ดูหนึ่งข้อความ
  #9  
Old 08 มิถุนายน 2011, 22:20
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

F. สังสารวัฏและนานาสาระช่วงบวช

ต่อจากที่ผมทิ้งท้ายไว้ ถ้าใครจะดูบน You Tube ก็ลอง search ใน google ว่า ?อรหันต์พลิกฝ่ามือ วรากร ไรวา? ก็จะเจอครับ แต่เขาจะตัดเป็น 11-12 ตอน ตอนละ 9 นาที

ใครที่ได้ดูจนจบ จะพบว่า จริงๆแล้วเราเลือกเกิดได้ (เพียงแต่ชาตินี้อาจเลือกไม่ทันซะแล้ว) ว่าจะเกิดภพภูมิใดในสังสารวัฏ โดย จิตของเราเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ไปในสังสารวัฏ ผ่านการเปลี่ยนรูปกายภายนอกไปตามภพชาติต่างๆ

สังสารวัฏ 31 ภพภูมิ ไล่จากบนสุด คือ ชั้น อรูปพรหมและ ชั้นพรหม (จำไม่ได้ว่ากี่ชั้น) รองลงมาคือ เทวดา หรือสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น นั่นเอง รองลงมาคือ ภพมนุษย์ ตามมาด้วย ภพเดรัจฉาน ซึ่งก็อยู่ร่วมโลกเดียวกับเรา ต่ำกว่านั้น ก็จะเป็น ภพเปรต ภพอสูรกาย ภพสัตว์นรก ซึ่งต่ำที่สุด

อาจารย์ เทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่า ถ้าปฏิบัติ สิ่งที่เป็นกุศล 1 ครั้ง ก็เท่ากับเราไปจองทำเลสร้างบ้านในภพมนุษย์หรือภพที่สูงกว่าไว้ พอทำมากขึ้น ก็เหมือนไปลงเสาเอก ทำมากขึ้นก็เหมือนเริ่มตกแต่งภายใน วันไหน ทำอกุศล ก็เหมือนไปจองทำเลสร้างบ้านในภพเดรัจฉานหรือภพที่ต่ำกว่า ถ้าทำอยู่ zone ไหนมาก บ้านที่ภพภูมินั้นก็จะเสร็จเร็วขึ้น เมื่อเราตายไป ชาติหน้าจิตก็จะไปเกิดในภพที่เราปลูกบ้านเสร็จก่อน

ถ้าชาติหน้า อยากกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ต้องรักษาศีลให้ถึงพร้อม อาจารย์เล่าว่า หมาในบ้านเศรษฐี สื่อถึงการที่ชาติก่อน ทำทานเยอะ แต่ไม่เคยรักษาศีลเลย หรือมนุษย์บางคนที่ถือศีลใช้ได้ แต่อาจจะบกพร่องบางข้อ เช่น ชอบดื่มสุรา ก็จะมาเกิดเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญาไม่ดี หรือ เป็นคนฟุ้งซ่านง่าย เป็นต้น

ในบรรดากุศล ทั้งหมด ทานให้เนื้อนาบุญ น้อยกว่าศีล ศีลให้เนื้อนาบุญน้อยกว่าภาวนา ในบรรดาทานด้วยกัน การให้ธรรมะเป็นทานเหนือกว่าทานทั้งปวงครับ

ย้อนกลับไปเรื่อง การปฏิบัติกุศล-อกุศลใน 2 ย่อหน้าก่อนครับ เรามองว่า การสร้างกุศลหรือ อกุศล ก็คือการที่จิตมี reaction กับกิเลส มาก น้อยแค่ไหน อาจารย์เทียบให้เห็นว่า ถ้าฝ่ามือของเรา คือ จิต และนิ้วทั้ง 5 คือ สิ่งที่จิต ยึดไว้ เรียกว่า ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

พูดกันง่ายๆ ขันธ์ 5 คือตัวที่หล่อหลอม ความเป็นตัวกู ของกู หรือ อัตตา ของคนนั่นเองครับ เวลามีใครมาทำให้เราไม่พอใจ หรือในทางตรงข้าม มีคนมายกยอปอปั้นเรา ขันธ์ 5 จะทำงานแบบอัตโนมัติทันที ถ้าได้มีโอกาสทำสมาธิ วิปัสสนา สติ และปัญญาจะเข้าไปช่วยละหรือเป็น ScottBrite ไปขัดเอาขันธ์แต่ละส่วนออกไปจากจิตได้ ถึงแม้ไม่ใช่สิ่งที่ละได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ทำก็ดีกว่าไม่ทำ

สมมติว่ากิเลส(โลภะ โทสะ โมหะ etc.) คือลูกเทนนิส 1 ลูก ,มือที่แบและคว่ำคือจิตที่ยึดในขันธ์ 5 เมื่อลูกเทนนิสตกกระทบหลังมือ มือจะเคลื่อนลง แต่มากหรือน้อย ขึ้นกับภูมิต้านทานของจิตที่มีต่อกิเลส ถ้าเคลื่อนมาก ก็คือตอบสนองมาก เราก็จะเข้าใกล้ภพภูมิที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ ถ้าเคลื่อนน้อย สื่อถึงความสามารถในการควบคุมกิเลสได้ดี

