ดูหนึ่งข้อความ
  #1  
Old 19 สิงหาคม 2010, 21:11
หยินหยาง's Avatar
หยินหยาง หยินหยาง ไม่อยู่ในระบบ
กระบี่จักรวาล
 
วันที่สมัครสมาชิก: 06 มกราคม 2007
ข้อความ: 2,919
หยินหยาง is on a distinguished road
Default สอนอย่างไร เด็กไทยถึงจะคิดเป็น

เอามาให้อ่านเล่นๆ ครับ เผื่อมีคนสนใจ

สอนอย่างไร เด็กไทยถึงจะคิดเป็น

“เด็กไทยไม่เก่งเรื่องการคิด การใช้เหตุผลก็เพราะครูไทยเองก็ไม่สัดทัดในการใช้เหตุผล เราให้ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงแต่เราไม่ให้ความรู้ที่เป็นทักษะการคิด ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายที่เด็กไทยเสียเวลาในการเรียนรู้ข้อเท็จจริงมากเป็นร้อย ๆ หน้า โดยไม่ได้อะไรเป็นผลตอบแทนเลย”

จากสภาพการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กไทย ซึ่งจะพบว่า นักเรียนมีศักยภาพในด้านทักษะการคิดต่ำ ปัญหาของเด็กที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน คือ พื้นฐานในการเรียนรู้ในโลกอนาคต กระบวนการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นผลมาจาก เด็กไทยคิดไม่เป็น จึงส่งผลให้แก้ปัญหาไม่ได้
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดการเรียนการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลางในโรงเรียน เน้นการให้ความรู้ การให้นักเรียนท่องจำเป็นสำคัญ ไม่ได้ฝึกให้เด็กเกิดทักษะการคิด การแก้ปัญหา ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในระบบโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่แนวคิดเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีการนำมาเผยแพร่ในเมืองไทยกว่า 20 ปี และเกือบจะ 30 ปี มาแล้ว การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2503 เป็นหลักสูตร พ.ศ. 2521 ก็ได้ใช้แนวคิดหลักในการเปลี่ยนแปลง ต่อมาเมื่อหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2533 แนวคิดนี้ก็ยังคงอยู่จวบจนปัจจุบันที่มีการปฏิรูปการศึกษา และเปลี่ยนเป็นหลักสูตร พ.ศ. 2544 แล้วก็ตาม ก็ยังปรากฏให้มีการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน โดยให้ใช้แนวความคิดนี้
ระบบการเรียนการสอนในอดีตที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่ได้ให้ความสำคัญของกระบวนการคิดเท่าที่ควร การจัดการเรียนการสอนได้มีการท่องจำที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนานหลายร้อยปี ทำให้เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ขาดความสามารถในการวิเคราะห์ ไม่เสริมสร้างให้ผู้เรียนคิดเป็น วิเคราะห์และประยุกต์เป็น ส่งผลให้สิ่งที่เรียนมากลายเป็นความรู้ที่ไม่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตได้ ครูมีหน้าที่เป็นนักถ่ายทอดข้อมูลมากกว่าเป็นผู้ชี้แนะความรู้ การวัดผลไม่ได้ช่วยช่วยฝึกให้ผู้เรียนรู้จักใช้ความคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์
นอกจากนั้นแล้ว นักเรียนยังเคยชินกับการสอนและการสอบที่นิยมคำตอบที่ดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว (Best Answer) โดยนักเรียนจะให้ความสนใจแต่คำตอบที่สุด (key) ละเลยคำตอบที่เป็นตัวลวง (distracter) ที่ถูกน้อยกว่า เป็นการปลูกฝังให้นักเรียนมองปัญหาด้านเดียว หรือมองโลกแบบมิติเดียว ไม่สามารถมองโลกแบบหลายมิติได้ มองว่าปัญหาหนึ่ง ๆ จะต้องมีเพียงคำตอบเดียว ปัญหาหนึ่ง ๆ จะต้องมีวิธีแก้ไขเพียงวิธีเดียว ไม่มีคำตอบหรือวิธีอื่นอีกแล้ว แต่ตามความเป็นจริงแล้วปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ สามารถอธิบายได้ด้วยชุดเหตุผลที่หลากหลาย ไม่ใช่ชุดเหตุผลชุดเดียว เพราะความจริงมีหลายมิติ เพื่ออธิบายเรื่องราวหนึ่ง เหตุและผลชุดหนึ่งก็จะถูกสร้างขึ้น และทุกอย่างก็จบที่ชุดเหตุและผลนั้น นี่คือการคิดแบบมิติเดียว คำตอบทุกคำตอบมีความจำกัด ปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ไม่เพียงแต่เชื่อมต่อกับปรากฏการณ์อื่น ๆ เท่านั้น หากยังมีรากของปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ดังนั้นมิติในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ จึงต้องมีมิติไม่เพียงแต่ภาพด้านกว้างเท่านั้น
ในช่วงที่ผ่านมา คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจมีวันละไม่น้อยกว่า 5 คนเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีทักษะการคิดและการแก้ปัญหาต่ำ ประกอบกับการไม่สามารถมองโลกแบบหลายมิติได้ เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เป็นปัญหารุนแรง จึงไม่สามารถมองเห็นหนทางในการแก้ปัญหา จะรู้สึกท้อแท้และหมดหวัง เกิดความเครียดและหาทางขจัดความเครียดด้วยวิธีฆ่าตัวตายในที่สุด
ตลอดชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เราต้องผจญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่หรือปัญหาเล็ก การศึกษามีเป้าหมายหลักคือ การสร้างคนให้มีความคิด รักในการเรียนรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีหลักในการตัดสินใจ มีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานได้ และทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็น รวมทั้งมีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะแสวงหาความรู้ได้เองโดยไม่สิ้นสุด จะเห็นได้ว่าเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาก็คือ การสอนให้นักเรียนรู้จักแก้ปัญหานั่นเอง โดยสอนให้แก้ปัญหาทั้งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า และสอนให้เสาะแสวงหาปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้นและพยายามหาทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น เราเรียกคนเช่นนี้ว่า เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative) บุคคลเหล่านี้คือ ผู้ที่นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคมมนุษย์
ดังนั้น การที่จะสอนให้นักเรียนมีทักษะในการคิดก็คือ จะต้องทำให้นักเรียนสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยกระบวนการคิดสร้างสรรค์

การแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์
ปัญหา หมายถึง สภาพการณ์ที่ต้องการการแก้ไขหรือต้องการหาคำตอบซึ่งเรายังไม่สามารถมีได้ทันที คำตอบที่ได้จากการแก้ไขปัญหาหนึ่งจะช่วยในการแก้ปัญหาที่คล้ายคลึงกัน และจะช่วยพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ในส่วนรวมได้ด้วย
ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง การใช้ความคิดเชิงประยุกต์จากความคิดทั่วไป เพื่อให้ได้ผลงานใหม่ ที่เป็นประโยชน์จากสิ่งที่คิดนั้น เป็นกระบวนการของความรู้สึกไวต่อปัญหา หรือสิ่งที่ขาดหายไป หรือสิ่งที่ยังไม่ประสานกัน แล้วเกิดความพยายามในการสร้างแนวคิด ตั้งสมมุติฐาน ทดสอบสมมุติฐาน และเผยแพร่ผลที่ได้ให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจ อันเป็นแนวทางค้นพบสิ่งใหม่ต่อไป
การแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน กิลฟอร์ด (Guildford) ได้กล่าวว่า การแก้ปัญหาเป็นผลมาจากการคิดทางเดียว (Convergent thinking)และการคิดหลายทาง (Divergent thinking) การคิดทางเดียว หมายถึง การที่ผู้แก้ปัญหาได้คำตอบหลายคำตอบสำหรับปัญหานั้น ถึงแม้ว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนจะนิยมคำตอบที่ดีที่สุดเพียงคำตอบเดียวสำหรับการแก้ปัญหา แต่นักจิตวิทยามีความเห็นว่า การคิดหลายทางหรือการมีคำตอบหลายคำตอบเป็นการคิดที่มีคุณค่ากว่า และมักจะเปรียบเทียบการคิดหลายทางว่าเท่ากับการคิดสร้างสรรค์
ในสังคมไทยสมัยใหม่มีปัญหาใหม่ ๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่และยาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ปัญหาความแตกสลายทางสังคม เช่น ครอบครัวแตก ชุมชนแตก ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงต่าง ๆ ปัญหาโสเภณีเด็ก ปัญหาสุขภาพจิตเสื่อม และปัญหายาเสพติดเป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากต่อการแก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้เลย การใช้ความคิดเก่า วิธีการเก่ากับปัญหาใหม่จึงไม่ได้ผล ปัญหาดังกล่าวจึงต้องการแนวความคิดและแนวทางใหม่ หรือกระบวนทรรศน์ใหม่ (New paradigm) ในการแก้ไข หมายความว่า จะใช้การคิดแบบธรรมดาแบบเดิม ๆ ไม่ได้ จะต้องใช้ความคิดเชิงประยุกต์จากความคิดทั่วไปซึ่งก็คือ การใช้กระบวนการคิดสร้างสรรค์นั่นเอง
ลักษณะของผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์
ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ คือ บุคคลที่สามารถใช้ความคิดเชิงประยุกต์จากความคิดทั่วไปเพื่อให้ได้ผลงานใหม่ที่หลากหลาย แหวกแนว แต่เป็นประโยชน์ โดยไม่ยึดติดกับกรอบความคิดหลัก ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ หมายถึง
การรู้จักคิด คิดเป็น คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดในทางที่จะเข้าถึงความเจริญของสิ่งทั้งหลาย คิดในทางที่ทำให้รู้จักใช้สิ่งทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ ผู้ที่ใช้วิธีการนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม วิธีการศึกษาของนักจิตวิทยา เพื่อให้ทราบว่า บุคคลใดมีความคิดสร้างสรรค์ โดยดูที่องค์ประกอบ 3 อย่างคือ
1. ดูที่ผลงาน (The Product Approach)
2. ดูที่กระบวนการ (The Process Approach) ได้แก่การวิเคราะห์การทำงานภายในสมองของผู้คิดสร้างสรรค์ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอนคือ
- ขั้นเตรียม (Preparation) ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ รู้ปัญหา และความคิดในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
- ขั้นฟูมฟัก (Incubation) ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีการคิดใคร่ครวญถึงปัญหาทั้งในขณะที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
- ขั้นรู้แจ้ง (Illumination) ความคิดเข้ารูปเข้ารอยอย่างกะทันหัน หาวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว
- ขั้นตรวจสอบ (Verification) ตรวจสอบว่า วิธีแก้ปัญหานั้นได้ผลจริงหรือไม่
3. ดูที่ตัวบุคคล (The Person Approach) ได้แก่ การศึกษาประวัติ ลักษณะนิสัยของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อมาเขียนเป็นโครงร่าง (Profile) ของผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์
การศึกษากระบวนการคิดสร้างสรรค์นี้จะดูเพียงองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้ ต้องดูจากทั้ง 3 องค์ประกอบพร้อม ๆ กัน เพราะคนบางคนอาจจะมีลักษณะนิสัยตรงกับลักษณะของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดผลงาน หรือขาดความคิดก็ไม่สามารถจัดได้ว่าเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์

