชาจำเป็นมากครับ

ครูในโรงเรียนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ด้อยคุณภาพมาก

อย่าให้เอ่ยชื่อโรงเรียนเลยครับ ยกเว้น เตรียมอุดม, Mwit

แต่ยังมีโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐ บางโรงที่มีคุณภาพ

แต่ที่ด้อยคุณภาพมีอีกมาก สงสารเด็กไทย ที่มีแต่ครูห่วยๆ เกือบทั้งประเทศ

ที่ดีก็มีครับ ผมเห็นใจมากครับที่ครูดีๆ เก่งๆ อีกหลายๆ ท่าน ที่มีเป็นส่วนน้อยมาก

ต้องมารับภาระอันหนักหน่วงของความทุเรศในระบบการศึกษาไทย

นี่กรณีเฉพาะในกรุงเทพฯ ถ้าเป็นในต่างจังหวัดจะเลวร้ายกว่านี้หรือไม่ ไม่รู้

เท่าที่ผมสัมผัสมาระยะหนึ่ง พบว่าเด็กไทยคิดไม่เป็น

เด็กนักเรียนไทยในกรุงเทพฯ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เรียนพิเศษหมดเลย

เพราะในโรงเรียนไม่มีเทคนิคพิเศษมากพอที่ให้เด็กไปถึงสิ่งที่เขาต้องการได้

จะบอกว่ากวดวิชาคิดลัดนั้นไม่ใช่ มีบางที่สอนวิธี Learn How To Learn ด้วยซ้ำ

ตอนนี้กลับกันแบบ 360 องศาเลยครับ โรงเรียนไม่มีคุณภาพแน่นอน

นี่แหละคุรุสภา ที่คัดครูแบบลวกๆ

ครูที่มีพื้นความรู้เน่าๆ อยู่ในระบบเยอะมาก เกี่ยวกับข้อสอบคัดครูไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ ไม่รู้

หรือจะเอาคนดีมาเป็นครูก่อน ความรู้ไว้ทีหลัง แล้วไอ้ที่อยู่ในระบบ มันดีจริงไหม

หรือว่ายังล้างไอ้พวกที่ไม่ได้อยากมาเป็นครู แต่ดันเข้าระบบมาเป็นครู เพราะหางานอะไรทำไม่ได้ ยังไม่หมดก็ไม่ทราบได้

(มีอยู่ยุคหนึ่ง ที่รัฐเร่งผลิตครู แล้วมีกลุ่มประชากรกลุ่มหนึ่งที่สอบอะไรก็ไม่ได้ แล้วหันมายึดอาชีพครู)

นี่ไง พวกควายบางคนที่อยู่ในกระทรวงหรือคุรุสภา มาคุมระบบการศึกษาไทยไง

ครูเงินเดือนน้อย ครูมีงานอื่นๆ โดยเฉพาะงานเอกสาร ไอ้พวกแผนการสอน ผลงานประเมิน ห่าบ้าบอ

(ไอ้พวกนี้มันเสียเวลาและไม่ได้ผลด้วย ประเมินอะไรไม่ได้เลย ทำไว้หลอกควายบางคน)

ครูไม่มีเวลาเตรียมสอน หลักสูตรนักเรียนเรียนเยอะมาก กิจกรรมเยอะ นักเรียนห้องนึง 40 - 50 คน

ที่สำคัญตอนนี้ครูบ้าทำผลงาน ทำแต่อาจารย์สาม เพราะนั่นหมายถึงเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 12000 บาท

(ไม่เป็นเงินเดือนเพราะเดี๋ยวเกษียณอายุข้าราชการ เงิน บำเหน็จ บำนาญจะเยอะไป)

ครูบางคนไปจ้างให้พวกเรียนจบ ป.โท วิจัยทางการศึกษา ทำวิจัยส่งก็มี อย่าให้เอ่ยชื่อเลย ตอนนี้เป็นอาจารย์สามไปแล้ว

ผมเคยอยู่ในวงการนี้และเคยสัมผัสมา ผมรู้ มันเจ็บปวดมาก คนดีๆ ที่ตั้งใจอยากทำอาชีพครู

ตอนนี้ท้อแล้วครับ

ที่สำคัญตอนนี้นักเรียนแทบจะไม่มีความรู้เลยในโรงเรียน กวดวิชาถึงได้บานเป็นดอกเห็ด

ใจจริง ผมบอกตรงๆ เลย ไม่อยากสอนกวดวิชาแต่สอนเพราะจำเป็นต้องกิน ต้องใช้ ไม่งั้นอดตาย

