Mathcenter Forum

Mathcenter Forum (https://www.mathcenter.net/forum/index.php)
-   ฟรีสไตล์ (https://www.mathcenter.net/forum/forumdisplay.php?f=6)
-   -   คุณคิดอย่างไรเมื่อโอเน็ตม.6ร่วงยกประเทศ (https://www.mathcenter.net/forum/showthread.php?t=13483)

หยินหยาง 07 เมษายน 2011 23:09

คุณคิดอย่างไรเมื่อโอเน็ตม.6ร่วงยกประเทศ
 
วันพฤหัสบดี ที่ 07 เมษายน 2554
เชื่อเด็กไม่ตั้งใจสอบ

"รมว.ศธ." ลั่นต้องรีบวิเคราะห์หาสาเหตุเด็กไทยสอบโอเน็ต ม.6 ตกยกประเทศ พร้อมเร่งปรับปรุงคุณภาพขนานใหญ่ ทั้งครูก็ต้องปรับปรุงการเรียนการสอนด้วยการนำระบบไอซีทีมาช่วย รวมทั้งต้องไม่เน้นให้เด็กท่องจำ และไม่ไปกวดวิชา แต่ให้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น คาดคะแนนไม่ดี ส่วนหนึ่งมาจากความไม่ตั้งใจในการสอบของเด็ก เนื่องจากบางคนสอบติดรับตรงของมหาวิทยาลัยแล้ว

จากกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ประกาศผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ชั้น ม.6 ปีการศึกษาการศึกษา 2553 ซึ่งผลปรากฏว่านักเรียน ม.6 ยังคงทำคะแนนได้ไม่ถึงร้อยละ 50 โดยในวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ทำคะแนนเฉลี่ยได้ไม่ถึงร้อยละ 20 ซึ่งแย่ลงกว่าปีการศึกษา 2552 ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 เม.ย. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องยอมรับผลการสอบโอเน็ต ของนักเรียน ม.6 ในช่วงที่ผ่านมายังไม่เป็นที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันต้องมาวิเคราะห์สาเหตุ และหาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยต้องดูคุณภาพของครู กระบวนการเรียนการสอน และการจัดสอบของ สทศ. ว่าเมื่อมีการสอบแล้วได้นำผลการสอบไปใช้ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนหรือ ไม่

“ตนไม่อยากให้นักเรียนและผู้ปกครองกังวลผลการสอบโอเน็ตมากนัก เพราะการสอบโอเน็ตจะต่างจากการสอบเลื่อนชั้น และการสอบวัดความถนัดทั่วไปหรือแกตและการสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือแพต 1 ปีที่ผ่าน ผมพยายามปรังปรุงคุณภาพการเรียนการสอนให้สูงขึ้นมาตลอด โดยประกาศจุดเน้นคุณภาพของผู้เรียนต้องอ่านออก เขียนได้ นักเรียนม.4-ม.6 ต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเกินร้อยละ 50 ครูต้องปรับปรุงการเรียนการสอนด้วยการนำระบบไอซีทีมาช่วยสอน รวมทั้งต้องไม่เน้นให้เด็กท่องจำ แต่เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น และไม่ไปกวดวิชา แต่เมื่อผลการสอบโอเน็ตออกมาผมก็ยอมรับว่าไม่เป็นที่น่าพอใจ และจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนขนานใหญ่” นายชินวรณ์ กล่าว

ด้าน ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อผลการสอบโอเน็ตออกมาดังกล่าว ตนเชื่อและรู้สึกเป็นห่วง โดย เบื้องต้นเชื่อว่าส่วนหนึ่งเพราะข้อสอบที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันเด็กที่เข้าสอบก็เป็นคนละรุ่น อย่างไรก็ตามหลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำผลการสอบมาวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้ง ที่ผ่านมา สพฐ. ได้มีการนำร่องใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยการแบ่งกลุ่มโรงเรียนและนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเก่ง จะพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพ กลุ่มทั่วไปจะส่งเสริม และกลุ่มอ่อนจะช่วยเหลือ ดังนั้นต้องมาวิเคราะห์เจาะลึกตามรายกลุ่มว่ามีผลคะแนนเป็นอย่างไร และจะมาคิดคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมของประเทศไม่ได้ เนื่องจากเด็กกลุ่มอ่อน ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่จะไปดึงผลคะแนนของเด็กเก่ง

