ดูหนึ่งข้อความ
  #6  
Old 07 มิถุนายน 2011, 04:15
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

C.สบง อังสะ จีวร
สมัยเรียนพุทธศาสนาตอนมัธยม ผมก็ยังไม่รู้จัก สบง จีวร สังฆาฏิ อังสะ ผ้าอาบน้ำฝน แบบจริงจัง จะมา get ก็ตอนเป็นพระนี่แหละครับ

เวลาอยู่กุฏิ หรือเดินไปไหนมาไหนในวัด ช่วงไม่มีงานพิธี พระจะใส่แค่เสื้อ กับกางเกงครับ เสื้อของพระ คือ อังสะ ลักษณะคล้ายๆสายสะพายนางงาม คือพาดข้างเดียวแล้วเปิดนมข้างนึง แต่ที่นี่จะมีอังสะแบบติดกระดุมข้างด้วย ก็จะมิดชิดกว่านิดนึง ส่วนกางเกงพระ ก็คือ สบงครับ เป็นผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา แต่ต้องเอามาห่อช่วงล่าง ซึ่งจะมีเทคนิคการพับ สไตล์ใครสไตล์มัน แต่ต้องจบเหมือนกัน คือเป็นสี่เหลี่ยมนูนขึ้นมาตรงกลางปิดหว่างขาไว้ พอห่มเสร็จก็จะเอาประคดเอวมาคาดไว้ครับ จะได้ไม่หลุด โดยต้องมัดให้แน่นที่สุด ขอย้ำว่าแน่นที่สุด ซึ่งตอนแรกผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแน่น มาเข้าใจตอนใช้งานจริง เพราะเวลาเดินไปเดินมา มันจะคลายตัวของมันเองอัตโนมัติ ดังนั้นถ้าไม่แน่นพอ ก็หลุดต่อหน้าญาติโยมแน่ๆ แถมพระห้ามใส่กางเกงในด้วย เป็นวินัยสงฆ์ข้อนึงเลย

ลำพัง สบงกับอังสะ ไม่เท่าไหร่ครับ ที่ห่มยากสุด คือ จีวร ต้องเล่าก่อนว่า ที่นี่ พระจะห่มจีวร 3 แบบครับ ขึ้นกับกิจที่ต้องทำ : แบบแรกเรียกว่าห่มดอง จะเป็นแบบเต็มยศทั้งจีวรและผ้าพาดบ่า หรือที่เรียกว่า สังฆาฏิ เป็นการห่มแบบเดียวกับที่ห่มในงานบวชออกจากโบสถ์ และจะห่มแบบนี้ตอนลงทำวัตรเช้า กับตอนนิมนต์สวด เวลาญาติโยมมาเลี้ยงพระที่วัด หรือตอนลงอุโบสถเวลามีงานบวช

ผมเดาเอาว่า ที่เรียกว่าห่มดอง เพราะจะร้อนสุด แต่ห่มดองจะเรียบร้อยสุด และไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องผ้าหลุดด้วย ข้อเสียของห่มดองคือ ต้องเตรียมผ้าก่อนห่มครับ โดยจะต้องพับจีวรซึ่งผืนยาวมาก ให้คล้ายๆพัดยักษ์ที่ยังไม่ได้คลี่ครับ ถ้าพับกัน 2 คน ก็ต้องประสานงาน หัวผ้า ท้ายผ้าดีๆ เพื่อให้ผ้าไม่แลบตรงกลางตอนสะบัดให้เรียบ ถ้าจำเป็นต้องพับคนเดียว คนตัวสูงจะได้เปรียบ เพราะจะจัดผ้าง่ายกว่า เนื่องจากจีวรจะยาว แต่ไม่ว่าจะเตี้ยหรือสูง เราจะมีตัวช่วยอย่างนึงคือ ไม้หนีบอันใหญ่ๆ โดยเราจะพับหัวผ้าให้เสร็จก่อน จากนั้นจับพาดราวในกุฏิ แล้วก็เอาไม้หนีบ หนีบ 2 ข้างตรงหัวผ้า จากนั้นค่อยๆจัดผ้าลงมาให้เรียบจนถึงปลายผ้า เพราะฉะนั้น พระใหม่ทุกรูป เวลารู้ว่าต้องห่มดองตอนไหน จะต้องพับผ้ารอไว้เลยตั้งแต่กลางคืน เพราะพับว่าเหนื่อยแล้ว ตอนห่มยิ่งกว่าครับ

ผมสารภาพว่า ตลอดช่วงที่บวช ผมต้องให้พระห้องใกล้ๆมาช่วยห่มดองตลอด เพราะตอนห่มมันต้องเป๊ะทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ก็จะมีบางวันที่พระห้องใกล้ๆไม่อยู่ ก็ต้องพึ่งกระจกในห้องน้ำ ซึ่งก็ห่มออกมาได้ แต่ก็จะเยินๆนิดนึง