และบอกตรงๆ ผมไ่ม่ได้ต้องการเงิน หรือตำแหน่ง ผมเพียงแค่อยากอยู่กับคณิตศาสตร์และมีเงินพอประทังชีวิตไปวันๆ เท่านั้น

ใครที่บอกว่ากวดวิชาไม่จำเป็น เป็นไปไม่ได้แน่นอน ตอนนี้จำเป็นมากครับ เนื่องจากวิกฤตของระบบโรงเรียนไทย

เคยเห็นไหม โรงเรียนกวดวิชาเปิดวีดีโอให้เด็กดู ขนาดวีดีโอ 2,000 บาทต่อเดือน ก็มีเด็กไปนั่งอัดเรียนกัน

(กวดวิชาพวกนี้ผมขอประนามเลย ว่าทำทุเรศมากๆ การศึกษาไม่ใช่เรื่องเอามาค้าำกำไร การศึกษาคือ ความดี ความงาม

และความจริง ไม่ใช่เงิน)

เพราะโรงเรียนมันไม่ใช่แหล่งเรียนรู้ของนักเรียนไง อย่ามาโทษนะว่านักเรียน เรียนพิเศษ จึงทำให้ไม่ตั้งใจเรียนในโรงเรียน

แต่ที่แน่ๆ ครูในระบบ ตอนนี้ออกมาสอนกวดวิชากันเกือบ 50% เพราะมันไม่พอกิน

ส่วนที่เทพศาสตราว่านั้น ผมพบว่ามี Tutor อีกมากที่สอนดีมากๆ เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มเด็กมีหลากหลายมาก

(ทีแรกคิดว่า Tutor นั้นคล้ายๆ กันหมด แต่จริงๆ ไม่ใช่เพราะ Tutor จะเปิดเน้นไปตามกลุ่มเด็ก)

กลุ่มเด็ก กลุ่มหนึ่งที่เรียน Tutor ที่นึง มาเีทียบกับกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งที่เรียน Tutor อีกที่หนึ่งไม่ได้ครับ

อย่างนักเรียนที่ได้เหรียญทองแดงคณิตศาสตร์โอลิมปิกตอนอายุ 13 แกก็ต้อง Tutor มาก่อนครับ ซึ่งนักเรียน

คนนี้ก็เคยเรียน Tutor ที่บ้านคณิตโบราณ ตรงซอยจุฬา 11 มาก่อนครับ

หยินหยาง 30 ตุลาคม 2010 18:56

ก่อนอื่นต้องการบอกข้อมูลที่ถูกต้องก่อน ว่าเด็กโอลิมปิกที่ครูนะหมายถึงเป็นคนไทยหรือเปล่า ถ้าใช่เหรียญแรกที่ได้เป็นเหรียญเงิน และปีต่อมาเป็นเหรียญทองและได้ที่ 8 ของโลกด้วย (ถ้าจำไม่ผิด) ส่วนการเรียนพิเศษจำเป็นหรือไม่ นั้นผมว่าคงต้องดูกันหลายมิติครับ ถ้ามีเวลาจะมาร่วมแสดงความเห็นด้วย :happy:

คusักคณิm 30 ตุลาคม 2010 19:42

วิดีโอ>> ส่วนใหญ่ 2000 บาท กว่าๆ / คอร์ส นะครับ

catengland 30 ตุลาคม 2010 20:45

ก็สำคัญนะ ผมก็เรียนอยู่ ผมเรียนอังกฤษอะ เรียนเพื่อเพิ่มพูนคำศัพท์เอาไว้อ่าน text book อะไรพวกนี้

nooonuii 31 ตุลาคม 2010 03:38

อย่าเพิ่งหมดหวังเลยครับ ยังมีอะไรต้องทำกันอีกเยอะ

โรงเรียนกวดวิชาจะดีหรือไม่ดีตัวผู้เรียนจะเป็นผู้ตัดสินเองครับ

มันเป็นกลไกที่เป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมโรงเรียนกวดวิชาผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

ผมมองว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากปากท้องของประชาชนนั่นแหละครับ

ในเมื่อรัฐทำให้ประชาชนปากท้องอิ่มไม่ได้ ประชาชนก็ต้องดิ้นรนกันไป

ผมเองก็เคยตกอยู่ในสภาพนั้น

เรื่องที่ว่าครูดีมีน้อยกว่าครูที่ไม่ดีนั้นผมไม่ทราบ

แต่ผมคิดว่าสังคมไม่ควรฝากความหวังไว้กับคนอาชีพใดอาชีพหนึ่งเพียงอย่างเดียว

โดยเฉพาะอาชีพครูที่หลายคนบอกว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติ

สำหรับผมแล้วครูที่ดีที่สุดอยู่ที่บ้านไม่ใช่ที่โรงเรียน

-Math-Sci- 31 ตุลาคม 2010 09:39

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ nooonuii (ข้อความที่ 101797)

สำหรับผมแล้วครูที่ดีที่สุดอยู่ที่บ้านไม่ใช่ที่โรงเรียน

ชอบมากครับ :great:

SolitudE 31 ตุลาคม 2010 10:50

ผมว่าก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วยละครับ

ยกตัวอย่างจากคนที่รู้จัก เรียนพิเศษแทบจะทุกวิชา ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีผลงานหรือผลการเรียนกว่าเพื่อนที่ไม่ได้เรียน หรือ เรียนน้อยกว่าสักเท่าไร

นั่นก็เพราะเรียนมามากมาย แต่กลับไม่ทบทวน

ส่วนเรื่องที่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ แต่มีเวลาไปเรียนพิเศษ(+เวลาเดินทางไปเรียนด้วย) ฟังดูขัดแย้งนิดๆ = =

ส่วนการเรียนพิเศษนอกจากการเรียนเพื่อเพิ่มความรู้?

ก็มักจะสาเหตุอื่นแฝงไปด้วยเล็กน้อย เช่น ตามเพื่อน(กลัวว่าถ้าไม่เรียนจะไม่.........) หรือ แม้กระทั่งเพื่อไปพบใคร?

บางทีถ้าโรงเรียนสอนตามความต้องการของนักเรียนได้ และนักเรียนเองก็ทบทวนเนื้อหาที่เรียนด้วย

การเรียนพิเศษอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญก็ได้ครับ

ปล. ผมว่าหลักสูตรของห้องเรียนพิเศษบางโรงเรียน ยังไม่ทำให้ผมรู้สึกว่า"พิเศษ"เลยนะครับ

LightLucifer 31 ตุลาคม 2010 15:24

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ SolitudE (ข้อความที่ 101806)

ปล. ผมว่าหลักสูตรของห้องเรียนพิเศษบางโรงเรียน ยังไม่ทำให้ผมรู้สึกว่า"พิเศษ"เลยนะครับ

ของผมเห็นตารางสอนแล้วแทบร้องไห้เลยครับ :cry::cry:

SolitudE 31 ตุลาคม 2010 15:50

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ LightLucifer (ข้อความที่ 101845)
ของผมเห็นตารางสอนแล้วแทบร้องไห้เลยครับ :cry::cry:

ของคุณ LightLucifer คงเป็นพิเศษแบบเพิ่มเนื้อ

แต่ที่ผมเจอมาเป็นพิเศษแบบเพิ่มน้ำ เพิ่มกระเทียมเจียวและผักชี(โรยหน้า) :cry:

หยินหยาง 31 ตุลาคม 2010 18:36

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ SolitudE (ข้อความที่ 101806)

ปล. ผมว่าหลักสูตรของห้องเรียนพิเศษบางโรงเรียน ยังไม่ทำให้ผมรู้สึกว่า"พิเศษ"เลยนะครับ

เป็นไปได้ไง ผมว่าเป็นเหมือนกัยทุกโรงเรียนนะครับ ที่ว่า พิเศษ หมายถึง แพงเป็นพิเศษ ใช่มั้ยครับ :D:D

yonexyy 31 ตุลาคม 2010 20:46

ที่โรงเรียนผมว่าสอนไม่ละเอียด แถมครูบางคนสอนตามเนื้อวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งมันใช้ได้น้อยมากในการสอบเข้า แล้วครูก็บอกว่า อันยากๆไปหาเรียนเอาข้างนอก

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ หยินหยาง (ข้อความที่ 101855)
เป็นไปได้ไง ผมว่าเป็นเหมือนกัยทุกโรงเรียนนะครับ ที่ว่า พิเศษ หมายถึง แพงเป็นพิเศษ ใช่มั้ยครับ :D:D

จริงครุบ ผมก็เรียนอยู่ห้องพิเศษ แต่ก็เรียนพิเศาข้างนอกอีกอยู่ดี แต่ก็มีสอนเสริมใน รร.ที่เพิ่มมา ปล .เด็กที่เก่งที่สุดในรุ่นกลับอยู่ห้องธรรมดา

SolitudE 01 พฤศจิกายน 2010 07:31

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ หยินหยาง (ข้อความที่ 101855)
เป็นไปได้ไง ผมว่าเป็นเหมือนกัยทุกโรงเรียนนะครับ ที่ว่า พิเศษ หมายถึง แพงเป็นพิเศษ ใช่มั้ยครับ :D:D

