ดูหนึ่งข้อความ
  #7  
Old 07 มิถุนายน 2011, 17:52
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

E. วิปัสสนา ที่โคราช
ปกติ ที่วัดจะมีโปรแกรมส่งพระใหม่ไปวิปัสสนาตามที่ต่างๆอยู่แล้ว บางทีก็ที่อาคารวิปัสสนาในวัด หรือบางทีก็ต่างจังหวัด วิปัสสนาที่นี่และสาขาตามจังหวัดอื่น เป็นส่วนหนึ่งของ วิธีปฏิบัติแบบ ดร. สิริ กรินชัย ซึ่งปัจจุบันอายุ 90 กว่าๆแล้วครับ ตอนนี้เห็นว่านอนป่วยที่โรงพยาบาล

วิปัสสนาที่ผมไป อยู่ที่ปากช่อง โคราชครับ ก็เป็นสาขาของ ดร.สิริ เหมือนกัน เราเดินทางกันบ่ายวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม ห่มดองและนั่งรถตู้ที่วัดขึ้นไป โดยมีพระที่เป็น head องค์นึงนำไป และพระใหม่อีก 4 รูป (รวมทั้งผมด้วย) โดย 1 ใน 4 เพิ่งบวชสดๆร้อนๆ เช้าวันที่ 7 เลยครับ

คอร์สนี้ กินเวลา 7 คืน 8 วันครับ (7-14 /5/2011) โดยวิทยากรทุกคน เป็นฆราวาสทั้งหมด สถานที่ปฏิบัติ จะเป็นตึกแถวสูงๆครับ ไม่ใหญ่มาก โดยเราจะปฏิบัติกันชั้นล่าง เป็นโถงกว้างๆแบบ open air กับคฤหัสถ์อีก 40 กว่าชีวิต พระทั้งหมดที่ไป จะอยู่ zone หน้าสุดของห้อง และห้องนอนพระ จะอยู่ชั้นบนสุดของอาคาร โดยนอนรวมในห้องเดียว

กิจกรรมหลักๆของคอร์สนี้ คือ การเดินจงกรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ และฟังธรรมะบรรยาย ส่วนคฤหัสถ์ก็จะได้ทำเยอะกว่าพระหน่อย ตรงที่จะมีกิจกรรม ดนตรีผสมธรรมะบำบัด โดยหมอท่านนึง แล้วก็ กิจกรรม แสดงกตัญญูต่อบุพการี ใน case ที่มาเป็นครอบครัว ส่วนพระก็จะแค่นั่งดูเฉยๆในช่วงนี้

การเดินจงกรม จะมีเฉลี่ยวันละ 4 รอบ คือ รอบ ตี 5 กว่าๆ , รอบ 9 โมง , รอบ บ่ายโมงครึ่ง , รอบ 6 โมงเย็น การเดิน 1 ครั้งรวมกับนั่งสมาธิจะกินเวลา 40-60 นาทีโดยเฉลี่ย การเดินมี 2 แบบ คือ เดินจงกรมแบบธรรมชาติ กับเดินจงกรมแบบพิธีการ ถ้าแบบธรรมชาติ จะเดินเป็นปกติ ช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่สติต้องจดจ่ออยู่กับการก้าว เขาจะให้เดินแบบธรรมชาติสลับกับแบบพิธีการในบางครั้ง เพื่อกันง่วงครับ

ส่วนเดินแบบพิธีการ จะเป็น slow walk มากๆครับ ถ้าสาย ดร.สิริ จะมีเดิน 7 ระยะครับ ซึ่งจริงๆ ทุกระยะ เดินเหมือนกัน แต่ภาวนาละเอียดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ระยะที่ 1 จะเป็นแค่ ยก(เท้า)หนอ ย่าง(เท้า)หนอ พอระยะเริ่มมากขึ้น ก็จะประมาณว่า ยกหนอ ย่างหนอ วางหนอ(ฝ่าเท้าแตะพื้น) พอเพิ่มระยะขึ้นอีก ก็จะเป็น ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ(กำลังจะวางฝ่าเท้าลงพื้น แต่ค้างไว้กลางอากาศ) ถูกหนอ (ปลายเท้าแตะพื้น)