ส่วน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ.จะขอข้อมูลอย่าละเอียดจาก สทศ. โดยให้จำแนกตามขนาดของโรงเรียนและที่ตั้ง เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าคะแนนที่แย่ลงนั้นมาจากสาเหตุอะไร อย่างไรก็ตามเดิมมีการสันนิฐานว่าคะแนนโอเน็ตของเด็ก ม.6 ที่ออกมาไม่ดี ส่วนหนึ่งมาจากความไม่ตั้งใจในการสอบโอเน็ตของเด็ก เพราะบางคนอาจจะสอบติดรับตรงของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้ใช้ผลการสอบโอเน็ต มาประกอบการเข้าเรียนไปแล้ว.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartp...ntentID=131422

นี่ขนาดมีข่าวว่ากันว่า ผลคะแนนสอบแพทย์ปีนีที่มีการเลื่อนประกาศคะแนนให้ไปหลังวันที่ 20-21 กพ. 2554(เป็นวันที่สอบ โอเน็ต ม.6) เพื่อให้คนที่สอบแพทย์ทุกคนตั้งใจสอบ ยังเอาไม่อยู่ แสดงว่า....:laugh::laugh:

poper 08 เมษายน 2011 08:22

ความเห็นส่วนตัวผมว่าเด็กทุกคนตั้งใจสอบกันมาก
บางคนอ่านหนังสือหนักมาก บางคนก็เครียดมากเกินไปด้วยซ้ำ
เด็กสมัยนี้เรียนเยอะและเก่งกว่าแต่ก่อนมากนะ ผมว่า....
แต่ที่ผลลัพธ์เป็นเช่นนี้ ไม่รู้เพราะอะไร
คงต้องรอฟังเสียงจากเด็กๆ.....:sweat:

Mathematicism 08 เมษายน 2011 09:30

เด็กเรียนมาก อ่านมาก จำมาก มีเวลาทำความเข้าใจน้อย (อันนนี้สำคัญมาก)
สุดท้ายใช้วิธีท่องจำไปสอบ

เรียนแบบเบาๆ เน้นกระบวนการคิด และความรู้รวบยอด
แต่ความจริงตัวเด็กก็สำคัญ โทษระบบการศึกษาอย่างเดียวก็ไม่ได้
เด็กเดี๋ยวนี้มีสิ่งเร้าเยอะ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเรียน
วิธีการเลี้ยงของพ่อแม่ก็สำคัญ ส่งผลต่อทัศนคติในการเรียนของเด็ก

พูดแล้วเหนื่อย มันโทษใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ องค์ประกอบทุกอย่างมันแย่
ในฐานะครูคนนึง ก็ได้แต่พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

bell18 08 เมษายน 2011 09:54

ผมคิดว่าเด็กนักเรียน ทุกปีทุกรุ่น ก็จะต้องมีเด็กที่มีความสามารถหลากหลายทุกระดับ ตั้งแต่อ่อนมากๆ อ่อน ปานกลาง ค่อนข้างเก่ง เก่ง เก่งมากๆ
ทุกคนต้องเข้าใจสัจธรรมของมนุษย์โลกนะครับ ว่า ธรรมชาติสร้างมนุษย์ออกมาหลากหลายเผ่าพันธุ์ หลากหลายความสามารถ คือมีทุกประเภทเลย

ปัจจัยที่ทำให้คะแนนสอบออกมาแกว่งไปมาทุกปี นั่นก็คือ ความไม่แน่นอนของตัวข้อสอบ นั่นเองครับ (ตัวเองผิดแล้วไม่รู้จักดูตัวเอง หมายถึงผู้ใหญ่ใน สทศ นะครับ)
เค้าเคยวิเคราะห์กันจริงๆจังๆบ้างหรือเปล่าว่า ทำไม? พอเห็นผลสอบ ก็โยนขี้ไปที่เด็กนักเรียน คะแนนต่ำก็สรุปไปว่าเด็กอ่อนลง แย่ลง ไม่ก็ครูสอนไม่ดี ไม่มีมาตรฐาน
หาเรื่องอบรมครูบ้าง โทษครูว่าไม่มีเทคนิคการสอนที่ดี จริงๆ อาจจะถูกบ้างผิดบ้างปนๆกันไปนะครับ เพราะครูก็เหมือนนักเรียนนั่นแหละ คือมีทุกระดับ ทุกรูปแบบ