อาจจะใช่นะครับ เรียนเหมือนห้องสายวิทย์ทุกวิชา แต่มีโครงงานเพิ่มมาวิชาเดียว

ค่าเทอมเพิ่มมา 5 เท่า :tired:

เทพศาสตรา 01 พฤศจิกายน 2010 13:49

เรียนพิเศษใช่ว่าไม่ดีครับ ผมไม่ปฏิเสธ แต่ถ้าคุณเลือกประหยัดค่าใช้จ่ายในการเรียนได้ (ช่วยพ่อแม่)
หันมาลงแรง (ศึกษาด้วยตนเอง) มากกว่า ลงทุน (เงิน) ดีกว่าไหม

อย่านึกถึงแต่เพียงความสำเร็จ ให้นึกถึงความคุ้มค่า และความยั่งยืน (รู้จักหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาคนเองมากเกินไป)

คำถาม ? มีคนสองคนเป็นเพื่อนกัน สอบเข้ามหาวิทยาลัย คณะเดียวกัน ที่เดียวกัน
อีกคนเรียนพิเศษ อีกคนศึกษาด้วยตนเอง ถาม คุณคิดว่าใครประสบความสำเร็จมากกว่ากัน
และอนาคตทั้งสองคนใครลำบากในการเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่ากัน

คุณกัญญา 01 พฤศจิกายน 2010 16:55

เราก็เป็นคนนึงที่เรียนกวดวิชานะ
แต่ว่าถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากเรียนหรอก เพราะมันแพงอะครับ
แต่ปัญหามันอยู่ที่
1.โจทย์(+เฉลย)หายาก
2.โจทย์ตามหนังสือเฉลยผิดเพียบ
จำได้ว่าเคยทำข้อสอบผิดเพราะอ่านหนังสือเรื่องสถิติสำนักพิมพ์ PSP (จำชื่อไว้นะ อย่าซื้อมัน)
3.เนื้อหาบางอย่างโรงเรียนไม่สอนเราอะ(หรือเรียนไม่ถึงก็ไม่รู้)

-Math-Sci- 01 พฤศจิกายน 2010 18:55

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ SolitudE (ข้อความที่ 101893)
อาจจะใช่นะครับ เรียนเหมือนห้องสายวิทย์ทุกวิชา แต่มีโครงงานเพิ่มมาวิชาเดียว

ค่าเทอมเพิ่มมา 5 เท่า :tired:

เท่ากันเลยครับ ของผมประมาณ 6 เท่า :haha::haha:

Amankris 28 ธันวาคม 2010 14:23

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ เทพศาสตรา (ข้อความที่ 101908)
คำถาม ? มีคนสองคนเป็นเพื่อนกัน สอบเข้ามหาวิทยาลัย คณะเดียวกัน ที่เดียวกัน
อีกคนเรียนพิเศษ อีกคนศึกษาด้วยตนเอง ถาม คุณคิดว่าใครประสบความสำเร็จมากกว่ากัน
และอนาคตทั้งสองคนใครลำบากในการเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่ากัน

แล้วถ้าเป็นแบบนี้ละครับ

คนหนึ่ง เรียนพิเศษ และศึกษาด้วยตนเอง
อีกคนหนึ่ง ศึกษาด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว

ผลลัพธ์จะต่างกันไหม

Influenza_Mathematics 28 ธันวาคม 2010 16:49

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ Amankris (ข้อความที่ 106858)
แล้วถ้าเป็นแบบนี้ละครับ

คนหนึ่ง เรียนพิเศษ และศึกษาด้วยตนเอง
อีกคนหนึ่ง ศึกษาด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว

ผลลัพธ์จะต่างกันไหม

เอิ่ม ... ผมว่าไม่แน่นะ แต่สำหรับเทคนิคผมว่าคนเรียนพิเศษได้เยอะกว่านะ
ถ้าเป็นคณิต ผมว่าศึกษาด้วยตัวเองดีสุดแล้ว :)

มารบูรพา 28 ธันวาคม 2010 20:33

สำหรับผมไม่เคยเรียนพิเศษ ไม่เคยเรียนกวดวิชา
อ่านหนังสืออย่างเดียว
ฝึกทำโจทย์คณิตฯ บ่อยๆ ของพวก สมาคมคณิตฯ เนี่ย ดี
ส่วนวิชาอื่นผมไม่รุ้ 555+

"หนังสือคือเพื่อนที่อดทนที่สุด และเป็นเพื่อนที่เงียบที่สุดของเรา"
- By Abraham Lincoln -