การเดินจะเดินไปๆกลับๆ ประมาณว่า เดินหน้า 5 ก้าว เดินกลับ 5 ก้าว ด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่ พอต้องเดินกลับ ก็จะไม่กลับหลังหัน นะครับ จะมีการกลับ 8 steps โดยต้องขวาหัน ทีละ 22.5 องศา โดยภาวนา กลับหนอ กลับหนอ 8 ครั้งครับ เวลากลับก็กะเอาเองให้ครบ 8 ครั้งครับ

เจตนาจริงๆของการเดินจงกรม หรือเดินสมาธิ ก็คือให้มีสติ รู้เท่าทันปัจจุบันครับ ซึ่งเป็น theme ของการวิปัสสนาทุกที่ เพราะปกติ เวลาเราเดินไปไหนมาไหน เรามักคิดนั่น คิดนี่ ไม่ได้สนใจปัจจุบันที่กำลังเดินเท่าไหร่ คำว่ามีสติรู้เท่าทันปัจจุบัน สำคัญมากครับ โดยเฉพาะคำว่าปัจจุบัน ในการเดินจงกรม มีสติอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้เท่าทันปัจจุบันด้วย ไม่ใช่ว่าปากบริกรรม ย่าง(เท้า)หนอ แต่ขายังไม่ก้าว

ผมเชื่อว่า ใครที่ได้เดินจงกรม จะชอบเดินจงกรม มากกว่านั่งสมาธิครับ เพราะนั่งสมาธิ จิตจะฟุ้งซ่านง่ายกว่า โอกาสหลับง่ายกว่า แต่การเดิน ถึงจิตจะวอกแวกแค่ไหน ก็ยังมีหลักยึดไว้ คือ การก้าวเท้า เพียงแต่ว่า ในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นต้องเดินช้าขนาดนั้น เพียงแต่ให้มีสติรู้ว่า ขณะนั้นกำลังทำอะไร ก็เป็นกุศลแล้ว พระอุปถัมภ์ที่ผมเล่าไปตอนแรก บอกผมว่า ?ระหว่างที่เดิน ถ้าจิตเผลอไปคิดนั่น คิดนี่ ก็ให้รู้ว่า จิตกำลังเผลอ แบบนี้ก็ถือเป็นกุศล เพราะยังรู้ว่าปัจจุบัน จิตเกิดอะไรขึ้นตามจริง โดยธรรมดาของจิต มันจะเผลอเป็นปกติอยู่แล้ว จำไว้ว่า ธรรมะที่ดีต้องเป็นธรรมชาติมากที่สุด ถ้ามันเผลอ ก็เฝ้าดูว่ามันเผลอ และอย่าไปเพ่ง พอเราปฏิบัติบ่อยขึ้น จากเผลอ 50 รอบ ก็จะลดลงๆเอง เพราะสติ จะคอยกำกับไว้?

ผมได้ถามวิทยากรว่า สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ที่เคยเรียนมาสมัยมัธยม มันต่างกันอย่างไร และที่นี่เป็นแบบไหน คำตอบคือ สมถกรรมฐาน เป็นการเพ่งให้จิตยึดอยู่ในอารมณ์เดียว เช่น การบริกรรม พุทโธ หรือการเพ่งกสิณ ซึ่งจะเน้นสมาธิ แต่ไม่ได้เน้นให้เกิดปัญญา ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน คือ การที่จิตรู้ถึงอายตนะภายนอกที่มากระทบ ขณะปฏิบัติ เช่น สมมติ นั่งสมาธิอยู่แล้ว ได้ยินเสียงนาฬิกาดังตอนครบชั่วโมง ก็ให้ รับรู้ว่าได้ยินหนอ แล้วตัดไป หรือถ้าปฏิบัติแล้วเกิดปีติ ก็ให้รับรู้ว่าปีติ แล้วตัดไป หรือที่ผมยกตัวอย่างเรื่องเผลอหนอ ก็เหมือนกันครับ