อย่างคณิตศาสตร์ ปีแรก ออกง่ายมากๆ ปีต่อมาเริ่มยาก ปีต่อมายากขึ้นไปอีก ปีต่อมาง่ายลง ปีต่อมายากขึ้น เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่มีมาตรฐานของข้อสอบ
ไม่มีความชัดเจน การวัดผลไม่คงที่ คนออกข้อสอบออกข้อสอบตามอารมณ์ตัวเอง ไม่พิจารณาข้อสอบเก่าจากปีก่อนๆ ยิ่งปีล่าสุดนี่ออกทะเลไปใหญ่
เพราะว่า ปรนัยครึ่งนึง อัตนัยครึ่งนึง คะแนนเฉลี่ยก็เลยออกมาอย่างที่เห็น (14.99) เพราะว่าอัตนัยเดากันไม่ได้ ถ้าอัตนัยมาก คะแนนเฉลี่ยก็ต้องต่ำเป็นธรรมดาครับ
เด็กส่วนใหญ่ที่เข้าไปสอบ ไม่ได้ทำข้อสอบ แต่เข้าไปเดาว่าจะตอบข้อไหนดีนั่นเอง

ปัญหาอีกอย่างคือ ระบบการศึกษาที่ผิดพลาด เด็กตก ก็ดันทุรังดันให้เด็กผ่านไปโดยทำงานส่งบ้าง ไม่ก็แก้ให้ผ่านไปเฉยๆ บางคนก็ขอของขวัญจากผู้ปกครอง
เด็กจะได้ผ่าน ระบบที่ผมคิดว่าถูกและน่าจะดี คือ เด็กตก ก็ต้องให้ตก เรียนซ้ำจนกว่าจะผ่าน ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริงตรงจุดนี้ได้ ไม่ใช่หาข้ออ้างต่างๆนานา
เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะถ้าทำกันอย่างนี้ ก็ไม่ควรจะโทษใครแล้วครับ เห็นผลสอบก็ต้องพยักหน้ารับความจริงที่เกิดขึ้น

ถ้าจะวิเคราะห์อย่างจริงจัง ผมว่าปัญหามันมีเยอะมาก มีรอบด้าน แก้ไขยาก เพราะคิดดูสังคมไทยก็มีส่วนอีก กฎหมายถูกคนเลวเข้าไปจำกัด
ยาบ้า และอีกสารพัดยา ตู้เกมส์เปิดกันทุกหย่อมหญ้า แค่เด็กมีเงิน ก็เข้าไปเล่นได้แล้ว เล่นได้ไม่จำกัดเวลา เช้าถึงเย็นถึงค่ำ แล้วอย่างนี้ผลสอบจะดีขึ้นได้หรือ
เด็กนักเรียนที่รักเรียนไปเรียนกวดวิชา ก็ถูกเหมาว่าไปมั่วสุม กวดวิชาเป็นแหล่งนัดพบ โทษว่าเพราะเด็กไปกวดวิชามากเกินไป ทำให้คิดไม่เป็น ผลสอบแย่ลง
คือสามารถโทษได้ทุกเรื่องครับ... ยิ่งเขียนก็ยิ่งหาทางจบไม่เจอ...เอาเป็นว่าเท่านี้ก่อนละกันครับ

(เป็นความคิดเห็น คำวิจารณ์ ส่วนตัวนะครับ ทุกอย่างมันมีสองด้านเสมอ บางคนถูกใจ บางคนไม่ชอบ แล้วแต่จะคิดนะครับ)

nooonuii 08 เมษายน 2011 11:29

ข้อเสียอย่างหนึ่งของคนไทยคือ ไม่มี spirit หรือ sportmanship

โทษโน่นนี่นั่นได้ตลอด ยกเว้นตัวเอง :great:

พฤติกรรมนี้เห็นได้ทั่วไปในสังคมไทยทุกระดับ

สังคมไทยจะน่าอยู่กว่านี้ถ้าคนไทยทุกคนรู้จักโทษตัวเอง

เลิกโทษคนอื่นเถอะครับ มาโทษตัวเองกันดีกว่า

แบ่งความผิดกันไปคนละครึ่ง แล้วรีบแก้ไขในส่วนของตัวเองให้ได้

ผมว่าจบนะ ปัญหามันแก้ไม่ได้ซักทีเพราะว่าทุกคนมัวแต่คิดจะไปแก้ไขเรื่องของคนอื่น

แต่ลืมแก้ที่ตัวเอง ผมเลิกบ่นแล้วเรื่องของคนอื่น หันมาทำมาตรฐานตัวเองให้ดีขึ้นดีกว่า

-SIL- 08 เมษายน 2011 12:26

มาแถมปัญหา เป็นยาแก้ปวดหัวครับ

ร้านพนันออนไลน์ (บาคาร่าออนไลน์)

