Mathcenter Forum

Mathcenter Forum (https://www.mathcenter.net/forum/index.php)
-   ฟรีสไตล์ (https://www.mathcenter.net/forum/forumdisplay.php?f=6)
-   -   แห่ใช้"ครูอัตราจ้าง"เยอะ ความรู้ไม่แน่น ทำเด็กม.6สอบตกโอเน็ต (https://www.mathcenter.net/forum/showthread.php?t=16048)

sck 01 เมษายน 2012 09:45

แห่ใช้"ครูอัตราจ้าง"เยอะ ความรู้ไม่แน่น ทำเด็กม.6สอบตกโอเน็ต
 
จากกรณีที่อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาติงสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่าออกข้อสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ยากเกินมาตรฐานการเรียนรู้ ส่งผลให้เด็กได้คะแนนตกต่ำลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันมีข่าวว่ามีนักเรียนชั้น ม.6 กว่า 20 คนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พลาดการสอบโอเน็ต เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยในวันสอบ จึงหวั่นว่าจะไม่มีคะแนนโอเน็ตไปสมัครเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (แอดมิสชั่นส์) จึงเรียกร้องให้ สทศ.จัดสอบโอเน็ตรอบ 2 นั้น


นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม สพฐ.ทำหนังสือถึง สทศ. ขอให้จัดสอบโอเน็ตรอบพิเศษให้กับนักเรียนที่มีเหตุสุดวิสัยจนไปสอบในวันที่กำหนดไม่ได้ และเนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่มีการนำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสสอบโอเน็ต เพื่อนำผลสอบไปพัฒนาคุณภาพ จึงขอให้ สทศ.เปิดสอบรอบพิเศษขึ้นอีกรอบ ซึ่ง สทศ.ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการบริหาร สทศ.พิจารณา ซึ่งบอร์ด สทศ.ได้เห็นชอบแล้ว โดยให้จัดสอบโอเน็ตรอบพิเศษให้กับนักเรียนชั้น ม.6 รวมถึงนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ที่เกิดเหตุสุดวิสัยในวันสอบ


โดยนักเรียนต้องสมัครด้วยตนเองที่ สทศ. หรือส่งเอกสารการสมัครทางไปรษณีย์โดยวิธี EMS เท่านั้น และชำระค่าสมัครโดยใช้ตั๋วแลกเงินสั่งจ่าย ในนาม สทศ.ไปรษณีย์ราชเทวี ซึ่ง สทศ.จะพิจารณาเฉพาะผู้ที่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ และมีเอกสารการสมัครถูกต้องและครบถ้วนเท่านั้น หากตรวจสอบภายหลังแล้วพบว่าผู้สมัครสอบกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ จะถือว่าการสมัครสอบเป็นโมฆะ นายสัมพันธ์กล่าว


นายสัมพันธ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จะเปิดรับสมัครทั้ง 3 ระดับ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน ค่าสมัครสอบ ชุดวิชาละ 100 บาท ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบในวันที่ 6 เมษายน สำหรับปฏิทินการสอบ มีดังนี้ นักเรียนชั้น ป.6 หรือเทียบเท่า สอบวันที่ 10 เมษายน นักเรียนชั้น ม.3 หรือเทียบเท่า สอบวันที่ 10-11 เมษายน และนักเรียนชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า สอบวันที่ 10-11 เมษายน ประกาศผลโอเน็ตรอบพิเศษของนักเรียนชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า ในวันที่ 15 เมษายน เพื่อให้นักเรียนนำผลคะแนนไปใช้สมัครแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2555 ส่วนนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 จะประกาศผลสอบในวันที่ 28 เมษายน โดยมี 5 สนามสอบ ดังนี้ โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ, โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่, โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น, โรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา


"การสอบโอเน็ตรอบแรก มีนักเรียนชั้น ม.6 ที่ประสบอุบัติเหตุ 36 คน ซึ่งเมื่อหน่วยงานต้นสังกัด คือ สพฐ.ทำหนังสือมายัง สทศ. ก็ยินดีจัดสอบให้ เพราะตามหลักแล้ว สทศ.จะไม่จัดสอบให้กับบุคคลที่มาร้องเรียนโดยตรง เพื่อป้องกันการใช้สิทธิที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดยืนยันมาด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ สทศ.ก็ต้องตรวจสอบหลักฐานอีกครั้งว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ "นายสัมพันธ์กล่าว