เรียกว่า จะสุขหรือจะทุกข์ ต้องไม่ยึดไว้ เพียงแต่คนทั่วไปจะกำหนดรู้ไม่ทัน เช่น สมมติฟังเพลง 1 เพลง เราจะข้ามขั้นได้ยินหนอ กลายเป็น โดนหนอ ชอบหนอ ไม่ชอบหนอ คือปรุงแต่งขึ้นมาทันที ดังนั้นเราต้องเจริญสติบ่อยๆครับ เพื่อจะปูทางไปสู่ปัญญา และวิทยากรบอกอีกว่า โดยทั่วไปสถานวิปัสสนาทุกที่ จะผสมทั้ง สมถภาวนาและวิปัสสนา ไว้ด้วยกันอยู่แล้ว

ที่ที่ผมไปวิปัสสนา จะให้กินข้าวกล้องทุกมื้อครับ และตอน 14:30 จะมีสารพัดน้ำสมุนไพรมาเสริ์ฟ เช่น น้ำตะไคร้ น้ำชามะละกอ น้ำใบย่านาง น้ำคลอโรฟิลล์ น้ำกระชาย (อันนี้ extreme สุดครับ เพราะรสชาติเหมือนเอาหญ้ามาปั่นมาก แต่ผมก็กินไปเกินครึ่งแก้วนะ ถือซะว่าเป็นการ Detox)

เวลากินข้าวที่นั่น เขาจะฝึกสติไปด้วยครับ เช่น พอตักข้าว ก็รู้ว่าตัก กำลังยกช้อน ก็รู้ว่ายกช้อน เข้าปาก ก็รู้ว่าเข้าปาก กำลังเคี้ยว ก็รู้ว่าเคี้ยว ซึ่งเราจะรู้สึกได้ถึงฟันบน ฟันล่างที่กำลังขบอาหารอยู่ และที่สำคัญคือการงดพูด

ข้อดีของการกินช้าๆ คือ จะอิ่มเร็วครับ เพราะเวลากินช้าๆ จะมีอะไรถ่วงกระเพาะเยอะ และกระเพาะก็จะทำงานไม่หนักมากเพราะเคี้ยวละเอียด ใครที่กำลัง diet ลองเอาไปใช้ดูได้ครับ

แต่ก็อย่างที่บอกครับ ในชีวิตประจำวัน หลังจากออกจากคอร์สวิปัสสนาไปแล้ว ก็ไม่ต้อง slow motion เท่ากับตอนปฏิบัติก็ได้ เพียงแต่ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ก็พอแล้ว

ผมเชื่อว่า ทั้งพระใหม่หรือคฤหัสถ์ที่ไปวิปัสสนาหลายวันแบบนี้ จะรู้สึกคล้ายๆกันใน 2 วันแรก คือเกิดคำถามในใจมากมายและรู้สึกอยากกลับบ้าน ช่วงทดสอบจิตนี่เป็นกันเกือบทุกคน รวมทั้งผมด้วย เพราะในชีวิตจริง เราไม่ได้ทำอะไร slow motion ขนาดนี้ แถมยิ่งทำแรกๆ จิตก็จะวิ่งวุ่นไปหมด ทั้งยังมีนิวรณ์ 5 เช่น ถีนมิทธะ (ง่วงเหงาหาวนอน) หรืออุทธัจจะกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน) มาทดสอบเราตลอดเวลา

พอวันที่สาม จะมีการ ?สอบอารมณ์?ครับ โดยจะแบ่งกลุ่มผู้ที่มาปฏิบัติทั้งหมด เป็นกลุ่มย่อย แล้วก็จะมีวิทยากรกระจายไปตามกลุ่มต่างๆ การสอบอารมณ์ ฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ คือการให้ผู้ปฏิบัติทุกคนเล่าความรู้สึกขณะปฏิบัติในวันก่อนหน้าให้วิทยากรฟัง ใครมีปัญหาสงสัย ก็ถามวิทยากรได้ แล้ววิทยากรก็จะคอยปรับแก้วิธีปฏิบัติให้เรา การสอบอารมณ์มี 2 ครั้งครับ คือวันที่ 3 กับ 6 เพื่อดูพัฒนาการของการปฏิบัติด้วย

ตอนที่ผมปฏิบัติ ผมจะทำได้ดีที่สุด ช่วงบ่ายๆครับ อาจจะเป็นเพราะ เช้า กำลังตื่นนอน เย็น แบตเตอรี่กาย-ใจ หมดก็ได้มั้งครับ

