ดูหนึ่งข้อความ
  #10  
Old 09 มิถุนายน 2011, 04:47
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

H. เทศน์บนธรรมาสน์

ผมมีลางสังหรณ์ตั้งแต่กลับจากวิปัสสนาว่า วันพระหน้า ได้ขึ้นเทศน์แน่ๆ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆครับ เพราะพระที่ดูแลเรื่องนี้ ส่งกัณฑ์เทศน์ให้ผมก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน เพื่อเทศน์ในวันพระ 25 พ.ค. (ก่อนสึก 3 วัน) ปกติที่นี่จะมีเทศน์ทุกวันพระอยู่แล้วครับ โดยจะมีพระอาวุโส เลือกองค์ที่ขึ้นเทศน์และเลือกกัณฑ์เทศน์ให้เรา

ลักษณะ กัณฑ์เทศน์ จะเป็นแผ่นยาวๆ มีหลายทบครับ ดูเหมือนไม่ยาก เพราะแค่อ่านตามกัณฑ์เทศน์ แต่ต้องซ้อมนะครับ จะมา script สด ไม่ได้

กัณฑ์ที่ผมได้ ชื่อเรื่องว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง หรือ ความสุขนอกเหนือจากความสงบไม่มี ความยาว 11 ทบ ซึ่งถือว่าไม่ยาวมาก เมื่อเทียบกับกัณฑ์ของน้องอีกคน ที่อยู่กุฏิเดียวกับผม ที่เทศน์ วัน วิสาขบูชา (อันนั้น 17 ทบ)

เวลาที่ใช้เทศน์ จะอยู่ที่ 20-25 นาทีครับ เรียกว่าต้องแรงดีไม่มีตก ตลอดช่วงที่เทศน์ครับ

จะมีการซ้อม 2 รอบ รอบแรก คือหลังจากได้กัณฑ์เทศน์ไป 3-4 วัน ก็จะนั่งบนเก้าอี้ธรรมดาแล้วลองเทศน์ให้พระที่ดูแลเรื่องนี้ฟัง รอบที่สอง คือหลังทำวัตรเช้าของวันจริงครับ ซึ่งจะได้ซ้อมบนธรรมาสน์ ออกไมโครโฟนจริงๆ

ขั้นตอนในการเทศน์ จะเริ่มจาก สวด นะโม 5 ชั้นครับ หมายความว่า สวดนะโม ธรรมดา 3จบ แต่ตัดเป็น 5 วรรค มันจะเป็นอย่างนี้ครับ : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ // ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ // นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต // อะระหะโต สัมมา // สัมพุทธัสสะ รวม 5 วรรคพอดี จากนั้นจะมีช่วง intro ว่าจะเทศน์เรื่องอะไรให้ญาติโยมฟัง ก็จะต้องพูดช้าๆเนิบๆครับ จนพอถึงช่วง ที่บอกว่า มีใจความดังนี้ ก็จะเริ่มเป็นจังหวะปกติ เร็วขึ้นได้ แต่ต้องไม่ speed จนญาติโยมตามไม่ทัน และพอตอน ending ก็จะต้องพูดช้าๆเนิบๆอีกรอบ ตรงไหนในกัณฑ์เทศน์ที่มีบาลี จะต้องพูดช้าๆครับ

ส่วนตอนก่อนขึ้นเทศน์ ขั้นตอนจะเริ่มจาก พอฆราวาสที่นำสวด เริ่ม บทลาข้าวพระพุทธ (เสสัง มังคะลา ยาจามิ) เราก็จะคุกเข่า ถอยหลังออกจากคณะสงฆ์ที่นั่งอยู่ แล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์ เจ้าอาวาสที่นั่งหัวแถว ค่อยๆลุกอย่างสำรวม เดินไปที่ธรรมาสน์(ซึ่งสูงเลยต้นขามานิดนึง) และก้าวขึ้นนั่งพับเพียบอย่างสำรวม จัดตำแหน่งไมค์ให้เรียบร้อย แต่อย่าเพิ่งเปิดไมค์ พอฆราวาสสวด อาราธนาธรรม(พรัหมมา จะโลกา ธิปติ สะหัมปะติ กัตอัญชะลี....) ไปได้กลางท่อน เราก็ไหว้กัณฑ์เทศน์ที่วางอยู่ขวามือ หยิบกัณฑ์เทศน์ แล้วรอช่วงที่อาราธนาธรรมเสร็จ ก็เปิดไมค์ ขึ้น นะโม 5 ชั้น แล้วก็เทศน์ยาวเลยครับ