Influenza_Mathematics 28 ธันวาคม 2010 21:32

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ มารบูรพา (ข้อความที่ 106880)
สำหรับผมไม่เคยเรียนพิเศษ ไม่เคยเรียนกวดวิชา
อ่านหนังสืออย่างเดียว
ฝึกทำโจทย์คณิตฯ บ่อยๆ ของพวก สมาคมคณิตฯ เนี่ย ดี
ส่วนวิชาอื่นผมไม่รุ้ 555+

"หนังสือคือเพื่อนที่อดทนที่สุด และเป็นเพื่อนที่เงียบที่สุดของเรา"
- By Abraham Lincoln -

ผมอยากให้คุณมองถึงปัจจุบันครับ
บอกตรง ๆ หลักสูตรการเรียนเมืองไทยนี่ห่วยมาก ๆ หลักสูตรห่วย + ครู(บางคน) ห่วย >> เด็กไม่มีคุณภาพ
ผมสนับสนุนการเรียนกวดวิชานะครับ แต่ต้องเลือกที่เรียนด้วย คงแล้วแต่มุมมองของคนอะครับ

อยากถามคนในบอร์ดข้อนึงครับ เราเรียนเพื่อหาความรู้ หรือ เรียนเพื่อเก็งข้อสอบกันแน่ :confused::ohmy:

GhostembeR 28 ธันวาคม 2010 23:49

เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่มาทบทวนด้วยตัวเอง
ถึงจะพูดอย่างงี้แต่ผมก็เรียน --*
เพราะโรงเรียนคือตัวปัญหา รร.ที่ผมอยู่สอนเนื้อหาไม่ครบ
สอนบทสลับมั่วหมด สอนไม่รู้เรื่อง สอนแบบจะรีบปล่อย บางทีสอนไม่ถึงครึ่งคาบก็ปล่อย
เซ็ง !!

GhostembeR 28 ธันวาคม 2010 23:56

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ หยินหยาง (ข้อความที่ 101855)
เป็นไปได้ไง ผมว่าเป็นเหมือนกัยทุกโรงเรียนนะครับ ที่ว่า พิเศษ หมายถึง แพงเป็นพิเศษ ใช่มั้ยครับ :D:D

+1000 ห้องเรียนพิเศษรร.ผมไม่ต่างละไรกับห้องเรียนธรรมดาเลย
เสียดาย 7000 ที่จ่ายไป :cry::cry::cry:

Amankris 29 ธันวาคม 2010 00:32

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ GhostembeR (ข้อความที่ 106894)
เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่มาทบทวนด้วยตัวเอง

เห็นด้วยครับ


ผมว่าควรจะ เรียนและศึกษาด้วยตนเอง จะมีประสิทธิภาพสูงสุด


แบ่งสัดส่วนอย่างไรนั้น ขึ้นกับแต่ละบุคคล

theme2010 29 ธันวาคม 2010 08:31

การจะเรียนพิเศษหรือไม่ก็คงอยู่ในดุลพินิจของแต่ละบุคคล ถ้าเราคิดว่าศึกษาด้วยตนเองได้ หรือ พ่อแม่ ฐานะทางบ้านไม่ดีก็ไม่ต้องเรียนครับ
แล้วถามว่ามันมีผลต่อการเรียนในระบบปกติหรือไม่ ผมก็ตอบไม่ได้ว่ามันจะเป็นทุกคนหรือไม่ แต่หลานผมเองเรียนอยู่ชั้น ป.3 ร.ร.เอกชน
ต่างจังหวัด ตอนเรียนอยู่ ป.2 สอบได้ 4 ทั้งหมดยกเว้น อังกฤษได้ 3 (78) คะแนน ที่โรงเรียนนี้ใช้ครูฟิลิบปินส์สอน พ่อเขาก็เลยพาไป
สมัครเรียนพิเศษกับครูคนไทยที่จบโทจาก อเมริกา คอร์สหนึ่งเรียน 30 ชม. ตก 2,900 บาท เรียนทุกวันอาทิตย์ ปรากฏว่า ป.3 เทอม
ที่ผ่านมา อังกฤษหลักได้ไป 94 อังกฤษเสริม 98 แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าหลานผมมันเก่งขึ้นเพราะเรียนพิเศษหรือเปล่า?