การห่ม จะเริ่มจากการเอาพัดยักษ์ มาคลี่ตรงกลางออกให้ยาวสุดแขนขวา ระยะเหมาะสมแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์ล้วนๆครับ การห่มเดี่ยวจะทุลักทุเลมากสำหรับผม แต่พอห่มคู่ จะง่ายมาก เพราะ พระรูปนึงจะเอาปลายผ้าที่ดึงออกมาทาบไหล่ซ้าย จากนั้น เราจะหมุนตัว 360 องศาให้ผ้าที่เหลือห่อเราพอดี ผลก็จะออกมาสวยงามครับ จากนั้นก็เอาสังฆาฎิพาด แล้วจัดผ้าด้านหลังให้เรียบร้อย ตามด้วยเอาผ้าคาดอก คาดให้แน่นสุดเหมือนเดิม ก็เป็นอันเสร็จการห่มดองครับ

การห่มให้ดี ปลายจีวรจะต้องปิดปลายสบง ห้ามให้สบงแลบออกมาเวลาเดินครับ

อีกสิ่งนึงที่ผมต้องทำสำหรับจีวรห่มดอง คือ ต้อง mark ตัวอักษรไว้ เพื่อจะได้ดูว่าเราดึงผ้าตรงกลางถูกด้านหรือไม่ และจีวรห่มดอง จะไม่นำมาห่มอย่างอื่นถ้าไม่จำเป็น เพื่อให้รอยพับมันอยู่ตัวและควรจะซักอย่างน้อย 1 ครั้งหลังใช้แล้ว เพื่อให้ผ้านิ่มและพับง่ายขึ้น

สาเหตุที่การทำวัตรเช้า ต้องห่มเต็มยศอย่างห่มดองเพราะ มีวินัยสงฆ์ ระบุไว้ว่า ต้องรักษาชุดครองหรือชุดที่แต่งออกมาจากโบสถ์วันอุปสมบทครับ คำว่ารักษาชุดครอง คือการที่ให้สบง จีวร สังฆาฏิ ผืนที่ออกจากโบสถ์ รับแสงอรุณตอนเช้า ถ้าหยิบผิดผืนหรือไม่ได้ใส่มารับอรุณ ถือเป็นอาบัติแบบหนึ่ง

แสงอรุณที่นี่ ขึ้นเร็วมากครับ คือประมาณทำวัตรเสร็จ 5 นาทีหรือ 5:35 ก็ถอดชุดครองออกแล้วเปลี่ยนเป็นห่มอีกแบบเพื่อบิณฑบาตได้แล้ว

การบิณฑบาต จะใช้การห่มแบบที่สองคือ ห่มคลุม นอกจากจะห่มเพื่อบิณฑบาตแล้ว เวลาญาติโยม มานิมนต์ฉันเพลที่บ้าน ก็ต้องห่มคลุมครับ การห่มแบบนี้จะง่ายกว่าห่มดอง เพราะไม่ต้องเตรียมผ้า พอใส่อังสะ กับสบงเสร็จก็คว้าจีวรมาห่อตัวแล้วม้วนๆผ้าจนถึงระยะเหมาะสม ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน จากนั้นจะชูปลายที่ม้วนสุดแขนซ้าย แต่ห้ามเกร็งและงอแขน แล้วม้วนช่วงกลางผ้าด้วยมือขวาจากข้างในผ้า โดยทำในลักษณะบิดแล้วดึงให้จีวรพ้นพื้น มาอยู่ที่ครึ่งน่อง การห่มแบบนี้ ห่มง่ายแต่ใช้แรงข้อมือเยอะครับ จากนั้นก็หักศอกซ้ายลงมา เอามือขวาโผล่ออกมาจากด้านล่างผ้า มาจับผ้าที่ม้วนไว้ เอาแขนซ้ายแนบตัว แล้วเอามือขวายกผ้าพาดไหล่ และคลายเกลียวผ้าออกให้ห่อแขนซ้ายไว้ แต่ไม่ต้องคลายหมด ขั้นตอนนี้ ผ้ามันจะรัดคอนิดนึงครับ จากนั้น ก็เอารักแร้หนีบเกลียวผ้าที่เหลือให้แน่น ถ้าไม่แน่น จะหลุดง่าย ต้องคอยเดินไปจัดผ้าไป ดูไม่สำรวม

