Mathcenter Forum

Mathcenter Forum (https://www.mathcenter.net/forum/index.php)
-   ฟรีสไตล์ (https://www.mathcenter.net/forum/forumdisplay.php?f=6)
-   -   ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องเรียนหน่อยนะครับ ^_^ (https://www.mathcenter.net/forum/showthread.php?t=8330)

อยากเข้าใจคณิต(LoveMaths) 27 สิงหาคม 2009 18:07

ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องเรียนหน่อยนะครับ ^_^
 
ตอนนี้ผมอยู่ ม.3 ก็กำลังจะปิดเทอมแล้วในเดือนตุลาคมนี้ครับ
มันก็ใกล้ที่จะถึงเทอม 2 แล้วครับ ปัญหาที่อยากปรึกษาก็คือ
เรื่อง "การจัดการกับการเรียนครับ" ต้องวางตัวอย่างไรดี
ไม่ทราบว่ามันจะทันกับ "เวลา" หรือเปล่าครับ เพราะมันเหมือนถูกกดดันมากๆ
เพราะเราต้องทำเหมือนกับ "เริ่มต้นใหม่" ใน เทอม 2 เนื่องจาก ม.1 , ม.2
เคยตั้งปณิธานไว้เสมอว่า เราจะต้องเรียนเก่งให้ได้ (แต่ก็ได้แค่พูดทุกที)
และมาจวบจนปัจจุบัน ก็ไม่เคยเข้าข่าย Top Ten สักทีครับ
ผมก็เป็นคนที่เรียนหนังสือปานกลางครับ ในบางกรณีก็เก่งเวอร์ได้ท็อปแค่คะแนนเก็บ
บางกรณีก็ตกระนาว โดยเฉพาะวิชา คณิตศาสตร์ (สะเพร่าและทำไม่ทันเวลาที่กำหนด)
ผมเป็นคนที่มีจุดอ่อนทางวิชาคณิตศาสตร์ในการ "แก้โจทย์ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งสมการ"
ยิ่งกรณีให้แปลภาษาของโจทย์มาเป็นภาษาสมการนี่ทำไม่ค่อยได้เลยครับ ในโจทย์ยาก :cry:
สุดท้ายครับ ก็คือว่า คนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากการสอบเข้าทั้งหลายแล้ว
เคยเป็นเช่นนี้แบบผมหรือเปล่าครับ แล้วจะต้องจัดการบริหารอย่างไรดีครับกับการอ่าน
หนังสือเพื่อเตรียมสอบเข้า ม.4 อย่างฟิตๆ ชิวๆ ในห้องสอบ และอีกอย่างครับ
คือ ช่วงเวลาเทอม 2 นี้มันสำคัญมากๆ แล้วแถมคนแบบผมซึ่งเก่งบางครั้ง บางคราว แต่ก็ไม่เคยตลอดรอดฝั่ง
ในเทอม 2 นี่มันจะอ่านหนังสือทันรึเปล่าครับ ? :eek: ;)

ขอบคุณมากๆ ครับสำหรับคำปรึกษาที่ดีของพี่ๆ น้องๆ แล้วจะเก็บเป็นคำคมในชีวิตตลอดไปเลยครับ :please:

Scylla_Shadow 27 สิงหาคม 2009 18:50

"เวลา" เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ใจ ที่คิดมุ่งมั่นจะทำให้ถึงที่สุด ต่างหาก

ถ้าคุณมีใจที่เตรียมพร้อมกับมันและคุณเชื่อว่าจะทำมันได้ แค่นี้ก็พอ!!

LightLucifer 27 สิงหาคม 2009 18:56

อ่าา ทันครับคิดว่านะ
ปิดเทอมนี้ใช้ให้คุ้มที่สุดก็ยังทันนะครับ

mongravirna 27 สิงหาคม 2009 20:12

ผมขอเอาบทความที่ผมเขียนลงใน RCU Magazine(อย่าพยายามนึกว่ามันคืออะไร มันเป็นนิตยสารโนเนมครับ) มาลงไว้ที่นี่หน่อยนะครับ

.................................................................
....................................................
.........................................