LEEMA 06 ตุลาคม 2012 01:15

ขอขุดกระทู้ขึ้นมาหน่อยนะครับ...:3.. พอดีมีข้อสงสัยบางประการ แฮะๆ ....อยากให้ผู้รู้หรือกูรูช่วยหาข้อสรุปทีครับ
การเรียนกวดวิชานั้นจำเป็นเสมอไปหรือไม่? ถ้าไม่เรียนแล้วจะสอบมหาลัยดังๆไม่ติดหรือครับ?
บ้างก็ว่าให้เดินทางไปเรียนพิเศษในกรุงหรือปริมณฑล เพราะ เนื้อหา ทันสมัย แน่นและประหยัดเวลากว่าภายนอก อันนี้จริงหรือครับ?


สุดท้ายครับอยากถามเรื่องการอ่านเองค้นคว้าเอง พวกพี่ๆมีเทคนิคอย่างไรในการอ่านหนังสือให้เข้าใจแล้วทำข้อสอบประยุกต์ได้สบายๆ :please:

Form 07 ตุลาคม 2012 11:39

การเรียนกวดวิชานั้นจำเป็นเสมอไปหรือไม่? ถ้าไม่เรียนแล้วจะสอบมหาลัยดังๆไม่ติดหรือครับ?

อันนี้แล้วแต่คนเลยครับ คุณอาจจะเห็นว่าบางคนเรียนพิเศษแทบทุกวันกับอีกคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษแต่ผลการเรียนไม่ได้ต่างกัน
นั้นอาจจะเป็นเพราะคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษเขาสามารถอ่านหนังสือเอง เรียนเองทำความเข้าใจเองได้แต่เด็กบางกลุ่มบางทีก็ต้องการคนที่จะคอยแนะนำแนวทางให้
อย่างผมเคยมีเพื่อนคนนึงตอนเรียน ม ต้น แรกๆก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากมาย เรียนๆ เล่นๆธรรมดา แต่พอปิดเทอม เมษาเขาไปเรียนพิเศษมากลับมาที่ รร
ผมรู้สึกได้ว่าผลการเรียน ความคิด ต่างๆ ก็ดีขึ้นจนเป็นคนละคนเลยครับ แล้วเขาก็มีความตั้งใจเรียนมากกว่าแต่ก่อนมาก เขาก็เป็นคนๆนึงที่ทำให้ผมตั้งใจเรียน หาหนังสืออ่านทบทวนมากขึ้นเหมือนกันครับ
ส่วนถ้าไม่เรียนแล้วจะสอบมหาลัยดังๆไม่ติด อันนี้ไม่จริงเลยครับแต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวของนักเรียนเองมากๆๆๆ เลยครับ
เพราะคนที่ไปเรียนพิเศษ 70% ไปนั่งในห้องเรียนแต่ไม่ได้เรียน อันนี้ใครเคยไปเรียนพิเศษจะเจอบ่อยมากเลยครับ แต่คนที่เรียนจริงๆส่วนใหญ่เรียนกันทั้งวัน
และคนพวกนี้ก็เป็นเด็กที่เรียนดีอยู่แล้วด้วยครับ ผมมีเพื่อนบางคนไม่ได้เรียนพิเศษอะไรเลย แต่เขาก็อ่านหนังสือเอง สม่ำเสมอวันนึงหลาย ชม. ครับ
ซึ่งผมยอมรับเลยว่าผมทำแบบเขาไม่ได้จริงๆ 555 สำหรับผมแล้วการเรียนกวดวิชา 2 ชม. ให้อะไรมากมายเลยครับ บางทีเขายังสอนคุณธรรม จริยธรรม เลยครับ เพราะที่ รร สมัยนี้ เนื้อหาบางทีก็สอนไม่ครบ สั่งแต่รายงานแบบที่มันไร้ประโยชน์ พอใกล้สอบก็มาลุยสอนตอนคาบสุดท้าย
มันก็อาจจะเป็นเพราะเรื่องของ เงินเดือนครูหรือเปล่าครับ คนที่เรียนดีๆสมัยนี้ถึงเลือกเรียน วิศวะ ไม่ก็ แพทย์กันหมด

ส่วนเรื่องการเรียนพิเศษในกรุงเทพนั้น
ถ้าจะเรียนนะครับผมว่าไม่จำเป็นต้องเรียนที่กรุงเทพหรือที่ๆคนอื่นเรียนกันเยอะๆหรอกครับให้เลือกเรียนที่ๆคุณเรียนแล้วรู้เรื่องเรียนแ ล้วได้จริงๆดีกว่าครับ

ปล.ถ้าอ่านแล้วไม่ค่อยได้อะไรก็ขออภัยด้วยครับ 555+

Keehlzver 07 ตุลาคม 2012 16:01

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ Form (ข้อความที่ 148115)
การเรียนกวดวิชานั้นจำเป็นเสมอไปหรือไม่? ถ้าไม่เรียนแล้วจะสอบมหาลัยดังๆไม่ติดหรือครับ?