ห่มแบบสุดท้าย เรียกว่า ห่มเฉียงครับ จะใช้บ่อยสุด อย่างของผมก็ห่มเฉียงเป็นก่อนห่มแบบอื่นเลยครับ เพราะง่ายสุด ขั้นตอนคล้ายห่มคลุม แต่ตอนม้วนกลางผ้าด้วยมือขวา ให้ม้วนนอกผ้าแทน การห่มเฉียงจะใช้ตอนทำวัตรเย็น ตอนฉันเช้าที่กลับจากบิณฑบาต แล้วก็ ฉันเพลครับ หรือเวลามีโยมพ่อ โยมแม่มาเยี่ยมก็จะห่มเฉียงออกมาจากห้องครับ

แต่กิจกรรมพวกกวาดลานวัด หรือล้างจาน ก็ไม่ต้องห่มจีวรครับ แค่ใส่อังสะกับสบงก็พอ และผ้าทุกผืนที่เรามี รวมไปถึงผ้ากราบที่ใช้รับประเคน จะต้องพินทุผ้า 3 จุด เป็นเครื่องหมายเพราะฉะนั้น และสวดอธิษฐานผ้าสั้นๆเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ อันนี้เป็นกิจที่ต้องทำตอนบวชใหม่ๆเลย โดยที่มาของการพินทุผ้า มาจากสมัยพุทธกาล ที่มีการหยิบผ้าสลับกัน ก็เลยต้องมีการ mark เครื่องหมายไว้

เรื่องห่มจีวร จะเป็นปัญหากับผมช่วงแรกๆที่บวช มากครับ เพราะตั้งแต่ ตื่นนอนถึงฉันเช้าเสร็จ จะต้องห่มทั้ง 3 แบบเลย คือ พอตื่นนอน จะทำวัตรเช้า ก็ห่มดอง ทำวัตรเช้าเสร็จ รับอรุณเสร็จ เปลี่ยนเป็นห่มคลุมไปบิณฑบาต พอบิณฑบาตเสร็จกลับมาฉันเช้า เปลี่ยนเป็นห่มเฉียง

ก็ยังดีครับที่ ประมาณวันที่สองที่บวช มีพระใหม่มานอนกุฏิเดียวกับผมอีก 2 รูปซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเด็ก 2 คน ม.กรุงเทพ ที่เล่าให้ฟังใน part A ครับ จากนั้นเรื่องเทคนิคการพับ การห่มต่างๆ ก็ค่อยๆเรียนรู้ไปตอนระหว่างบวช

ผ้าอาบน้ำฝน ปกติใช้ตอนเข้าพรรษาแต่ผมได้ใช้ตอนวันโกนด้วยครับ คือ ที่นี่ พระจะโกนหัวทุกเดือน เมื่อเป็นวันพระใหญ่ อย่างเดือน พ.ค. วันพระใหญ่คือ วันวิสาขบูชา ก่อนวันนั้น 1 วัน พระที่ยังไม่ได้รีบสึก ก็จะโกนหัวกันทุกรูปครับ ช่วงที่โกน ท่อนบนก็จะถอด ท่อนล่างก็จะคาดผ้าอาบน้ำฝนไว้ เสมือนคาดผ้าขาวม้า แล้วก็จะมีพระที่บวชมาหลายพรรษาเป็นคนโกนให้ครับ

D. บิณฑบาต (จัดเต็ม)
ผมไปบิณฑบาต มา 2 versions ครับ ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กวัดกับตอนเป็นพระ ก็จะไปกับพระอีกรูป ที่บวชมา 2 พรรษา สิ่งหนึ่งที่ผมกับท่านมีเหมือนกัน คือ เดินเร็ว ก็เลยไปกันได้

ตอนเป็นเด็กวัด ก็แค่ถือย่าม แล้วก็คิดเอาเองว่า ตอนบวชแล้วก็คงจะอารมณ์ประมาณนี้ พอบวชแล้ว ก็เป็นไปตามคาดครับ แต่ต้องดูแลบาตรให้ดีๆ อย่าไปทำร่วงหล่นกลางทาง ความวิบากของเส้นทางที่ผมเดิน มันจะมี 2 ช่วงครับ คือ ช่วงที่เป็นบ่อปูนสี่เหลี่ยมตั้งอยู่กลางทาง ต้องเดินตามขอบปูนสี่เหลี่ยม ถ้าร่วงก็ตกบ่อ กับช่วงที่เป็นไม้กระดาน2ท่อนข้ามคู (ดีที่มีราวข้าง ไม่งั้นขาสั่น ไปไม่เป็นแน่) เป็น 2 ช่วงที่ใช้สติในการเดินสูงมากสำหรับพระใหม่