ซึ่งเป็นบ่อนออนไลน์แบบเรียลไทม์ คือ สมมติว่าผมนั่งเล่นแบล็คแจ็คอยู่ที่บ่อนจริงๆ แล้วจะมีกล้องตั้งไว้ให้คนที่อยู่หน้าคอมเลือกแทงว่าใครจะชนะ แทงถูกก็ได้เงินไป แล้วประโยชน์ที่ผู้เปิดร้านประเภทนี้จะได้รับคือ 10 เปอเซ็น ของรายรับหรือรายจ่ายที่บ่อนได้หลังผู้เล่นหน้าคอมแต่ละคนเอา Account ไปขึ้นเงิน (ซื้อเหมือนบัตรเกมส์เลย) เช่น ผมแลกมา 500 บาท เล่นไปเล่นมาเงินเป็นหนึ่งพันบาทแล้วไปขึ้นเงิน เจ้าของร้านก็จะได้เงิน 50 บาท แต่ถ้าเหลือ 200 บาท แล้วไปขึ้นเงิน เจ้าของร้านก็จะได้เงิน 20 บาท ซึ่งแพร่หลายแล้วล่ะในปัจจุบัน (น่าเปิดมั้ยครับ :laugh:)

nooonuii 09 เมษายน 2011 00:12

คนเราถ้าคิดจะเล่นการพนัน

มดกัดกัน ก็พนันได้ครับ

ผมว่ามันอยู่ที่สำนึกแล้วล่ะ

ถ้าไม่มีคนไปเล่น การพนันพวกนี้เกิดไม่ได้หรอก

ปัญหานี้ต้องแก้ที่บ้านครับ

หยินหยาง 09 เมษายน 2011 01:45

ผมนำข่าวนี้มาให้สมาชิกอ่าน และถามความคิดเห็นก็เพื่อว่า ความคิดดีๆจากสมาชิกอาจเป็นเสียงสะท้อนให้ผู้ใหญ่หรือผู้ที่รับผิดชอบหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาจะได้นำไปพิจารณาและปรับปร ุงให้ระบบการศึกษาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเป็นที่ยอมรับของสากลแล้วว่าประเทศชาติที่เจริญและมีสังคมที่ดีได้ก็เพราะการศึกษาของประชาชนในประเทศนั้น
ผม ต้องขอบคุณในทุกความเห็นครับ

สำหรับผมเองนั้นมีหลายส่วนที่คิดเหมือนกับ คุณ bell18

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ bell18 (ข้อความที่ 114776)
ปัจจัยที่ทำให้คะแนนสอบออกมาแกว่งไปมาทุกปี นั่นก็คือ ความไม่แน่นอนของตัวข้อสอบ นั่นเองครับ (ตัวเองผิดแล้วไม่รู้จักดูตัวเอง หมายถึงผู้ใหญ่ใน สทศ นะครับ)
เค้าเคยวิเคราะห์กันจริงๆจังๆบ้างหรือเปล่าว่า ทำไม?

ผมตอบให้ว่ามีครับ ทำดีซะด้วยขนาดวิเคราะห์ว่าข้อนี้ออกมาทดสอบอะไร เด็กตอบกันได้มากน้อยขนาดไหน ข้อไหนตอบผิดมากสุด ข้อไหนตอบผิดน้อยสุด แต่ผมไม่แน่ใจว่าครูตามโรงเรียนต่างๆจะรู้หรือไม่และสนใจหรือไม่ เพราะมีให้อ่านในเว็บของ สทศ. แนวทางแก้หรือข้อเสนอขอแสดงไว้ตอนท้ายครับ

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ bell18 (ข้อความที่ 114776)
อย่างคณิตศาสตร์ ปีแรก ออกง่ายมากๆ ปีต่อมาเริ่มยาก ปีต่อมายากขึ้นไปอีก ปีต่อมาง่ายลง ปีต่อมายากขึ้น เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่มีมาตรฐานของข้อสอบ
ไม่มีความชัดเจน การวัดผลไม่คงที่ คนออกข้อสอบออกข้อสอบตามอารมณ์ตัวเอง ไม่พิจารณาข้อสอบเก่าจากปีก่อนๆ ยิ่งปีล่าสุดนี่ออกทะเลไปใหญ่
เพราะว่า ปรนัยครึ่งนึง อัตนัยครึ่งนึง คะแนนเฉลี่ยก็เลยออกมาอย่างที่เห็น (14.99) เพราะว่าอัตนัยเดากันไม่ได้ ถ้าอัตนัยมาก คะแนนเฉลี่ยก็ต้องต่ำเป็นธรรมดาครับ
เด็กส่วนใหญ่ที่เข้าไปสอบ ไม่ได้ทำข้อสอบ แต่เข้าไปเดาว่าจะตอบข้อไหนดีนั่นเอง