อันนี้แล้วแต่คนเลยครับ คุณอาจจะเห็นว่าบางคนเรียนพิเศษแทบทุกวันกับอีกคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษแต่ผลการเรียนไม่ได้ต่างกัน
นั้นอาจจะเป็นเพราะคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษเขาสามารถอ่านหนังสือเอง เรียนเองทำความเข้าใจเองได้แต่เด็กบางกลุ่มบางทีก็ต้องการคนที่จะคอยแนะนำแนวทางให้
อย่างผมเคยมีเพื่อนคนนึงตอนเรียน ม ต้น แรกๆก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากมาย เรียนๆ เล่นๆธรรมดา แต่พอปิดเทอม เมษาเขาไปเรียนพิเศษมากลับมาที่ รร
ผมรู้สึกได้ว่าผลการเรียน ความคิด ต่างๆ ก็ดีขึ้นจนเป็นคนละคนเลยครับ แล้วเขาก็มีความตั้งใจเรียนมากกว่าแต่ก่อนมาก เขาก็เป็นคนๆนึงที่ทำให้ผมตั้งใจเรียน หาหนังสืออ่านทบทวนมากขึ้นเหมือนกันครับ
ส่วนถ้าไม่เรียนแล้วจะสอบมหาลัยดังๆไม่ติด อันนี้ไม่จริงเลยครับแต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวของนักเรียนเองมากๆๆๆ เลยครับ
เพราะคนที่ไปเรียนพิเศษ 70% ไปนั่งในห้องเรียนแต่ไม่ได้เรียน อันนี้ใครเคยไปเรียนพิเศษจะเจอบ่อยมากเลยครับ แต่คนที่เรียนจริงๆส่วนใหญ่เรียนกันทั้งวัน
และคนพวกนี้ก็เป็นเด็กที่เรียนดีอยู่แล้วด้วยครับ ผมมีเพื่อนบางคนไม่ได้เรียนพิเศษอะไรเลย แต่เขาก็อ่านหนังสือเอง สม่ำเสมอวันนึงหลาย ชม. ครับ
ซึ่งผมยอมรับเลยว่าผมทำแบบเขาไม่ได้จริงๆ 555 สำหรับผมแล้วการเรียนกวดวิชา 2 ชม. ให้อะไรมากมายเลยครับ บางทีเขายังสอนคุณธรรม จริยธรรม เลยครับ เพราะที่ รร สมัยนี้ เนื้อหาบางทีก็สอนไม่ครบ สั่งแต่รายงานแบบที่มันไร้ประโยชน์ พอใกล้สอบก็มาลุยสอนตอนคาบสุดท้าย
มันก็อาจจะเป็นเพราะเรื่องของ เงินเดือนครูหรือเปล่าครับ คนที่เรียนดีๆสมัยนี้ถึงเลือกเรียน วิศวะ ไม่ก็ แพทย์กันหมด

ส่วนเรื่องการเรียนพิเศษในกรุงเทพนั้น
ถ้าจะเรียนนะครับผมว่าไม่จำเป็นต้องเรียนที่กรุงเทพหรือที่ๆคนอื่นเรียนกันเยอะๆหรอกครับให้เลือกเรียนที่ๆคุณเรียนแล้วรู้เรื่องเรียนแ ล้วได้จริงๆดีกว่าครับ

ปล.ถ้าอ่านแล้วไม่ค่อยได้อะไรก็ขออภัยด้วยครับ 555+

จริงแท้แน่นอน :) (วิศวะ+แพทย์ มันเป็นแค่ค่านิยาม(ยม)ในขณะนี้...)

Real Matrik 07 ตุลาคม 2012 18:34

นิสิตบางคนยังเรียนพิเศษเลยครับไม่เว้นแม้แต่ ฬ :)

LEEMA 08 ตุลาคม 2012 10:54

แจ่มแจ้งครับ :laugh:

kaningT 17 ตุลาคม 2012 17:13

ถ้าระบบการศึกษาดีๆมีจริง กวดวิชาก็คงจะไม่จำเป็น บางครั้งติวเตอร์ก็สำคัญเพราะเค้าเป็นคนที่อยากจะมาสอนและมาถ่ายทอดจริงๆเขาถึงได้มาทำตรงนี้แต่ครูบางคนมาเป็นครูเพราะไปเรียนอยางอื่น ไม่ได้ ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู บางคนแค่เข้ามาบ่นก้มีนะ

lnพwsะบุ๑sสุ๑xล่o 19 ตุลาคม 2012 00:45

ผมว่ามันขึ้นกับหลายปัจจัยครับ
การที่ นร เลือกเรียนพิเศษนั้น คือ
1.ที่ รร ครูอาจสอนไม่ดี ไม่เข้าใจ สอนไวเกินไป เป็นต้น
2.อ่านหนังสือเอง ไม่เข้าใจ
3.เรียนตามเพื่อน กลัวสู้เพื่อนไม่ได้
4.โดนบังคับเรียน
5.บางคนเรียนพิเศษได้ แต่ถ้าจะให้อ่านเอง รอเล่นเกมเสร็จก่อน