หลังจากที่สอบอารมณ์ครั้งแรก ความรู้สึกวุ่นวาย ใน 2 วันแรกก็ยังมีอยู่ แต่หายไป 60-70 % ครับ

รอบที่คฤหัสถ์จะลงจากห้องพักมาปฏิบัติมากสุด จะเป็นช่วงบ่าย เพราะจะมีวิทยากรท่านนึงมา เล่าประสบการณ์สุด extreme ให้ฟังเป็นธรรมทานกึ่ง Talk Show ครับ วิทยากรท่านนี้ เป็นผู้หญิงวัย 40 กว่าๆ ชื่อ อ.นงลักษณ์ ซึ่งอดีตเป็นคริสเตียน ที่ไม่ยอมคนและอารมณ์ร้อนมาก ต่อหลังจากมาปฏิบัติวิปัสสนาได้หลายสิบปี ชีวิตก็เปลี่ยนไป สถานะปัจจุบันคือแต่งงานกับนายตำรวจใหญ่ และมีบุตร แล้ว และเป็นตัวอย่างครอบครัวไม่กี่ครอบครัว ที่คนเชียร์เสื้อแดง เสื้อเหลือง อยู่รวมกันในบ้านเดียวกันได้ (แต่วิทยากร ก็ไม่ได้เล่านะครับ ว่าตัวท่านเอง เสื้อสีอะไร)

มีคำพูดนึงของ อ.นงลักษณ์ ที่ย้ำบ่อยๆ ว่า ?วันสุดท้าย ที่ทุกท่านเดินออกจากสถานวิปัสสนา จะมีขบวนกิเลสแห่กลองยาวมารับเราถึงปากประตูทีเดียว นั่นหมายถึงชีวิตจริงและการสอบปฏิบัติครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น? ที่ท่านพูดเป็นเรื่องจริงอย่างที่สุด เพราะที่มาวิปัสสนากัน 7 คืน 8 วัน เสมือนเป็นการเรียนทฤษฎีกึ่ง workshop เท่านั้น หลังจากนี้คือ ชีวิตจริง คือของจริง

อีกประเด็นที่ อ.นงลักษณ์ เล่าและผมจำแม่นมาก คือ วัตถุชิ้นนึงที่แขวนไว้หน้าห้องวิปัสสนาเป็นปริศนาธรรม ลักษณะเป็นตาชั่ง ด้านหนึ่งมีหัวมันเทศ อีกด้านถ้าจำไม่ผิด จะเป็นเขาสัตว์ ปริศนาธรรมนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่คนบนโลกจะต้องเจอซึ่งมี 2 แบบ คือแบบที่แก้ได้ กับแบบที่แก้ไม่ได้ แบบที่แก้ไม่ได้ เช่น ปัญหาระหว่างบุคคล บางทีเราจบ เขาไม่จบ หรืออย่างปัญหาการเมือง การศึกษา etc.

ตาชั่งอันนี้ ก็เหมือนเป็นการบอกว่า ถ้าเราทำอะไรไม่ได้ดีกว่านี้แล้ว ก็ให้ช่างมัน ช่างเขา (ชั่งมัน ชั่งเขา) หรือพูดง่ายๆว่า ต้องรู้จักปล่อยวาง

แต่ที่ผมชอบที่สุดในคอร์สนี้ คือธรรมะบรรยายของ อ.วรากร ไรวา เรื่อง สังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด ครับ ซึ่ง พระอุปถัมภ์ เคยให้ผมดูและฟังบางส่วนจาก You Tube ก่อนมาวิปัสสนา

อาจารย์พูดเรื่องนี้ไว้เคลียร์มาก และมีอุปกรณ์ประกอบ เป็น chart ง่ายๆ แล้วก็ลูกเทนนิส 1 ลูก รายละเอียด ติดตามใน part F ครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------
Note : ผมจะจบที่หัวข้อ J นะครับ โดยหัวข้อหน้าจะยาวหน่อยและที่เหลือจะสั้นๆแล้ว นานๆจะให้ธรรมทานซักที เลยขอจัดเต็มนิดนึงนะครับ
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้