ในโลกความจริง กิเลสไม่ได้มาแค่ลูกเทนนิส 1 ลูก อาจจะมาทีละหลายลูก ประดังเข้ามา ก็เป็นได้ และไม่ว่าจะเป็นภพภูมิใดในสังสารวัฏ ต่างก็ยังตอบสนองกับกิเลสทั้งนั้น เพียงแต่มากหรือน้อยต่างกัน

เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นบุคคลแรก ที่เบื่อกับการท่องเที่ยวในสังสารวัฏนี้ และค้นหาวิธีดับกิเลส จนสุดท้ายตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราอาจเข้าใจว่า การบรรลุอรหันต์ น่าจะบรรลุจากภพภูมิที่สูง จะง่ายกว่า แต่ในความเป็นจริง ภพสุดท้ายก่อนที่คนๆหนึ่งจะบรรลุอรหันต์ จะมาละกิเลสที่ภพมนุษย์ครับ สาเหตุเพราะว่า สวรรค์มีแต่สุข ไม่มีทุกข์ นรกมีแต่ทุกข์ ไม่มีสุข มนุษย์เป็นภพเดียว ที่รู้จักทั้งสุขและทุกข์

รายละเอียดเต็มๆแบบมีสื่อประกอบ ลองไปหาฟังจากเจ้าตัวใน you tube ได้ครับ

นอกจากความรู้เกี่ยวกับ สังสารวัฏ ที่ได้จากการบวชครั้งนี้ ก็ยังมีเรื่องเล็กๆน้อยๆ หลายเรื่อง ที่ถ้าไม่มาบวช ก็คงไม่รู้ เอาเท่าที่ผมพอจะจำได้นะครับ เช่น

(i) บทสวด อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ และบางทีก็เป็น พุทธัง อภิปูชะยามะ คำว่า มิ กับ มะ ในภาษาบาลี มีนัยเหมือน singular และ plural ในภาษาอังกฤษ ครับ ถ้าเป็นมิ หมายถึงสงฆ์องค์เดียว มะ คือหมู่สงฆ์

(ii) เม ในภาษาบาลี แปลว่า ฉันหรือ I ในภาษาอังกฤษ ส่วนคำว่าภิกษุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

(iii) บทสวด กุสะลา ธัมมา หรือเรียกว่าบทสังคิณี ที่สวดในงานศพ เขาสวดให้คนเป็นฟัง ไม่ใช่สวดถึงคนตาย

(iv) พระสงฆ์ห้ามยืนฉันน้ำ เพราะเป็นอาบัติแบบหนึ่ง และหลัง 12:00 ฉันน้ำปานะได้ ยกเว้น น้ำข้าวกล้องงอก (เพราะมีส่วนผสมของข้าว) ส่วนกรณีน้ำปานะที่มีเนื้อผลไม้ เช่น Mini made pulpy ก็ฉันได้ แต่ให้กลืนเนื้อลงไปตอนดื่ม ห้ามเคี้ยว

(v) ยะถา วาริวะหา ปุรา ปะริปุเรนติ สาคะรัง....สัพพีติโย วิวัชชันตุ...... ที่พระสวดตอนญาติโยมกรวดน้ำ เป็นบทสวดเดียวเท่าที่ผมเจอ ที่มีคำแปลอลังการที่สุด ลองดูคำแปลแบบเต็มๆได้ที่นี่ครับ (บางคนชอบบอกว่า ยะถาให้ผี สัพพีให้คน ก็เพราะคำแปลของบทสวดครับ)

(vi) ภิกษุถือศีล 227 ข้อ แต่ทำไมตอนขอบวชถึงสมาทานศีล 10 พระท่านอธิบายให้ฟังว่า ช่วงแรกเป็นแค่การบวชสามเณรเท่านั้น ต่อเมื่อเราสวดบาลี 6 วรรคสุดท้ายที่ผมเล่าให้ฟังไปใน part B จึงจะเป็นการรับเป็นภิกษุอย่างแท้จริง และช่วงที่พระสวดยาวๆหลังจากนั้น ก็จะระบุให้เราถือศีล 227 ข้อ แบบเต็มตัว

(vii) วัตรปฏิบัติของสงฆ์ มีทั้งส่วนที่ทำแล้วอาบัติ กับส่วนที่ไม่อาบัติ เพียงแต่ทำแล้วไม่สำรวม เช่น มีคนเคยถามว่า พระอยากลดน้ำหนัก จะ Sit Up วิดพื้น ได้มั้ย คำตอบคือ ได้ ไม่อาบัติแต่ไม่สำรวม ถ้าจะทำ ก็ควรทำในที่รโหฐานคนเดียว หรืออย่างพระว่ายน้ำเล่นได้มั้ย อันนี้ ไม่ได้เพราะอาบัติ แต่ถ้าเป็น case สุดวิสัยที่มีคนจมน้ำ และแถวนั้นหาฆราวาสมาช่วยไม่ได้เลย ก็อนุโลมเป็นกรณีๆไป