ปัญหาตอนเทศน์จริงคือ เหงื่อแตกพลั่กๆเลยครับ เพราะตรงที่ธรรมาสน์ไม่มีพัดลม ส่วนเรื่องเหน็บ ไม่หนักเท่าตอนซ้อมใหญ่ (อาจจะเป็นเพราะแรงอธิษฐานของผมตอนก่อนขึ้นเทศน์ ว่าให้ผ่านไปอย่างราบรื่น) พอเทศน์จบ ก็ลงจากธรรมาสน์ กราบเบญจางค์ 3 ครั้งเจ้าอาวาส แล้วคลานเข่ามานั่งตรงกลาง ซึ่งพระจะเว้นที่ให้เรา ตรงกับตำแหน่งที่มีพานที่ญาติโยมถวายสังฆทานตั้งไว้ วันจริง โยมพ่อ โยมแม่ จะเป็นคนถวายของให้ผมปิดท้ายครับ

วันเทศน์จริง ผมก็สวมวิญญาณ เหมือนเด็กมัธยมที่ไปแข่งอ่านฟังเสียงระหว่างโรงเรียนเลยครับ ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะโยมพ่อ โยมแม่มาฟังด้วย ที่ดีใจมาก คือ มี feedback จากคนรู้จักที่ไม่ใช่ญาติ จำบางท่อนเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ กั้นขวางความสงบ ที่ผมเทศน์ได้ OHO ! ตื้นตันมาก

I. วันลาสิกขา

ฤกษ์สึก เป็นสิ่งที่บุพการีทุกบ้านให้ความสำคัญมาก เพราะการสึกหรือลาสิกขา คือ การตายจากเพศสมณะไปสู่เพศฆราวาส เหมือนคนเกิดใหม่น่ะครับ ก็อยากได้ฤกษ์ดีๆ

สมัยก่อน จะมีบางคน ที่สึกก่อนเวลา แล้ว รถชนตาย หรือเป็นบ้าไปเลยก็มี อันนี้เป็นเรื่องของความเชื่อน่ะครับ เพราะจริงๆ สมัยพุทธกาล ก็ไม่มีการให้ฤกษ์สึก และผมได้คุยกับบางองค์ที่สึกแบบฤกษ์สะดวก ก็มีครับ

การลาสิกขาง่ายกว่าตอนขอบวชเยอะมากครับ เริ่มจากก่อนสึกจริง ต้องนิมนต์พระ 5 รูป รวมอุปัชฌาย์ และก็บอกวัน เวลาสึกของเราให้พระทั้ง 5 รูปทราบ (ควรนิมนต์พระก่อนหลายวัน) อย่าง 5 รูปของผม ก็จะมี เจ้าอาวาส ,หลวงน้าสารสิน ,พระอุปถัมภ์ ,พระที่บิณฑบาตกับผม แล้วก็พระที่โกนหัวให้ผมตอนวันโกนครับ ซึ่งเป็นรูปเดียวกับที่แต่งตัวให้ผมวันบวช (และเป็นพระเถระด้วย)

ฤกษ์สึกของผม วางมาตั้งแต่ก่อนบวชครับ โดยผมเป็นคนวางฤกษ์สึกเองทั้งหมด ตามหลักโหราศาสตร์ แล้วก็ spare ไว้ 2 ฤกษ์ด้วย เผื่อกรณีที่ชนกับงานสำคัญที่วัด เช่น มีบวชพระใหม่ ก็จะใช้อุโบสถไม่ได้

ฤกษ์สึกที่ดีของแต่ละคนต่างกันครับ และ ถ้าจะเอาแบบ perfect จริงๆ ต้องบอกว่า หาไม่ง่ายครับ โดยเฉลี่ย 1 ปีมีไม่เกิน 2-3 ฤกษ์ ดังนั้น ผมจึงใช้แค่ ฤกษ์แบบ optimal ก็พอ คือให้มันส่งเสริมพื้นดวงเดิม ถ้ามันจะมีอะไรเสียๆบ้าง ก็ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่เจ้าชะตารับได้