ถ้าจะบอกว่าอ่านเองหรือเรียนพิเศษนั้น อันไหนที่ทำแล้วจะเก่งที่สุด ผมคิดว่า ทำทั้ง 2 อย่างดีที่สุด (ในกรณี ที่ รร สอนไม่ค่อยดี )
คนปกติ ไม่สามารถอ่านหนังสือเรียนติดต่อกัน 10 ชมได้ แต่กาเรียนพิเศษ ต่อกัน 10 ชม เป็นเรื่องทั่วไป
แต่ถ้าเอาแต่เรียนพิเศษอย่างเดียว ความรู้ที่ได้มา ก็จะลืมหายไปหมด โดยเฉพาะวิชาที่ต้องฝึกฝนโจทย์

Real Matrik 19 ตุลาคม 2012 14:09

บ่อยครั้งที่เราเจอปัญหา เราจะมักไม่เลือกวิธีการหาทางออกครับ "เรียนพิเศษไว้ก่อน" เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างทำให้อุ่นกายสบายใจ :laugh:

กิตติ 19 ตุลาคม 2012 15:06

ผมมีตัวอย่างของคนสอบติดแพทย์อย่างน้อยสองคนที่ไม่เคยเรียนพิเศษ
คนแรกเป็นน้องที่เพิ่งจบอายุรกรรมที่ศิริราช ตอนเรียนมัธยมปลาย ไม่ได้เรียนพิเศษ เพราะอำเภอที่อยู่ไกลจากจังหวัดใหญ่อย่างเชียงใหม่ถึง 150 กม. จึงต้องซื้อหนังสืออ่านเอง สอบติดแพทย์เชียงใหม่ จบด้วยเกียรตินิยมเหรียญทอง เรียนแพทย์ไม่มีเรียนพิเศษครับ
คนที่สอง เป็นลูกเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของผม ไม่เรียนพิเศษเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียน เขากลัวพ่อแม่ลำบาก หนังสือติวก็ไม่ค่อยซื้อ ยืมห้องสมุดอ่านตลอด ติดค่ายชีวะโอลิมปิกรอบแรกตั้งแต่ม.4 ถึง ม.6 ไม่ได้เป็นตัวแทน ตอนนี้เรียนปีหนึ่ง คณะแพทย์ มช.
เรียนไม่เรียนสำหรับคนที่พลังในการเรียนรู้ด้วยตัวเองสูง คงไม่ใช่ปัญหา และคนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้เอง ยังไงเขาก็ดิ้นรนให้ตัวเองรอดได้
การเลือกเรียนพิเศษนั้น บางทีก็เพราะคนหมู่มากเขาเลือกกัน เราก็เลือกตามคนหมู่มาก
ผมว่า...การเรียนหรือไม่เรียน เราควรจะตอบตัวเองได้ว่า การที่เราเลือกเรียนพิเศษนั้นเราได้อะไร เราใช้อะไรแลกมา การที่เราเลือกไม่เรียนพิเศษนั้นเราจะเสียอะไรไปหรือเปล่า เสียโอกาสอะไรไหม ตอบตัวเองได้ชัดเจนก็จบ .ไม่ต้องวนคิดไปคิดมาว่าเรียนดี หรือไม่เรียนดี

polsk133 28 ตุลาคม 2012 02:58

กวดวิชาสำหรับผม สำคัญแน่นอน

ช่วยยกระดับผมจาก อ่อนเลขมากๆ จน สามารถทำเลขได้เยอะกว่าเดิมหลายเท่า

Real Matrik 30 ตุลาคม 2012 19:19

ของผมกลับกัน :laugh: เลิกเรียนแล้วอ่านเองถึงพัฒนาช้าหน่อย แต่ก็สนุกกับการเดินทาง


เวลาที่แสดงทั้งหมด เป็นเวลาที่ประเทศไทย (GMT +7) ขณะนี้เป็นเวลา 22:18

Powered by vBulletin® Copyright ©2000 - 2024, Jelsoft Enterprises Ltd.
Modified by Jetsada Karnpracha