ดูหนึ่งข้อความ
  #6  
Old 21 ธันวาคม 2006, 10:59
SOS_math's Avatar
SOS_math SOS_math ไม่อยู่ในระบบ
จอมยุทธ์หน้าใหม่
 
วันที่สมัครสมาชิก: 10 กันยายน 2003
ข้อความ: 70
SOS_math is on a distinguished road
Post

วันนี้ขอเล่าต่ออีกละกันนะครับ

ในกองบรรณาธิการ (Editorial Board) ของวารสาร ก็จะมีบรรณาธิการสูงสุด (Editor-in-chief) ที่มักจะเป็นปรมาจารย์ที่สำเร็จวิชาขั้นสุดยอด ได้รับการขนานนามว่าเป็นเลิศทางด้านศาสตร์นั้น ๆ จะรู้กันเองในแวดวง (เหมือนในหนังจีนแหละครับ จอมยุทธบ้านนอกบ้านนาเจอวิชาแปลก ๆ ก็ไม่มีทางทราบว่าใครเป็นต้นตำรับหรือเป็นผู้เยี่ยมยุทธทางด้านนั้น) เท่าที่ทราบไม่มีและไม่เคยมีคนไทยเป็น บรรณาธิการสูงสุด ของวารสารวิชาการทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง เช่น Journal of Algebra, Journal of Graph Theory หรือ Journal of Number Theory เป็นต้น ส่วนวารสารคณิตศาสตร์ทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับกันในวงการก็ยังไม่เคยเห็นคนไทยเข้าเป็นสักที แต่ว่าบ้านเราก็มีวารสารคณิตศาสตร์ทั่วไปที่ค่อนข้างสากล อยู่สองอันนะครับ คือ East-West Journal of Mathematics และ Thai Journal of Mathematics ส่วนตัวผมก็ภูมิใจนะที่เรามีอะไรจะบอกชาวต่างชาติว่าเราก็เข้มแข็งทางคณิตศาสตร์อยู่บ้าง

กลับมาที่เรื่อง กองบรรณาธิการ แล้วกัน (นอกเรื่องไปไกลแล้ว) จะเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญในหลายแขนง เพราะว่าต่อให้บรรณาธิการสูงสุดจะเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีทางรู้ทุกอย่างและตัดสินใจยอมรับหรือปฏิเสธผลงานได้ทุกชิ้น นอกจากนี้ถ้าต้องอ่านคนเดียวก็ไม่ต้องทำอะไรพอดี

เมื่อบทความฉบับหนึ่งถูกส่งมาที่กองบรรณาธิการ ก็จะมีการคัดกรองเบื้องต้นว่าเข้าข่ายการพิจารณาให้ลงวารสารดังกล่าวหรือไม่ เช่น เนื้อเรื่องเป็นคณิตศาสตร์บริสุทธิ์มาก ๆ ไม่มีบทประยุกต์ในชีวิตประจำวันเลย แต่ส่งมาวารสาร Bulletin of Mathematical Biology มันก็ผิดที่ผิดทางมากไปหน่อย หากผ่านด่านแรกไปได้ หลังจากนั้นถ้ามีคนในกองบรรณาธิการอ่านได้ก็จะมอบหมายให้อ่านตรวจทานความถูกต้องและทันสมัยของเนื้อหา หรือไม่ก็กองบรรณาธิการจะหาคนอ่านที่เหมาะสม (referee) มารับผิดชอบอ่าน บางครั้งอาจมี referee 1-8 คนเพื่ออ่านเรื่อง ๆ เดียวกันนี้ เท่าที่ทราบนะครับ ตรงนี้มีคนไทยได้รับการติดต่อในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ ส่วนการพิจารณาก็จะมีหลายอย่าง เช่น ความถูกต้อง ลีลาการเขียนการถ่ายทอดที่กระชับและน่าสนใจ หรือแม้แต่การเขียนบรรณานุกรม-เอกสารอ้างอิง ตรงนี้มีรายละเอียดมากจริง ๆ ครับ จะมาเล่าวันหลังแล้วกัน

ระบบการอ่านตรวจทานนี้มีเพื่อช่วยให้วารสารมีเนื้อหาที่ถูกต้องทันสมัย ไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะว่าบางครั้งมีการคิดหรือการแก้ปัญหาที่เหมือนกันมานำเสนอ หรือไม่ก็มีการคำนวณที่ผิดพลาดเกิดขึ้นส่งผลให้ผลลัพธ์ผิดอย่างร้ายแรง ระบบดังกล่าวจะลดเหตุการณ์ดังกล่าวลง บางครั้ง(นานมาก ๆ เกิดที) บางคนก็ลอกผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง บางคนก็คิดอะไรที่จริง ๆ แล้วเป็นแค่ตัวอย่างของทฤษฎีหลักที่มีคนคิดมานานแล้ว บางคนก็ทำงานมาซ้ำกับคนอื่นแบบเดียวกันยังกับ clone กันมายังไงยังงั้นเลย (คณิตศาสตร์เป็นงานศาสตร์ไม่ใช่ศิลป์ก็เลยเป็นไปได้ จริง ๆ เคยเห็นมาแล้ว คนไทยกับคนต่างชาติคิงานออกมาเหมือนกันเลย บทพิสูจน์ก็ใช้เครื่องมือเดียวกัน)

อย่างว่ามนุษย์ก็เป็นมนุษย์อยู่วันอย่างค่ำ ความอ่อนแอของระบบนี้ก็มี คราวหน้าจะเล่าต่อเรื่องนี้และแนวทางแก้ไขนะครับ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้