อันนี้ค่อนข้างเห็นด้วยครับ ความยากง่ายถ้าใครเอาข้อสอบมาลองวิเคราะห์กันตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มใช้จนถึงปีล่าสุดเป็นเวลาทั้งหมด 6 ปี ก็จะอย่างที่คุณ bell18 ว่า แต่คนออกข้อสอบออกข้อสอบตามอารมณ์ตัวเองหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้ครับ และปีนี้เปลี่ยนมาเป็นปรนัยครึี่งหนึ่ง อัตนัยครึ่งหนึ่ง แต่สัดส่วนของคะแนนเป็น 40:60 นะครับ

ปัญหาอีกอย่างคือ ระบบการศึกษาที่ผิดพลาด เด็กตก ก็ดันทุรังดันให้เด็กผ่านไปโดยทำงานส่งบ้าง ไม่ก็แก้ให้ผ่านไปเฉยๆ บางคนก็ขอของขวัญจากผู้ปกครอง
เด็กจะได้ผ่าน ระบบที่ผมคิดว่าถูกและน่าจะดี คือ เด็กตก ก็ต้องให้ตก เรียนซ้ำจนกว่าจะผ่าน ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริงตรงจุดนี้ได้ ไม่ใช่หาข้ออ้างต่างๆนานา
เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะถ้าทำกันอย่างนี้ ก็ไม่ควรจะโทษใครแล้วครับ เห็นผลสอบก็ต้องพยักหน้ารับความจริงที่เกิดขึ้น

เรื่องอย่างนี้ต้องแ้ก้กันทุกส่วน

ส่วนที่ 1 ส่วนที่กำกับและดูแล วางนโยบาย ได้แก่ กระทรวงศึกษา สพฐ สทศ สมศ ...
ส่วนนี้คงต้องทำการวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและประสานไปยังหน่วยงานของผู้ปฏิบัติก็คือครูตามโรงเรียนต่างๆซึ่งสังกัด สพฐ อยู่แล้ว ผมก็เห็นมีเชิญผู้ปกครอง เด็ก ครู ไปนั่งเสวนากันทุกปี แล้วก็เหมือนเดิม ผมคิดว่าไม่ยากเพราะหลักสูตรมีอยู่แล้ว แต่ยากตรงที่สามารถกำกับได้หรือไม่ว่าครูตามโรงเรียนสอนได้ตรงตามหลักสูตรและได้คุณภาพ เรื่องนี้ถ้าจะแก้ก็ให้ครูสอบคู่ขนานไปพร้อมกับเด็กก็ได้แล้วดูว่ามาตรฐานของครูผู้สอนควรเป็นเท่าไร ก็วัดกันถ้าไม่ถึงก็ต้องปรับแก้กัน ส่วนเรื่องเทคนิคการสอนก็หรือการถ่ายทอดก็จัดอบรม... และที่ในข่าวบอกว่าต้องเน้นใช้ ไอซีที ผมเห็น tutor channel ท่าน รมว. ก็กินเวลาเอาไปเกือบครึ่งแล้ว ทุกสัปดาห์ไม่รู้จุดประสงค์จะ PR หรือจะให้เด็กได้มีเวลาเรียนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมจัดมาตั้งปีแล้วทำไมไม่สอนให้ตรงแนว โอเน็ต ละ ....