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนโรงเรียนดังในกรุงเทพฯ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 ทำคะแนนโอเน็ตได้ต่ำ ตามที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มอบหมาย โดยผลการวิเคราะห์ พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนโอเน็ตต่ำลง เนื่องจากครูไม่มีความรู้แน่นพอที่จะสอนตามหลักสูตร เนื่องจากเป็นครูอัตราจ้าง ทำให้นอกจากความรู้ไม่แน่นพอแล้ว ยังไม่ใส่ใจที่จะสอนเนื่องจากสวัสดิการเทียบเท่ากับครูประจำการไม่ได้



ผู้อำนวยการโรงเรียนดังแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนจำนวนมากใช้ครูอัตราจ้างแทนครูประจำการที่เกษียณอายุราชการ บางโรงเรียนจ้างครูอัตราจ้างถึง 50% เมื่อนักเรียนไม่ได้รับความรู้เต็มที่ จึงหันไปเรียนพิเศษแทน โดยครูที่สอนพิเศษเหล่านั้นมาจากครูที่เกษียณอายุราชการ ส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเฟื่องฟู นอกจากนี้อีกสาเหตุที่ทำให้เด็กได้คะแนนตกต่ำลง เพราะในการออกข้อสอบของ สทศ. ไม่ได้มีนักวัดผลมาวิเคราะห์ถึงความยากง่ายของข้อสอบก่อนนำไปใช้ มีเพียงกรรมการกลั่นกรองข้อสอบเท่านั้น ส่งผลให้ข้อสอบยากและบางข้อมีปัญหากำกวม ทั้งนี้ จะนำผลวิเคราะห์ดังกล่าวนำเสนอนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.ต่อไป



ด้านนายชินภัทรกล่าวว่า เท่าที่ดูข้อสอบโอเน็ต ม.6 ปีนี้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยาก ซึ่ง สพฐ.ค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะโอเน็ตเป็นข้อสอบที่ใช้วัดความรู้ขั้นพื้นฐานของนักเรียน ไม่ใช่ข้อสอบสำหรับคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ดังนั้น ควรจะมีค่าความยากอยู่ในระดับปานกลาง โดยเรื่องนี้ สพฐ.คงต้องรอผลการวิเคราะห์ข้อสอบจาก สทศ.ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป



แหล่งข่าวจาก สพฐ.เปิดเผยว่า สาเหตุที่โรงเรียนใช้งบโรงเรียนจ้างครูอัตราจ้าง เนื่องจากแต่ละปีมีครูเกษียณอายุราชการและครูเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดประมาณ 10,000 คน เช่น ปี 2554 มีครูสังกัด สพฐ.เกษียณอายุราชการก่อนกำหนดกว่า 7,000 คน และเกษียณอายุราชการปกติกว่า 3,000 คน รวมเป็นกว่า 10,000 คน ซึ่งแม้ สพฐ.จะได้อัตราคืนครบทั้ง 100% จากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แต่กระบวนการทางระบบราชการในการประสานงาน คปร. ตลอดจนการเกลี่ยอัตราไปให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครู ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ส่งผลให้กว่าโรงเรียนจะได้อัตราไปบรรจุครูประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฉะนั้น ช่วงที่ขาดแคลนครู ทางโรงเรียนจึงต้องใช้งบของโรงเรียนจ้างครูอัตราจ้าง


นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร สทศ. กล่าวว่า ที่ระบุว่าข้อสอบยากและกำกวม เนื่องจากไม่มีนักวัดผลไปตรวจสอบข้อสอบก่อนนำไปใช้นั้น ตนยอมรับว่าบางวิชาไม่มีนักวัดผลตรวจข้อสอบก่อนนำไปใช้จริง เพราะเราเชื่อมั่นว่าผู้ที่ออกข้อสอบมีความเชี่ยวชาญในวิชานั้นๆ อยู่แล้ว จึงอาจไม่ต้องใช้นักวัดผลอีก มีเพียงคณะกรรมการกลั่นกรองข้อสอบ ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อสอบก่อนนำไปใช้ อย่างไรก็ตาม ในการจัดสอบโอเน็ต ม.6 ปีการศึกษา 2555 สทศ.จะหานักวัดผลมาตรวจสอบข้อสอบในทุกกลุ่มสาระก่อนนำไปใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อสอบกำกวมอีก


