ดูหนึ่งข้อความ
  #2  
Old 29 ตุลาคม 2010, 16:54
Ai-Ko Ai-Ko ไม่อยู่ในระบบ
หัดเดินลมปราณ
 
วันที่สมัครสมาชิก: 17 กันยายน 2008
ข้อความ: 40
Ai-Ko is on a distinguished road
Default

สวัสดีเจ้าค่ะ ส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษนะเจ้าคะ แต่ว่าตรงนี้อยากจะพูดถึงด้านดีของการเรียนพิเศษพอสังเขป ยังไงก็ลองรับฟังดูนะเจ้าคะ

ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าแม้การเรียนพิเศษจะเป็นกระแสอย่างหนึ่งในแวดวงการศึกษาของบ้านเรา แต่หากโรงเรียนสอนพิเศษไม่มีประสิทธิภาพจริงในระดับหนึ่ง คนก็คงไปไม่เรียน จุดแข็งอย่างหนึ่งของโรงเรียนสอนพิเศษ โดยเฉพาะสำนักที่มีชื่อเสียงก็คือ อาจารย์ในสถาบันมีคุณภาพจริงเจ้าค่ะ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ในสถาบันกวดวิชาเรียนมาสูงกว่าหรืออะไร แต่หมายถึง "มีความสามารถในการถ่ายทอด" เจ้าค่ะ แล้วถ้าถามว่าทำไมถึงกล่าวว่าอาจารย์ในสถาบันเหล่านั้นจึงมีความสามารถสื่อสารกับเด็กได้ดีกว่า คำตอบหนึ่งก็คือ สถาบันที่บุคลากรทำไม่ได้ก็ไม่ได้โด่งดังขึ้นมายังไงล่ะเจ้าคะ พูดง่ายๆ ก็คือที่ดังได้มันก็ต้องมีสาเหตุเหมือนกัน

หลายคนคงเห็นว่า โรงเรียนสอนพิเศษก็สอนเนื้อหาเหมือนกัน หรือบางทีละเอียดน้อยกว่าในโรงเรียนด้วยซ้ำ แล้วไปจ่ายเงินเพิ่มเรียนในที่อย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไร? ประโยชน์มันอยู่ตรงที่ต่อให้เป็นเรื่องเดียวกัน ความเข้าใจก็แปรตามวิธีอธิบายหรือถ่ายทอดได้มาก คนที่ไม่รู้เรื่องก็กลายเป็นรู้เรื่องได้ คนที่รู้เรื่องบางครั้งก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าตรงนี้ก็ต้องเอาไปชั่งกับราคาที่ต้องจ่ายว่าคุ้มค่าหรือไม่ แต่หากจะมองเพียงผิวเผินว่าก็เหมือนๆ กันแล้วไม่พิจารณาเป็นทางเลือกเลยก็คงด่วนสรุปเกินไปสักหน่อย

ประเด็นเรื่องต้องเสียค่าใช้จ่ายไปตั้งเท่าไรจึงจะจบการศึกษาออกมาได้ ตรงนี้สามารถมองได้ว่าการจ่ายเหล่านั้นเป็น "การซื้อความเป็นไปได้" เจ้าค่ะ ในแง่หนึ่งก็เหมือนกันการซื้อสลากกินแบ่งนั่นเอง หลายคนที่ซื้อแล้วไม่ได้รางวัลก็คงมองว่าถูกกินเงิน แต่สำหรับคนที่ได้ประโยชน์ บางครั้งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนอนาคตของตัวเองไปเลยเจ้าค่ะ การพยายามทุ่มเงินเรียนเพื่อให้ได้เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เป็นห้าอันดับแรก แทนที่จะต้องเข้าที่ที่ไม่ติดอันดับ หากลองคิดดีๆ จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพราะบ่อยครั้งสังคมก็ยังตัดสินคนๆ หนึ่งว่ามีคุณค่าแค่ไหนจากเพียงกระดาษหนึ่งใบอยู่ดี สรุปประเด็นเรื่องนี้ก็คือ ปัญหาไม่ได้เป็นสีขาว-ดำว่า "ควรหรือไม่ควรเรียนพิเศษ" แต่น่าจะอยู่ตรงเขตสีเทาว่า "เรียนพิเศษมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า?" มากกว่า อนึ่ง คำว่ามากหรือน้อยของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การทำไว้มากๆ เผื่อไว้ก่อนก็ใช่ว่าเป็นเรื่องดี อย่างที่เขาว่า "อ่านมากก็เจ็บมาก" เจ้าค่ะ