ส่วนที่ 2 ส่วนของครู
ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญ เด็กจะผ่านหรือไม่ก็อยู่ทีส่วนนี้ ครูแต่ละคนก็มีภารกิจไม่เท่ากัน และความตั้งใจที่จะหาความรู้ใหม่หรือรูปแบบในการสอนใหม่ก็ไม่ใช่จะมีกันทุกคน ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญ จึงควรมีการทดสอบองค์ความรู้เหมือนกัน ส่วนรูปแบการให้ผ่านชั้นหรือไม่เป็นส่วนที่ต้องเข้มงวดเหมือนกัน เพราะหมายถึงความรู้ที่ติดตัวต่อไป ปัจจุบันถ้าเป็นห้องธรรมดา ผลจะมาจากคะแนนจะเก็บ 80 คะแนน สอบอีก 20 คะแนน บางครั้งสิ่งที่โหลดเกินไปก็เป็นคะแนนเก็บเพราะต้องทำรายงานลอกหนังสือในบทเรียนส่ง ผมเคยคิดว่าทำแล้วเด็กฉลาดขึ้นหรือโง่ลง ผลก็คือเด็กฉลาดขึ้นคือลอกบรรทัดเว้น 2 บรรทัดก็มี ให้คนอื่นช่วยเขียนก็มี สิ่งนี้ก็ต้องคิดเหมือนกัน ...เป็นพอสังเขป เดี๋ยวครูมาอ่านจะรู้เทคนิค ส่วนพอเด็กตก ก็ต้องให้ผ่าน วิธีที่ทำกันเป็นส่วนมากก็คือ ให้ทำรายงานเพิ่มโดยเขียนมาส่งเพราะคิดว่าถ้าให้พิมพ์เดี๋ยวเด็กมันตัดแปะอีก ผมว่าถ้ายังนี้เด็กมันผ่านไปมันได้แต่ฝึกคัดลายมือทนแค่นั้นเอง อันที่จริงครูควรเรียกมาสอนเพิ่มเติมหรือดูว่าเด็กยังขาดส่วนไหน หรือไม่งั้นก็บอกไปเลยสรุปเป็นเนื้อหาสาระที่จะต้องรู้เมื่อจบชั้นนี้ไป โดยบอกข้อสอบเด็กไปเลยก็ได้ แต่บอกว่าหน้าที่ของเด็กต้องไปจำหรือทำความเข้าใจมาสอบ อย่างน้อยๆเด็กยังได้ความรู้ที่ต้องรู้ในหลักสูตร

ส่วนที่ 3 ส่วนของนักเรียน
ส่วนนี้เป็นส่วนที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบวินัย ที่คอยกวนใจให้ไม่มีสมาธิในการเรียน ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีระเบียบวินัย ควรมีแน่นอน แต่การมีระเบียบวินัยนั้นจะต้องมาจากจิตสำนึกมาจากการพูดคุยไม่ใช่มาจากการบังคับและลงโทษ พอมาเรื่องเรียน เด็กทุกคนผมเชื่อว่าอยากเรียนดีกันทั้งนั้น แต่ทุกคนไม่ใช่จะมีมันสมอง และปัญญาที่เท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่มีเท่ากันคือเวลา ถ้าได้รับการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกที่ดี เรื่องหัวไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะเราไม่ได้ต้องการสร้างให้ทุกคนเป็นอัจฉริยะเพียงแต่ต้องการให้ทุกคนผ่านมาตรฐาน ดังนั้นความขยันและอดทน มันทำให้ไปถึงได้ ถ้ามีส่วนนี้แล้วก็ไม่ต้องไปกังวลว่า เด็กจะตั้งใจสอบหรือไม่ หรือเด็กสอบติดแล้วจะทำให้ค่าเฉลี่ยลดลง เหมือนกับที่มีข่าวปีนี้ ว่าให้เลื่อนการประกาศคะแนนแพทย์ออกไป ซึ่งผมมองว่าถ้าโชคดีเลื่อนออกไปแล้วทำให้ค่าเฉลี่ยมันสูงขึ้นก็จะดีใจว่ามาตรฐานดีขึ้นอย่างงั้นหรือ ไม่หลอกตัวเองไปหน่อยหรือครับ เสนอความเห็นเท่านี้ก่อนไม่ไหวแล้วเริ่มง่วง :sweat:

fuukun 09 เมษายน 2011 19:49

คุณหยินหยาง สุดยอดไปเลยค่ะ>_<)b

-SIL- 09 เมษายน 2011 23:49

อ้างอิง:

ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ หยินหยาง (ข้อความที่ 114839)
ผมนำข่าวนี้มาให้สมาชิกอ่าน และถามความคิดเห็นก็เพื่อว่า ความคิดดีๆจากสมาชิกอาจเป็นเสียงสะท้อนให้ผู้ใหญ่หรือผู้ที่รับผิดชอบหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาจะได้นำไปพิจารณาและปรับปรุงให้ระบบการศึกษาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเป็นที่ยอมรับของสากลแล้วว่าประเทศชาติที่เจริญและมีสังคมที่ดีได้ก็เพราะการศึกษาของประชาชนในประเทศนั้น
ผม ต้องขอบคุณในทุกความเห็นครับ
:

ทำไมต้องวางเดิมพันไว้กับเขาล่ะครับ :wub:

หยินหยาง 10 เมษายน 2011 21:31

ลองดูผลสำรวจของดุสิตโพล์เกี่ยวกับการสอบ โอเน็ต


นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนของผลสำรวจ
........
4. นักเรียนมองลักษณะภาพรวมของการสอบเป็นอย่างไร?
อันดับ 1
ข้อสอบยาก ไม่ตรงกับเนื้อหาที่เรียนหรือที่เตรียมมา
48.35%
อันดับ 2
ท่าให้รู้ถึงระดับความรู้ความสามารถของนักเรียน และคุณภาพการเรียนการสอน
20.08%
อันดับ 3
เป็นข้อสอบที่ต้องอาศัยการคิดและวิเคราะห์อย่างมาก
18.63%
อันดับ 4
แนวข้อสอบของแต่ละปีไม่เหมือนกัน ท่าให้เก็งข้อสอบยาก
12.94%
.......
6. อาจารย์ผู้สอน สอนได้ครอบคลุมข้อสอบ O-NET ที่ออกหรือไม่?
อันดับ 1
ไม่ครอบคลุม
56.22%
เพราะ อาจารย์ส่วนใหญ่สอนไม่ตรงกับข้อสอบที่ออกมา บางข้อค่าถามไม่เคยเรียนในห้องเรียน ,วิธีการสอนของแต่ละท่าน ไม่เหมือนกัน ฯลฯ
อันดับ 2
ครอบคลุม
43.78%
เพราะ มีการน่าข้อสอบเก่าๆที่ผ่านมา มาติวและสอนแบบเจาะลึกมากขึ้น ,อาจารย์มีประสบการณ์ในการสอนสูง ฯลฯ

............

สนใจฉบับที่ส่งให้กับทางสื่อสารมวลชนก็ที่นี่เลยครับ
http://dusitpoll.dusit.ac.th/polldat...1302401870.pdf

ครูนะ 21 เมษายน 2011 22:14

ปล่อยโรงเรียนเป็นแบบนี้ดีแล้ว อย่าไปเปลี่ยนอะไรเลยครับ

ส่วน tutor channel ยกเลิกไปได้ก็ดีครับ

เดี๋ยวผมจะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ (อดตาย)

ผมขอเงินสอนพิเศษพอประทังชีวิตอยู่กินไปวันๆ ก็พอแล้วครับ ไม่ได้หวังอะไรเลยจริงๆ

เดี๋ยวนี้ครูในโรงเรียนก็ออกมาสอนพิเศษตอนเย็นกันหมด

โรงเรียนรัฐบางโรงเรียนก็เห็นเด็กเรียนพิเศษกับครูในโรงเรียนตอนเย็นนั่นแหละ

เคยเจอไหม ครูไม่สอนนักเรียนมาก แต่ดันบอกนักเรียนว่า เอามะ เดี๋ยวครูจะบอกว่า

ออกข้อสอบตรงจุดไหน มาเรียนพิเศษกับครูตอนเย็นซิ

การศึกษาไทยในระบบโรงเรียนเดี๋ยวนี้มันพังและเละไปหมดแล้ว

ในระบบอุดมศึกษา พังและเละ หรือเปล่าไม่รู้ เห็นมี ดร.คนหนึ่ง วิจารณ์อยู่

เอกกฤต 22 เมษายน 2011 10:29

ความจริงคือ => ครูสอนไม่ครอบคลุม + ข้อสอบโอเวอร์ = ล้มเหลว :(

Little Penguin 03 พฤษภาคม 2011 21:37

หวังว่าคงไม่ใช่การขุดกระทู้ = ="

ขอออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องระบบการศึกษาเลย เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าระบบมีปัญหาในส่วนไหนบ้าง แล้ววิธีแก้หรือปรับ
ปรุงให้ดีขึ้นจะทำได้อย่างไร


มันอาจจะฟังดูแปลก แต่ผมคาดหวังกับโรงเรียนว่าโรงเรียนจะให้ประโยชน์กับผมได้

ประโยชน์ในที่นี้ ก็ไม่ต้องเป็นความรู้ แต่อาจจะเป็นการเข้าสังคม หรือรู้ถึงความคิดของคนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็ช่วยผมให้เห็นว่าสังคมที่ผมจะเข้าไปอยู่ในอนาคต
เป็นอย่างไรบ้าง ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าโรงเรียนจะต้องให้ความรู้ทุกๆอย่างที่ผมต้องการแก่ผมได้ เพราะสุดท้ายแล้วผมคิดว่าทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อตัวเองกันบ้าง ไม่
ใช่คาดหวังอย่างเดียวว่าจะมีคนมาป้อนทุกๆอย่างให้แก่เรา


ความรู้ ถ้าคนสนใจแล้วอยากรู้จริงๆ ผมเชื่อนะครับว่าสุดท้ายแล้วคนๆนั้นก็ต้องอยากค้นหาเองแหละ (ถ้าสนใจจริงๆนะครับ)