นอกจากนี้จะใช้จุดตัด แทนคะแนนเฉลี่ยเพราะไม่มีความหมายเท่าที่ควรในทางวิชาการ โดยจะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ออกข้อสอบ ซึ่งต้องให้หารือร่วมกับครูผู้สอนว่าแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์อย่างไร ถ้าวัตถุประสงค์ไม่ซับซ้อน จุดตัดคะแนนควรอยู่ที่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อสอบยากเกินไป อีกทั้งเมื่อคิดจุดตัดออกมาแล้ว ก็ไม่ควรให้สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนเกินไปนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักเห็นว่าคะแนนที่สอบผ่านควรเกินครึ่ง

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detai...&subcatid=1903

โอ้พึ่งรู้นะเนี้ยว่าเป็นเพราะครูอัตราจ้าง เด็กๆถึงสอบตก onet กันนี่เอง :o
ทั้งที่ก็ไม่เคยเห็นจะผ่านซักปี

~ToucHUp~ 01 เมษายน 2012 11:47

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ sck (ข้อความที่ 137682)
โอ้พึ่งรู้นะเนี้ยว่าเป็นเพราะครูอัตราจ้าง เด็กๆถึงสอบตก onet กันนี่เอง :o
ทั้งที่ก็ไม่เคยเห็นจะผ่านซักปี

กด like เลยครับ:happy::happy:

DevilMath 01 เมษายน 2012 15:41

ทุกคนก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบอ่ะน่ะ จะโทษใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้:)

polsk133 01 เมษายน 2012 17:52

เค้ารู้ได้ไงครับว่านักเรียนตั้งใจเรียน

ผมคนนึงละเล่นบ้างเรียนบ้าง

nooonuii 01 เมษายน 2012 21:44

ขอยืนยันคำพูดเดิมที่เคยแสดงความคิดเห็นไว้แล้วในนี้

คนไทยกล่าวโทษคนอื่นได้หมดยกเว้นตัวเอง

หยินหยาง 01 เมษายน 2012 23:17

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ sck (ข้อความที่ 137682)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนโรงเรียนดังในกรุงเทพฯ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 ทำคะแนนโอเน็ตได้ต่ำ ตามที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มอบหมาย โดยผลการวิเคราะห์ พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนโอเน็ตต่ำลง เนื่องจากครูไม่มีความรู้แน่นพอที่จะสอนตามหลักสูตร เนื่องจากเป็นครูอัตราจ้าง ทำให้นอกจากความรู้ไม่แน่นพอแล้ว ยังไม่ใส่ใจที่จะสอนเนื่องจากสวัสดิการเทียบเท่ากับครูประจำการไม่ได้

แหล่งข่าวจาก สพฐ.เปิดเผยว่า สาเหตุที่โรงเรียนใช้งบโรงเรียนจ้างครูอัตราจ้าง เนื่องจากแต่ละปีมีครูเกษียณอายุราชการและครูเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดประมาณ 10,000 คน เช่น ปี 2554 มีครูสังกัด สพฐ.เกษียณอายุราชการก่อนกำหนดกว่า 7,000 คน และเกษียณอายุราชการปกติกว่า 3,000 คน รวมเป็นกว่า 10,000 คน ซึ่งแม้ สพฐ.จะได้อัตราคืนครบทั้ง 100% จากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แต่กระบวนการทางระบบราชการในการประสานงาน คปร. ตลอดจนการเกลี่ยอัตราไปให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครู ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ส่งผลให้กว่าโรงเรียนจะได้อัตราไปบรรจุครูประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฉะนั้น ช่วงที่ขาดแคลนครู ทางโรงเรียนจึงต้องใช้งบของโรงเรียนจ้างครูอัตราจ้าง