G. นิมนต์สวด ที่วัดและนอกวัด

ช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 จะมีพระใหม่หลายรูปมาบวชและถูกส่งไปวิปัสสนา ประกอบกับพระเก่าหลายรูปที่สึกออกไปช่วงสัปดาห์ที่ 2,3 ทำให้ที่วัดช่วงนั้น ผมกลายเป็นพระ senior เต็มๆ ดังนั้นเวลามีญาติโยมมานิมนต์พระไปสวด ผมก็จะต้องติดสอยห้อยตามไปตลอดเพราะพระไม่พอ อย่างปกติช่วง เสาร์ อาทิตย์ ถ้าไม่มีงานบวช จะมีญาติโยมมาทำบุญที่วัด เนื่องในโอกาสต่างๆ เต็มไปหมด จะมีการนิมนต์พระลงสวดหลายรูป โดยจะนั่งเรียงตามลำดับพรรษา และแน่นอนว่า ผมก็จะนั่งค่อนไปทางปลายแถวตลอดครับ

ความรู้สึกตอนเป็นเด็กที่ฟังพระสวด แล้วถามในใจว่า ทำไมมันนานขนาดนี้ ก็ได้มาประจักษ์ตอนบวชเป็นพระแล้ว ว่าบางที ที่มันยาวนั้น ท่านตัดทิ้งไปบางส่วนแล้วนะครับ ของจริงยาวกว่านี้อีก ปัญหาหนึ่งที่พระใหม่จะเจอเวลาสวดแบบทางการ คือเหน็บกินขา ตอนนั่งพับเพียบครับ วิธีแก้ของผมในกรณีที่เปลี่ยนขาลำบาก คือ พยายามยกต้นขาด้านที่เหน็บขึ้นเหนือพื้น ประมาณ 3 วินาที ให้เลือดมันเดิน แล้ววางลงเหมือนเดิม หรืออีกวิธีที่พระบางองค์บอกผม คือ ให้ทายาหม่องทั่วต้นขา ให้ร้อนสุดๆ เท่าที่จะร้อนได้ก่อนลงสวด

สำหรับ ฆราวาสที่ อยากรู้ว่า เมื่อไหร่พระจะสวดจบ มีวิธีสังเกตอย่างนี้ครับ คือ ถ้าพระเริ่มสวด ?ภะวันตุเต ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะพุทธานุ .....? แปลว่าใกล้สวดจบแล้ว และจะไปจบที่ สัพพะสังฆานุ ภาเวนะ สัตถา โสตถิ ภะวันตุ เต

การนิมนต์สวดในวัด เป็นเรื่องธรรมดามาก ถ้าเทียบกับตอนที่รับกิจนิมนต์สวดนอกวัด ซึ่งผมมีโอกาสไปแจม 2 ครั้งครับ และแน่นอนว่าทั้ง 2 ครั้ง ผมเป็นคนสุดท้ายปลายสายสิญจน์ทั้ง 2 ครั้ง ที่เหลือจะมีแต่พระเกิน 1 พรรษาล้วนๆ ก็ต้องบอกว่าเกร็งมาก เพราะทุกรูปสวดกันจริงจังมาก ปกติ บทไหนสวดได้ ผมก็จะสวดครับ บทไหนยากมาก ก็ ลิปซิ้งค์ หรือเงียบแล้วแต่กรณี

ใน 2 ครั้งที่ไป ครั้งแรก สวดประมาณ 50 นาที เรียกว่าเหน็บกินแล้วกินอีกเลยครับ แต่ต้องมีขันติ เพราะไปบ้านฆราวาส ไม่ได้อยู่วัด ต้องสำรวมมากกว่าเดิม ส่วนอีกครั้ง จะเป็นทำบุญครอบรอบวันตาย หรืออะไรซักอย่าง ผมไม่แน่ใจ เห็นมีทอดผ้าบังสุกุล จากงานนี้ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มอีกอย่าง ว่า การถวายผ้าบังสุกุล ที่สงฆ์ยังไม่สวดพิจารณาผ้า (อะนิจจัง วะตะสัง ขารา...... ) ไม่ต้องทอดผ้ากราบรับผ้า ถึงแม้สตรีมาถวาย (แต่ก็ห้ามให้สตรี ส่งให้ถึงมือเรานะครับ?.. อาบัติ ! )

มีคำแซวติดตลก ของญาติผมที่เป็นโยมอุปัฏฐากว่า "เป็นพระนี่รวยใช้ได้เลยนะ เพราะทั้งงานบวช ทั้งรับกิจนิมนต์ ญาติโยมใส่ซองปัจจัยให้ตลอด" ผมมาบวช 1เดือน ได้ซองเฉพาะจากกิจนิมนต์ รวมๆกัน 3160 บาทครับ ซึ่งสุดท้าย ก็ถวายคืนวัดไปทั้งหมดตอนสึก
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ในตอนต่อไป มาดูว่าการเทศน์ครั้งแรกในชีวิตของผม เป็นอย่างไร
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้