รูปแบบความสามารถที่เป็นความคิดสร้างสรรค์
1. ความคิดริเริ่ม (Originality) หมายถึง ลักษณะความคิดแปลกใหม่แตกต่างจากความคิดธรรมดาไม่เหมือนคนอื่นหรือแปลกกว่าคนอื่น
2. ความคิดคล่องตัว (Fluency) หมายถึง การมีความคิด มีวิธีหรือคำตอบใน
การแก้ปัญหาได้หลายทาง ตลอดจนมีความสามารถในการคิดที่รวดเร็วและต่อเนื่อง
3. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง ความสามารถในการมองปัญหาได้หลายด้านและสามารถเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาได้ทันทีที่รูสึกว่ามีความจำเป็น
4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration) หมายถึง ความสามารถในการขยายและตกแต่งความคิดให้สมบูรณ์ เกิดเป็นภาพชัดเจนและได้ความหมาย
แนวทางในการพัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์
ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถในระดับสูง จะต้องได้รับ
การฝึกฝนทักษะการคิดที่จะต้องฝึกให้เกิดขึ้นกับเด็ก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มี 2 ระดับ คือ
1. ทักษะการคิดพื้นฐาน จำนวน 31 ทักษะ แบ่งเป็น
- ทักษะการสื่อความหมาย 15 ทักษะ ได้แก่ การฟัง การอ่าน การรับรู้
การจดจำ การจำ การคงสิ่งที่เรียนไปแล้วไว้ได้ภายหลังการเรียนนั้น การบอกความรู้ที่ได้จากตัวเลือกที่กำหนดให้ การบอกความรู้ออกมาด้วยตนเอง การใช้ข้อมูล การบรรยาย
การอธิบาย การทำให้กระจ่าง การพูด การเขียน การแสดงออกถึงความสามารถของตน
- ทักษะที่เป็นแกนหรือทักษะการคิดทั่วไป 16 ทักษะ ได้แก่ การสังเกต
การสำรวจ การตั้งคำถาม การเก็บรวบรวมข้อมูล การระบุ การจำแนกแยกแยะ
การจัดลำดับ การเปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ การสรุปอ้างอิง การแปล การตีความ
การเชื่อมโยง การขยายความ การใช้เหตุผล การสรุปย่อ
2. ทักษะการคิดชั้นสูง หรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน จำนวน 16 ทักษะ เป็นทักษะที่จะพัฒนาได้เมื่อเด็กได้รับการพัฒนาทักษะการคิดพื้นฐาน จนมีความชำนาญพอสมควรแล้ว ได้แก่ การสรุปความ การให้คำจำกัดความ การวิเคราะห์ การผสมผสาน ข้อมูล
การจัดระบบความคิด การสร้างองค์ความรู้ใหม่ การกำหนดโครงสร้างความรู้ การแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างความรู้เสียใหม่ การค้นหาแบบแผน การหาความเชื่อพื้นฐาน
การคาดคะเน/การพยากรณ์ การตั้งสมมุติฐาน การทดสอบสมมุติฐาน การตั้งเกณฑ์
การพิสูจน์ความจริง การประยุกต์ใช้ความรู้
กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กฝึกทักษะการคิด ได้แก่
1. การระดมสมอง ให้เด็กได้ช่วยกันเสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังคิดอยู่ ทำให้บรรยากาศที่เป็นอิสระ เพื่อให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นออกมา โดยจะต้องไม่มี
การวิพากษ์วิจารณ์ หรือตัดสินความคิดของใคร ต้องไม่มีบรรยากาศของการแข่งขัน มีแต่ความร่วมมือกัน ให้กำลังใจกัน เป็นกันเอง
2. การฝึกความคิดแบบอเนกนัย เป็นความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า และแสดงออกมาได้หลาย ๆ แบบ หลาย ๆ วิธี