ผมเรียนสายวิทย์ ผมสนใจเรื่องดนตรี ผมซื้อหนังสือดนตรีมาอ่าน มันก็สนุกดี ผมก็มีความสุข โรงเรียนก็ไม่ได้สอนเรื่องนี้ด้วย(เพราะผมไม่ได้เรียนโรงเรียน
ดุริยางค์ = =") <<< นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ต้องการให้เห็นว่าต่อให้ผมไม่สามารถหาความรู้พวกนี้ได้ในโรงเรียนที่ผมเรียนสายวิทย์ แต่ผมก็มีความอยากที่จะขวน
ขวายเรื่องที่ตัวเองอยากรู้หรือคิดว่าจะมีประโยชน์ในภายหลัง แล้วก็ไม่ต้องพึ่งใครให้มาสอน ถึงแม้ว่าวิธีนี้อาจจะเชื่องช้าหรือได้คุณภาพต่ำกว่ามีคนที่มีความรู้มา
สอนให้เราโดยตรง


แต่ผมก็ไม่ได้บอกนะครับว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนตอนนี้มีความพร้อมที่จะให้การศึกษาแก่เด็กอย่างมีคุณภาพพอ จุดนี้ผมก็คงต้องยกให้คนอื่นหาวิธีแก้ไขหรือ
พัฒนาต่อไป เพราะส่วนตัว พูดด้วยความสัตย์จริงว่าผมมองว่าปัญหานี้เหมือนก้อนเชือกที่พันกันมั่วจนหาต้นหาปลายไม่เจอ แล้วก็ดูหนักเกินไปสำหรับผมที่จะหา
ต้นกับปลายเชือกแล้วค่อยๆนั่งแก้ปมจนได้เชือกเส้นตรงๆมา


อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะบอก ซึ่งมันอาจจะสวนกระแสบ้าง คือ "บางทีข้อสอบมันไม่ได้เกินหลักสูตรหรอก"
บอกก่อนนะครับว่าไม่ได้จะออกมาปกป้องคนออกข้อสอบทุกคน ข้อสอบหลายๆอย่างก็มีโจทย์ที่ผมก็ไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของคนออกข้อสอบว่าต้องการอะไร
หรือว่าถูกต้องตามหลักการจริงๆหรือไม่ แล้วสามารถใช้วัดผลได้ตามจุดประสงค์ของคนออกข้อสอบหรือไม่
แต่มีคนที่เตือนสติผมว่าบางทีมุมมองของเราที่มีต่อข้อสอบที่เราทำไม่ได้อาจกลายเป็นว่าเราอาจจะแค่คิดไม่ถึงกับตัวโจทย์นั้นๆเอง เพราะโจทย์มีความลึกซึ้งที่
สามารถหลอกเราให้จนมุมได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เราต้องปรับปรุงตัวเองแล้วล่ะครับว่าทำไมเราถึงเป็นคนพลาดเอง


มันอาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวผมชอบโทษตัวเองเวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา แล้วจะค่อยสบายใจลงเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แต่บางทีจุดนี้ก็อาจจะช่วยให้ผม
มองเห็นโลกในอีกมุมหนึ่งที่ดูทั้งน่าสนใจและน่าสังเวชในเวลาเดียวกัน


อยากให้เวลาเกิดอะไรขึ้นจริงๆ แล้วทุกคนมาปรับปรุงในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด แค่นี้ผมว่าอะไรหลายๆอย่างก็ดีขึ้นแล้วครับ คนที่ทำอยู่แล้ว ก็อยากให้ทำต่อไป ส่วนคนที่ยังไม่ได้ทำแล้วคิดอยากจะทำ ก็คงดีไม่น้อยครับ

ผู้โง่เขลา 05 พฤษภาคม 2011 10:19

เม้นข้าวบนๆ ก็ดีนะครับ แต่ในความคิดผม ในฐานะ คนที่เพิ่งสอบอ่ะครับ ผมคิดว่า เด็กบางคนที่ได้ตอนสอบตรงแล้ว หรือได้โควต้าแล้ว ก็ไม่ต้องการคะแนนโอเน็ต เข้าไปหลับ หรือ กามั่วเยอะครับ สัมผัสมาแล้ว แหะๆ


เวลาที่แสดงทั้งหมด เป็นเวลาที่ประเทศไทย (GMT +7) ขณะนี้เป็นเวลา 11:27

Powered by vBulletin® Copyright ©2000 - 2024, Jelsoft Enterprises Ltd.
Modified by Jetsada Karnpracha