การประสบความสำเร็จเริ่มต้นที่ 10000 ชั่วโมง

ผมได้มีโอกาสรู้จักชื่อของ Anders Ericsson ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาตั้งแต่สมัยม.4 ในหนังสือของศ. ดร. สุทัศน์ ยกส้าน แล้วก็ยังพบชื่อของเขาอีกในหนังสือ Countdown: Six kids vie for glory at the world’s toughest math competition และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมก็ได้พบชื่อของเขาอีกครั้งใน Outliers: The Story of Success ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมถือว่า “ดีที่สุดในรอบเดือน”ที่ผมซื้อมาเลยทีเดียว
เรื่องมันมีอยู่ว่า นักจิตวิทยาคนนี้ได้ทำวิจัยว่านักไวโอลินคนหนึ่งจะฝึกฝนมากเท่าไรก่อนที่จะก้าวสู่ระดับมืออาชีพ อีริกสันแบ่งกลุ่มนักไวโอลินออกเป็นสามกลุ่มตามลำดับฝีมือ และถามคำถามนักไวโอลินทั้งหมดว่า “ตลอดชีวิตนักไวโอลินของคุณตั้งแต่เริ่มจับไวโอลินเป็นครั้งแรก คุณได้ฝึกฝนไปกี่ชั่วโมงแล้ว” คำตอบในช่วงปีแรกๆของทุกคนจะคล้ายกัน คือตั้งแต่อายุราว 5 ขวบ ทุกคนจะฝึกฝนประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่พออายุ 8 ขวบ ความแตกต่างของการฝึกจะเริ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ฝีมือสูงสุดจะฝึกฝน 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตอนอายุ 9 ขวบ และเพิ่มเป็น 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เมื่ออายุ 12 ปี และยังเพิ่มขึ้นอีกเป็น 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เมื่ออายุ 14 ปี จนท้ายที่สุด เมื่ออายุได้ 20 ปี พวกฝีมือสูงสุดจะฝึกฝนประมาณ 30ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเมื่อรวมจำนวนชั่วโมงที่ฝึกฝนทั้งหมดจนถึงอายุ 20 ปีเข้าด้วยกัน นักไวโอลินระดับแนวหน้าจะมีชั่วโมงฝึกฝนเกิน 10,000 ชั่วโมง ส่วนพวกที่เล่นได้ระดับดีพอสมควรจะมีชั่วโมงฝึกฝน 8000 ชั่วโมง และพวกที่ตั้งใจจะเป็นครูสอนดนตรีในอนาคตจะฝึกฝนเกิน 4000 ชั่วโมงมาเล็กน้อยเท่านั้น
หลังจากนั้น อีริกสันและทีมของเขาก็เปรียบเทียบระหว่างนักเปียโน ผลปรากฏแบบเดียวกัน คือเมื่ออายุ 20ปี พวกมือสมัครเล่นจะมีชั่วโมงฝึกฝนราว 2000 – 3000 ชั่วโมง แต่นักเปียโนมืออาชีพจะมีชั่วโมงฝึกฝนเกินหนึ่งหมื่นชั่วโมงแบบเดียวกับนักไวโอลิน
ที่น่าสนใจคือ เขาและทีมไม่พบคนที่ “เก่งมาตั้งแต่เกิด” หรือนักดนตรีที่ก้าวสู่ระดับมืออาชีพโดยใช้เวลาฝึกฝนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ นอกจากนี้ พวกเขายังไม่พบ “พวกบ้าซ้อม” หรือพวกที่ทุ่มเทฝึกฝนมากกว่าคนอื่นแต่ก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดไม่ได้ งานวิจัยชิ้นนี้และต่อๆมาทำให้มีภาพรวมปรากฏขึ้นว่า การจะมีความชำนาญเพียงพอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างน้อย 10000 ชั่วโมง
การศึกษาวิจัยในด้านอื่นล้วนให้ผลที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือนักกีฬา นักหมากรุก นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และอื่นๆ ล้วนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสิบปีในการฝึกฝนก่อนที่จะก้าวขึ้นมาสู่ระดับโลก แล้วตัวเลขสิบปีคืออะไร มันก็คือเวลาที่ต้องใช้ในการสะสมชั่วโมงฝึกฝนให้ได้ครบหนึ่งหมื่นชั่วโมงนั่นเอง...