ที่นี่ เวลาใครใกล้จะสึก ก็จะไปเคาะประตูห้องเจ้าอาวาส ให้ท่านดูให้ เว้นเสียแต่บาง case ที่พึ่งคนนอก หรืออย่าง case ของผมที่ดูเองได้ ฤกษ์ดีๆ บางที ก็มากับเวลาแปลกๆ ครับ อย่างบางรูปสึกหลังเที่ยงคืนก็มีครับ

ผมลาสิกขา ตอน 8:40 วันเสาร์ที่ 28 /5/2011 ใน ปุษย ราชาฤกษ์ จริงๆ ผมวางเป็น range กว้างๆ ไว้ว่า 8:35- 9:15 ซึ่งมันจะคาบเกี่ยว ราชาฤกษ์ไปถึงสมโณฤกษ์

ก่อนวันสึกจริง ผมก็บอกโยมพ่อ โยมแม่ ว่าน่าจะมีเลี้ยงพระเช้าวันสึกด้วยนะ โดยมาสรุปที่ ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว และติ่มซำ ถือเป็นการสร้างกุศลแบบจัดเต็มส่งท้ายครับ (หลังฉันเช้าเสร็จเห็นคนงานที่วัด โซ้ยกันสนุกสนานมาก)

การลาสิกขา ทำในอุโบสถครับ เริ่มจาก ขอขมาพระรัตนตรัย โดยวันนั้นหลวงน้าสารสิน มานำสวดให้ แล้วก็ตามด้วยการท่องคำลาสิกขา 2 บรรทัด 3 รอบ : สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์

จากนั้น พระอุปัชฌาย์ ก็จะปลดสังฆาฏิออกด้านไหล่ซ้าย แล้วให้เราไปเปลี่ยนเป็นชุดขาว หลังพระประธาน โดยถอดชุดที่ห่มดองออก ทางศีรษะนะครับ ย้ำว่าถอดทุกอย่าง ทั้งสบง จีวรและอื่นๆขึ้นทางหัวให้หมด เพราะเราไม่ใช่พระแล้ว

พอเปลี่ยนเป็นชุดขาวเสร็จ ก็กลับมาที่หน้าคณะสงฆ์ทั้ง 5 แบบเดิม แล้ว สวดคำอาราธนาพระรัตนตรัย (อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ....) ตามด้วยสวดขอศีล (มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ...) จากนั้น พระท่านก็จะนำสมาทานศีล 5 ครับ ปิดท้ายด้วยสวดชยันโต กรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี

แล้วเจ้าอาวาสหรือพระที่อาวุโสรองลงมา ก็จะให้พรเราเป็นภาษาไทย ขั้นตอนทั้งหมดไม่เกินครึ่งชั่วโมงครับ ช่วงที่ท่านพรมน้ำมนต์ รู้สึกขนลุกครับ (ชั่วโมงที่แล้วเป็นพระ พอตอนนี้เป็นทิดซะแล้ว)

วันบวช ก็บวชนาคคู่ วันลาสิกขา ผมก็ลาสิกขาคู่ครับ แต่ไม่ใช่กับองค์เดิม เป็นพระใหม่ที่มาบวชกลางเดือน

สิ่งที่ผมทำในคืนก่อนลาสิกขา ก็คือล้างห้องน้ำในกุฏิครับ โดยมีพระอุปถัมภ์มาช่วยอีกแรง ตอน 2 ทุ่มกว่า ส่วนพอลาสิกขาแล้ว ก็ถวายเงินทั้งหมดคืนวัดครับ ตั้งแต่ที่ผมได้มาตอนรับกิจนิมนต์ รวมกับตอนที่ญาติโยม ใส่ย่ามให้วันบวช สิริรวมเป็นเงิน 14,770 บาทครับ

หลังจากถวายเงินคืนวัดแล้ว ก็มาซัก จีวร สบงที่เหลือ ตากและพับคืนวัด ก่อนกลับบ้าน และไปลาพระที่เราเคารพนับถือ ก่อนกลับครับ โดยคุกเข่ากราบเบญจางค์ 3 ครั้งต่อหน้าท่าน แล้วท่านก็จะให้พรเราครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------

Note : เหลืออีก 1 part สุดท้ายที่เป็นบทสรุปของการบวช ใน post หน้าครับ
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้