สุดท้าย ประเด็นเรื่องเด็กไทยมีความสามารถในการคิดน้อยลง ตรงนี้ก่อนอื่นคงต้องยกตัวอย่างค้านว่า เด็กในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเรียนพิเศษกันหนักยิ่งกว่าเมืองไทย (ถึงขั้นว่าที่เกาหลีเคยมีเหตุนักเรียนนักศึกษาประท้วงว่าพวกเขา "ไม่ใช่เครื่องจักรการเรียน" ที่เกิดมามีหน้าที่รับความรู้อัดเข้าไปในสมอง) แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าทรัพยากรคนของญี่ปุ่นหรือเกาหลีด้อยความสามารถด้านความคิด แสดงว่า ไม่ว่าเรื่อง "เด็กไทยคิดไม่เป็น" จะจริงหรือไม่ อย่างน้อยสาเหตุไม่ได้อยู่เพียงแค่ "เด็กเรียนพิเศษหรือไม่" เท่านั้นแน่ๆ เจ้าค่ะ

เรื่องที่เด็กเกียจคร้าน ชอบทางลัด พูดตรงๆ อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ในแง่หนึ่งวิทยาการส่วนใหญ่รอบตัวเราก็เกิดจากความรู้สึกว่า "น่าจะมีวิธีทำไอ้นี่ง่ายๆ จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น" อยู่แล้วเจ้าค่ะ เพียงแต่ว่านั้นเป็น "การขี้เกียจอย่างมีปัญญา" ซึ่งมีผลพลอยได้ทำให้โลกก้าวไปข้างหน้า (อย่างน้อยก็ในแง่ของระดับวิทยาการ) นอกจากนี้ หากพิจารณาธรรมชาติของ "ความรู้" ในโลก ไม่น้อยเลยที่เป็นส่วนต่อยอดจากที่มีอยู่แล้ว แน่นอน พื้นฐานที่ดีย่อมลดข้อผิดพลาดในการใช้ความรู้ได้ แต่ลองนึกดูดีๆ ความจริงคนส่วนใหญ่แทบไม่เคยเรียนรู้อะไรจากศูนย์จริงๆ เลย ไม่ว่าจะทฤษฎี สูตร แนวคิด มุมมอง เกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากจุดยืนที่ยกพื้นขึ้นมาแล้วระดับหนึ่งทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการวิจารณ์ว่าการเรียนรู้แบบดังกล่าวถือว่า "รู้เพียงผิวเผิน" หรือ "ไม่มีคุณค่า" อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงในโลกสักเท่าไร มุมมองตรงนี้ก็คือ ความเข้าใจถ้ามีได้ก็ยิ่งดี แต่ต่อให้ขาดไป ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไรขนาดนั้น

เราอาจติดภาพพจน์ว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากศูนย์ การเรียนที่แท้จริงต้องใช้หนังสือหนาๆ ต้องศึกษาตรึกตรองด้วยตนเอง คำอธิบายคร่าวๆ ที่ใช้คำง่ายๆ แลกกับภาพที่เข้าใจง่ายขึ้น หรือสูตรซึ่งจำได้แม่นแต่ไร้ที่มาเป็นสิ่งที่ควรขจัดให้หมดไป มองกลับกัน ทั้งหมดนั้นอาจชี้ว่าค่านิยมการศึกษาของสังคมมีปัญหา ลองคิดง่ายๆ หากเป็นเพลงหรือหนังหรือนิยาย ลองยึดติดกับหลักการจนเกินไปผู้บริโภคก็ย่อมไม่เลือกเป็นธรรมดา แล้วเวลาอย่างนั้นปกติฝ่ายที่ถูกตำหนิก็คือผู้สร้างที่ไม่มีความสามารถส่ง "สาร" ของตนเองไปหาผู้ฟังได้ แล้วทำไมพอเป็นเรื่องการศึกษา เราจึงคิดกลับกันว่าคนเรียนนั่นล่ะผิดที่ไม่เข้าใจ ทั้งที่ถ้าเปรียบเทียบกัน ชั้นเรียนไม่น่าสนใจหรือหนังสือเข้าใจยาก ก็ไม่ได้ต่างจากเพลงตลาดซ้ำซากหรือหนังเกรดบีขนาดนั้น ถ้าอย่างนั้นหากผู้บริโภคยุคใหม่จะวิ่งเข้าหาผู้ผลิตที่ดีกว่าก็คงไม่แปลกอะไร

หากจะสอนให้คนพยายาม เราควรสร้างแรงจูงใจและให้ผู้เรียนได้สัมผัสว่า "ดูสิ พยายามแล้วสำเร็จมันรู้สึกดีอย่างนี้ไงล่ะ" จนอีกฝ่ายเห็นถึงคุณค่าของความพยายามว่ามันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะลงมือด้วยตัวเอง ไม่ใช่พร่ำพูดปากเปียกปากแฉะว่าความพยายามนั้นดีอย่างไร โลกเราพูดกันตรงๆ เป็นที่ซึ่งความพยายามส่วนใหญ่ละลายหายไปกับอากาศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่คนๆ หนึ่งจะไม่อยากพยายามนั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย

สุดท้าย อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนพิเศษโดยตรง แต่ถ้าถามว่าแล้วความจริงสาเหตุของความล้มเหลวของระบบการศึกษาอยู่ตรงไหน ก็คงต้องบอกว่าอยู่ที่ "ทัศนคติ" ที่แฝงมากับระบบนั่นเอง จำได้ไหมว่าการเรียนหนังสือเป็นหน้าที่ของเยาวชนทุกคน และระบบที่ว่ามีชื่อว่า "การศึกษาภาคบังคับ" ใช่แล้ว คำว่าบังคับตรงนั้นเองที่มีผลกระทบต่อทัศนคติของผู้เรียนอย่างมาก เรา "บังคับ" ให้เด็กต้องรู้สิ่งนู้นสิ่งนี้ หล่อหลอมให้เป็นคนในอุดมคติ (คุณฟังไม่ผิด เรากำลังเลี้ยงดูเยาวชนของเราให้เป็นคนในอุดมคติ ไม่ใช่คนที่อยู่ในโลกความจริงได้) ใครเจอเรื่องแบบนี้ก็ย่อมรู้สึกต่อต้านเป็นธรรมดา แล้วผลก็ออกมาที่เด็ก ไม่สิ คนในสังคมส่วนใหญ่มีความรู้สึกกับวิชาที่ตนไม่สนใจว่า "เรียนไปทำไม ไม่เห็นได้ใช้" เราไม่มีความรู้สึกยินดีที่ได้รู้ ไม่มีความกระตือรือร้นอยากจะรู้ เพราะเราถูกยัดเยียดในสิ่งที่เราไม่ต้องการจนไม่มีความหิวกระหายนั้นอีกแล้ว เพราะเราเชื่อว่ารู้ไปชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น ทัศนคติอย่างนี้ต่างหากที่เป็นต้นเหตุของปัญหาระบบการศึกษา หากจะแก้ไข เราต้องเหนี่ยวนำให้คนเรียนเกิดความรู้สึกว่าเรื่องต่างๆ แม้ตนอาจจะไม่สนใจก็ไม่ได้แปลว่ามันไร้ค่า วิธีการเป็นรูปธรรมก็เช่น การปรับปรุงเนื้อหาการเรียนของแต่ละวิชาว่า นอกจากสอนเนื้อหาแล้ว เราควรถ่ายทอดวิชาให้น่าสนใจด้วยการเล่าประวัติที่มา หรือสิ่งที่สามารถทำได้เป็นรูปธรรมด้วยความรู้นั้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากับความรู้อื่นๆ ให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าองค์ความรู้ทั้งหมดนั้นมีความเชื่อมโยงกัน เช่นหากเรียนเรื่องการเคลื่อนที่วิถีโค้ง (projectile) แทนที่จะบอกเหมือนโยนความรับผิดชอบให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยว่านี่คือกลศาสตร์พื้นฐาน มีความสำคัญต้องเรียนรู้ไว้ สู้เล่าให้นักเรียนฟังไปเลยไม่ดีกว่าหรือว่า "เรื่องนี้อิงจากสภาพสังคมจริงในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ คุณเป็นอาจารย์ประจำวิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเล็กๆ แห่งหนึ่ง วันหนึ่งมีจดหมายมาจากอาจารย์สมัยเรียนของคุณว่า 'เจ้าเมืองผมต้องการหาวิธีเล็งปืนใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดจำนวนกระสุนที่เสียเปล่า ผมเชื่อว่าหากคุณร่วมมือกับผมแล้วผมสามารถขอให้เจ้าเมืองสนับสนุนให้ตั้งตำแหน่งอาจารย์เพิ่มใน ม. ชื่อดังที่นี่ได้ คุณสนใจไหม?' คุณจะทำอย่างไร?"

ไม่รู้ว่าเขียนนอกเรื่องหรือเปล่า แต่ยังไงก็ขอฝากความคิดเห็นส่วนตัวไว้ตรงนี้ด้วยเจ้าค่ะ
__________________
Behind every beautiful proof lies a mountain of trash-turned calculation notes.

ไปเยี่ยมกันได้ที่ต่างๆ ต่อไปนี้นะเจ้าคะ
blog ดนตรีโดจิน: http://aiko-no-heya.exteen.com
"กลุ่มศึกษาดนตรีโดจิน": http://www.facebook.com/doujinmusiclife
"เส้นทางสู่โตได (วิชาเลข)": http://www.facebook.com/roadtotodai
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้