ถ้าวิเคราะห์อย่างงี้ผมว่าอันตราย อัตราจ้างครูตามตัวเลขที่กล่าวอ้างมีประมาณ 10,000 คน จากจำนวนครูทั่วประเทศมีประมาณ 600,000 คน ซึ่งคิดแล้วก็ไม่เกิน 2 % แต่กับมาอ้างว่าเป็นสาเหตุหนึ่ง ทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นสาเหตุหลัก แต่ก่อนหน้านี้สัก 1-2 ปี ก็ให้เหตุผลว่าปัญหามาจากครูผู้สอนที่จบมาไม่ตรงวุฒิ ดังข้อมูลบางตอนที่ได้กล่าวไว้
http://www.matichon.co.th/news_detai...catid&subcatid
ถ้าลองดูสถิติที่ผ่านมาเราใช้ระบบ O-NET ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งก็ผ่านมา 6 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นปีไหนมีค่าเฉลี่ยเกิน ร้อยละ 40 ในวิชาหลักเลย ถ้าจำไม่ผิดนะครับ ถือว่าสอบตก ถ้าเราใช้ O-NET เป็นตัววัดความรู้พื้นฐานของเด็ก สิ่งที่ควรจะเป็นคือเด็กส่วนใหญ่ควรจะได้รับค่าเฉลี่ย 50-60 % หรือมากกว่านั้น หมายความว่าเด็กส่วนใหญ่ของประเทศเมื่อเรียนจบการศึกษาแล้วควรมีวิชาความรู้ติดตัวไปสัก 50-60 ส่วนจากที่เรียน 100 ส่วน เมื่อก่อนหน้านี้ก็อ้างว่าเป็นเพราะเด็กไม่สนใจเพราะไม่ได้นำคะแนนนี้ไปใช้ ซึ่งในข้อเท็จจริงก็มีการนำไปใช้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นใช้ในการยื่นสอบแพทย์หรือ แอดมิชชั่นกลาง

อันที่จริงการวิเคราะห์ไม่ยากครับ ผลของคะแนนดีหรือไม่ก็มาจาก 3 ส่วน

1. ผู้เรียน ประเมินจาการเรียนซึ่งทำได้ตลอดเวลา หรือดูจากงานที่ส่งหรือแบบทดสอบที่มีเป็นระยะๆ
2. ผู้สอน จะดูว่าสอนดีหรือไม่ก็ให้เด็กประเมินส่วนหนึ่ง ส่วนมีความรู้ในการสอนหรือไม่ก็จับครูผูสอนวัดความรู้โดยการให้สอบโอเน็ตเพื่อวัดความรู้ของครูผู้สอนซึ่งต้องทำให้เกินร้อยละ 85
3. ผู้ออกข้อสอบ จะดูว่าออกเกินหลักหลักสูตรหรือไม่ ง่ายไปหรือยากไป ก็ให้ผู้ออกข้อสอบ อธิบายจุดมุ่งหมายของข้อสอบแต่ละข้อ ว่าใช้วัดอะไร อยู่ในเรื่องไหน บทไหน ตอนไหน สาระการเรียนรู้อะไร ใช้หลักคิดอะไร ถ้าเป็นข้อสอบเชิงวิเคราะห์ก็ให้อธิบายได้ว่ามาจากเรื่องไหนแล้วแนวทางในการทำเป็นอย่างไร หรือแม้แต่คำถามปลายเปิดหรือแสดงความคิดเห็นก็ทำได้ เช่นกัน แบ่งสัดส่วนระดับความยากง่ายให้ชัดเจน การออกข้อสอบควรครอบคลุมเนื้อหาสาระหลักหรือเนื้อหาที่จำเป็นที่จะต้องนำไปใช้ในการศึกษาต่อ

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ sck (ข้อความที่ 137682)
ผู้อำนวยการโรงเรียนดังแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนจำนวนมากใช้ครูอัตราจ้างแทนครูประจำการที่เกษียณอายุราชการ บางโรงเรียนจ้างครูอัตราจ้างถึง 50% เมื่อนักเรียนไม่ได้รับความรู้เต็มที่ จึงหันไปเรียนพิเศษแทน โดยครูที่สอนพิเศษเหล่านั้นมาจากครูที่เกษียณอายุราชการ ส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเฟื่องฟู นอกจากนี้อีกสาเหตุที่ทำให้เด็กได้คะแนนตกต่ำลง เพราะในการออกข้อสอบของ สทศ. ไม่ได้มีนักวัดผลมาวิเคราะห์ถึงความยากง่ายของข้อสอบก่อนนำไปใช้ มีเพียงกรรมการกลั่นกรองข้อสอบเท่านั้น ส่งผลให้ข้อสอบยากและบางข้อมีปัญหากำกวม ทั้งนี้ จะนำผลวิเคราะห์ดังกล่าวนำเสนอนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.ต่อไป



นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร สทศ. กล่าวว่า ที่ระบุว่าข้อสอบยากและกำกวม เนื่องจากไม่มีนักวัดผลไปตรวจสอบข้อสอบก่อนนำไปใช้นั้น ตนยอมรับว่าบางวิชาไม่มีนักวัดผลตรวจข้อสอบก่อนนำไปใช้จริง เพราะเราเชื่อมั่นว่าผู้ที่ออกข้อสอบมีความเชี่ยวชาญในวิชานั้นๆ อยู่แล้ว จึงอาจไม่ต้องใช้นักวัดผลอีก มีเพียงคณะกรรมการกลั่นกรองข้อสอบ ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อสอบก่อนนำไปใช้ อย่างไรก็ตาม ในการจัดสอบโอเน็ต ม.6 ปีการศึกษา 2555 สทศ.จะหานักวัดผลมาตรวจสอบข้อสอบในทุกกลุ่มสาระก่อนนำไปใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อสอบกำกวมอีก

วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อังกฤษ ไม่ได้มีเสียงสะท้อนเรื่องกำกวม แต่คะแนนก็ไม่ดี :died:

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ sck (ข้อความที่ 137682)
นอกจากนี้จะใช้จุดตัด แทนคะแนนเฉลี่ยเพราะไม่มีความหมายเท่าที่ควรในทางวิชาการ โดยจะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ออกข้อสอบ ซึ่งต้องให้หารือร่วมกับครูผู้สอนว่าแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์อย่างไร ถ้าวัตถุประสงค์ไม่ซับซ้อน จุดตัดคะแนนควรอยู่ที่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อสอบยากเกินไป อีกทั้งเมื่อคิดจุดตัดออกมาแล้ว ก็ไม่ควรให้สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนเกินไปนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักเห็นว่าคะแนนที่สอบผ่านควรเกินครึ่ง

ถ้าจะใช้ O-NET เป็นตัววัดมาตรฐานการศึกษา เหมือนเมืองนอกที่ใช้ SAT หรือ ACT ซึ่งเป็นตัววัดความรู้เด็กในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือ TOEFL ก็เช่นกัน ข้อสอบของเค้าถ้าไปศึกษาแนวข้อสอบก็จะพบว่าจะมีเรื่องที่ใช้สอบและความรู้ที่ต้องมีมีอะไรบ้าง ดังนั้นในแต่ละมหาวิทยาลัยจึงสามารถกำหนดได้ว่าคุณจะเข้ามหาวิทยาลัยนี้คุณต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่านี้นะ เพราะเค้าเชื่อว่าข้อสอบของเค้าได้มาตรฐาน ดังนั้น O-NET ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น ต้องมีส่วนผสมความรู้ที่จะวัดและระดับความยากที่อยู่ในข้อสอบ

hatemath 01 เมษายน 2012 23:55

อันที่จริง พวกวิชาหลักก้ไม่มีปัญหาอะไรมากมาย แต่คณิตฯ ม.3 บางข้อก็ งง เหลือเกินนะ:p

แต่ว่าที่รับไม่ได้ที่สุด คือ 3 วิชาสุดท้าย คุณเอาอะไรมาออกคะ โดยเฉพาะพละ เอากรณีที่เจอโจรมาออกข้อสอบ

แล้วจะร้องช่วยด้วยแบบไหน ถึงจะถูกต้อง ?? ไม่เข้าใจ ร้องช่วยด้วยแบบไหนก็มีคนมาช่วยแหละน่า บ้า

อยากจะรู้นัก ถ้าคนออกข้อสอบโดนจี้จะร้องช่วยด้วยยังไง :haha:


เวลาที่แสดงทั้งหมด เป็นเวลาที่ประเทศไทย (GMT +7) ขณะนี้เป็นเวลา 05:08

Powered by vBulletin® Copyright ©2000 - 2024, Jelsoft Enterprises Ltd.
Modified by Jetsada Karnpracha