ผมรู้สึกว่ามันขัดแย้งกับความเชื่อของพวกเราที่มีอยู่เดิม พวกเรามักจะเชื่อว่า พวกที่สร้างผลงานในระดับโลกได้นั้นล้วน born to be หรือเก่งมาตั้งแต่เกิด ยกตัวอย่างง่ายๆ ในห้องเรียนของเรา เมื่อเราเห็นใครสักคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงกว่าคนอื่นๆ เราก็จะสรุปทันทีว่า พวกเขามี “พรสวรรค์” ซึ่งผมว่ามันเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไปหน่อย เพราะผมได้มีโอกาสสอนพิเศษเด็กบางคนที่เก่งคณิตศาสตร์มากถึงขนาดที่ว่า ขณะที่พวกเขาเรียนอยู่ม.1 พวกเขาก็รู้เนื้อหาของระดับมัธยมปลายกันหมดแล้ว เมื่อคนอื่นได้ฟังเรื่องที่ผมเล่า พวกเขาก็จะทำหน้าตกตะลึงไปพักใหญ่ ก่อนที่ผมจะบอกต่อไปว่า “เด็กที่เราไปสอน เขาเรียนพิเศษเฉพาะคณิตศาสตร์วันละไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง และโดยเฉพาะวันเสาร์ เขาจะเรียนตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงสามทุ่ม”
ที่ผมเลือกที่จะเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะว่าผมอยากเปลี่ยนทัศนคติของผู้ที่สรุปอะไรง่ายๆเพียงแค่ยกผลประโยชน์ให้คำว่า “พรสวรรค์” เพียงคำเดียว ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่ นักคณิตศาสตร์ที่มีผลงานเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ชื่อ Paul Erdos ทำคณิตศาสตร์หนักมากถึง 19ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกันนานกว่า 25 ปี ซึ่งผมไม่ได้สนับสนุนใครให้ทำงานหนักขนาดนั้น ผมเชื่อว่าพรสวรรค์เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเมื่อผมอ่านเรื่องราวของหลายคนที่ประสบความสำเร็จ มันสรุปง่ายๆเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องของพรสวรรค์ไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว ตอนนี้ผมรู้เพียงว่า “การฝึกฝนหนึ่งหมื่นชั่วโมงอาจจะไม่ได้ทำให้ใครประสบความสำเร็จ แต่พวกที่ประสบความสำเร็จ ล้วนฝึกฝนมาแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นชั่วโมง” เท่านั้นเองครับ

..............................................
...............................................................
..............................................................................

ถ้าอยากรู้เนื้อหาเต็มๆ ต้องไปอ่าน Outliers เอาเองครับ

ผมเคยเห็นคำแนะนำประมาณ "ทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"
แต่นันเป็นเป้าที่มองเห็นได้ยากมากครับ
เพราะงั้น ผมพยายามจะหา "ตัวเลขพื้นฐาน" ที่รับรู้ร่วมกันว่ามืออาชีพเค้าต้องทำมาไม่ต่ำกว่าเท่านี้แหละ
มาบอกให้ทราบครับ เท่านี้แล...

Fibonacci 27 สิงหาคม 2009 21:04

ทันแน่ครับ ถ้าคุณเริ่มตั้งแต่วันนี้

Puriwatt 29 สิงหาคม 2009 23:48

สำหรับคนที่มีความเข้าใจดีแล้ว ต้องฝึกฝนทำโจทย์ให้มาก จนมึความชำนาญอย่างแท้จริง

สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ต้องฝึกฝนทำโจทย์ให้มาก แล้วข้อข้องใจจะถูกแก้ได้เอง

สำหรับคนที่ตีความโจทย์ไม่ออก ต้องฝึกฝนทำโจทย์ให้มาก ก็จะเข้าใจคำถามที่หลากหลายได้เอง

สำหรับคนที่มักจะทำผิดหรือช้า ก็ต้องฝึกฝนทำโจทย์ให้มาก แล้วจะลดข้อบกพร่องได้พร้อมทั้งเร็วขึ้นด้วยครับ :D

Puriwatt 29 สิงหาคม 2009 23:59

ขอให้เริ่มลงมือทำ อย่ามัวแต่สงสัยว่าจะทันหรือไม่ เพราะความสงสัยจะทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง

ทำมากได้ความรู้มาก ทำน้อยได้ความรู้น้อย บางทีผลการสอบอาจจะตัดสินกันเพียงคะแนนเดียวที่ต่างกันก็ได้

ถ้าทำข้อสอบชุดเดิมแล้วได้คะแนนมากขึ้น แสดงว่ามีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และเพียงพอครับ :D


เวลาที่แสดงทั้งหมด เป็นเวลาที่ประเทศไทย (GMT +7) ขณะนี้เป็นเวลา 01:39

Powered by vBulletin® Copyright ©2000 - 2024, Jelsoft Enterprises Ltd.
Modified by Jetsada Karnpracha