ความวิบากแค่นี้ในวันแดดออก เป็นเรื่องไม่สาหัสเท่าไหร่ จนกระทั่งเช้าวันที่ 19 พ.ค. ที่ฝนตกตอนกลางคืน และพอผ่านช่วงถนนปกติ เข้าสู่ช่วงทุ่งหญ้า บ่อปลา ก็ต้องถอดรองเท้าเดินตั้งแต่ตรงนั้น สิ่งแรกที่เจอ คือ โคลนครับ ก็เดินไปช่วงนึง ไม่ต่างอะไรกับใส่รองเท้าโคลน ช่วงนั้นเห็นหญ้ากับแอ่งน้ำเหมือนขึ้นสวรรค์ เพราะ จะได้เดินผ่าน ให้โคลนมันหลุดจากเท้าบ้าง ตรงโคลน นี่ยังไม่เท่าไหร่ครับ อย่างมากแค่ลื่น แต่ช่วงที่ผ่านทางปกติ ที่มีกรวด จะมันส์มาก เรียกได้ว่า เหยียบแล้ว ความรู้สึกจากปลายเท้า ส่งไปถึงเส้นประสาทส่วนบนสุดของร่างกายเลยก็ว่าได้ ดีที่ผมไม่มีเลือดตกยางออกในช่วงที่บิณฑบาต

วันฝนตกไม่ได้มีวันเดียวครับ วันที่ extreme ที่สุดในการบิณฑบาต คือวันที่เด็กวัดที่จะไปบิณฑบาตสายเดียวกับผม คิดว่าวันนี้งดบิณฑบาตเพราะฝนตกหนัก คือต้องบอกก่อนว่า สายที่ผมไป ข้าวก็เยอะ กับข้าวก็เยอะครับ ต้องมีเด็กวัดขี่จักรยานตามไปตลอด มาช่วยถือกับข้าว

เพราะฉะนั้น กับข้าวทั้งหมดของวันนั้น มาอยู่ที่ย่ามผมคนเดียว ในวันที่ ต้องถอดรองเท้า บิณฑบาต เหยียบโคลน เหยียบกรวด จำได้ว่า ผ่านวันนั้นไป ยังคิดในใจเลยว่า อะไรที่หนักกว่านี้ก็ไม่กลัวแล้ว

สิ่งที่ผมมารู้ตอนหลัง คือ สายผมเป็นสายเดียวในบรรดาพระใหม่ทั้งหมดที่ถอดรองเท้า อาจจะไม่ไกลที่สุด แต่วิบากที่สุด ก็คิดซะว่า ฝึกขันติบารมีกันไป

สายของผมจะบิณฑบาต กลับมาถึงวัดเร็วเป็นอันดับสอง เกือบทุกวัน เพราะอาศัยเดินเร็วเป็นหลัก กลับมาทุกครั้งก็จะเหมือนไปอาบน้ำมาเลยครับ เพราะจีวรจะโชกไปด้วยเหงื่อ พอมาถึงที่โรงครัว ก็จะถอดจีวรออก ล้างบาตรและเตรียมจาน เตรียมข้าว เตรียมกับข้าว ไว้ให้พระฉัน งานนี้ก็จะช่วยกันทุกรูปครับ ใครมาก่อนก็มาทำก่อน ตอนฉันก็จะเปลี่ยนเป็นห่มเฉียง และก่อนฉันเช้า จะสวดยะถา วาริวะหา.... ซึ่งเป็นบทอนุโมทนาให้กับผู้ที่ใส่บาตรให้พระ (สาระเกี่ยวกับยะถา จะเล่าให้ฟังใน part ท้ายๆครับ) จากนั้นผมก็จะอธิษฐานในใจ ประมาณว่า กับข้าวมื้อนี้ ข้าพเจ้าจะฉันแค่ให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นไปเพื่อบำรุงกิเลส (บทนี้ ผมได้มาจากช่วงระหว่างบวช ที่ไปวิปัสสนา ที่โคราช เขาอธิษฐานกันก่อนกินข้าวครับ ก็เลยเอามาใช้ที่วัดด้วย สำหรับเรื่องวิปัสสนา ที่โคราช จะอยู่ใน part ต่อๆไปครับ)

พอฉันเสร็จ พระที่พรรษาน้อยๆ ก็จะช่วยกันล้างจานครับ เป็นอันเสร็จกิจตอนเช้า
------------------------------------------------------------------------------------------
Note : น่าจะถึง part J หรือ K นี่แหละครับ เพราะบอกตรงๆว่า บวชครั้งนี้ ทำกิจของสงฆ์มาครบเกือบทุกอย่าง ยกเว้นสวดศพอย่างเดียว
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว

07 มิถุนายน 2011 04:18 : ข้อความนี้ถูกแก้ไขแล้ว 1 ครั้ง, ครั้งล่าสุดโดยคุณ passer-by
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้