3. การสอนตามแนวคิดแบบนีโอฮิวแมนนิส คือ การสอนภายใต้บรรยากาศของความเป็นอิสระในการเรียนรู้ มีการส่งเสริมการแสดงออกอย่างเปิดเผย
4. การใช้เทคนิคการคิดนอกกรอบ เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้พัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนได้
5. การสอนแบบสืบสวน เป็นการส่งเสริมความคิดหลายทาง และส่งเสริมให้นักเรียนมีความอยากรู้อยากเห็น
6. การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์
7. การใช้รูปแบบการคิดแก้ปัญหาอนาคตตามแนวคิดของ ทอแรนซ์ ในรูปแบบการคิดนี้มีการใช้เทคนิคระดมสมองเพื่อค้นพบปัญหา และเพื่อคิดวิธีคิดปัญหาเป็นขั้นตอนย่อยอยู่ด้วย
8. การฝึกให้นักเรียนคิดเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือการรู้จักรับฟังความคิดเห็น หรือความรู้สึกของผู้อื่น
9. การใช้กิจกรรมการเรียนการสอนด้วยศูนย์การเรียนคอมพิวเตอร์ กิจกรรมนี้มีส่วนช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลได้มาก
10. การใช้กิจกรรมพัฒนาความสามารถในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ
ซึ่งแนวทางการพัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่กล่าวมานี้ ครูจำต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของทักษะ และลักษณะการคิดอันเป็นพฤติกรรมพื้นฐานนำไปสู่กระบวนการคิดแล้วใช้ความเหมาะสมของเวลา และเนื้อหาในบทเรียน หรือโอกาสอื่น ๆ ในการจัดการเรียนการสอน ฝึกให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เมื่อนักเรียนได้รับการฝึกบ่อยครั้งเข้าก็จะกลายเป็นความชำนาญ ทำให้เด็กคิดเป็น และแก้ปัญหาได้
การคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการคิดที่ซับซ้อน ผู้คิดจะต้องใช้ทักษะและลักษณะการคิดหลายอย่างประกอบกัน การฝึกฝนก็ต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย แต่ทุกวิธีจะมีจุดร่วมเดียวกัน คือ จะต้องดำเนินการภายใต้บริบทของการเรียนการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child centered) การคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กมีความสัมพันธ์กับการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครู หมายความว่า ถ้าครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนมายึดเด็กเป็นศูนย์กลาง โอกาสที่เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์ก็มีมากขึ้น ความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กก็จะสูงขึ้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แต่ก่อนที่จะหวังให้เด็กไทยคิดเป็นและแก้ปัญหาได้นั้น ได้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ณ เวลานี้ ครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนหรือยัง และครูมีความเข้าใจแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางมากน้อยเพียงใด หรืออาจจะต้องแก้ปัญหาที่ครูด้วยกระบวนการคิดสร้างสรรค์

ที่มา : http://images.rawinud20.multiply.mul...?nmid=97141192
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้