ดูหนึ่งข้อความ
  #8  
Old 08 พฤษภาคม 2005, 22:56
TOP's Avatar
TOP TOP ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎขั้นสูง
 
วันที่สมัครสมาชิก: 27 มีนาคม 2001
ข้อความ: 1,003
TOP is on a distinguished road
Smile

เมื่อหลายปีก่อน จำไม่ได้ว่าปีใด ก่อนที่ผมจะกลับไปเยี่ยมบ้านช่วงสงกรานต์ ผมไปที่ร้านหนังสือดอกหญ้า เพื่อหาหนังสือสำหรับอ่านบนรถไฟ (อีกแล้ว ) ก็บังเอิญไปสะดุดตาเข้ากับหนังสือเล่มหนึ่ง ผมจำชื่อหนังสือได้ดี เพราะรูปแบบการนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ ที่นำเสนอแนวความคิดต่างๆผ่านบทสนทนา ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คุณ พิพัฒน์ พสุธารชาติ นำมาใช้กับหนังสือ "ปลายทางที่ " (อยู่ในส่วนของ หนังสือแนะนำ) เช่นกัน และเมื่อได้อ่านแล้ว ก็ไม่ทำให้ผมผิดหวังเลย มีลูกเล่น ลูกชน กับผู้อ่านอีกต่างหาก ตรงใจผมมาก ฮ่าๆ

หากเราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตว่า
  • เราเป็นใคร
  • เรามาจากไหน
  • แท้จริงแล้ว ตัวเราปัจจุบัน กับตัวเราที่อยู่ในความฝัน อันไหนเป็นตัวจริงของเรากันแน่
  • หากใครชอบภาพยนตร์เรื่อง The Matrix
แสดงว่าเราเริ่มสนใจปรัชญาบ้างแล้ว หนังสือเรื่อง "โลกของโซฟี" เป็นเรื่องราวของสาวน้อย โซฟี อมุนด์เซ่น ผู้ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง ภายในมีกระดาษแผ่นเดียวเขียนว่า "เธอคือใคร?" เท่านั้นเองคำถามต่างๆก็เกิดขึ้นในใจของเธอ แน่นอนว่าเธอคือ โซฟี อามุนต์เซ่น แต่ โซฟี อานมุนต์เซ่น คือใคร เป็นปัญหาที่เธอไม่เคยคิดมาก่อน จะเกิดอะไรขึ้นหากเธอมีชื่ออื่น ? เช่น อานเน่ นุตเซ่น มันจะทำให้เธอกลายเป็นคนอื่นไหม ? ... (เธอช่างตั้งคำถามได้โดนใจผมมาก )

อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต? ถ้าเราถามคนที่กำลังอดอยาก คำตอบคืออาหาร ถ้าเราถามคนที่กำลังจะตาย เพราะความหนาวเย็น คำตอบก็คือความอบอุ่น ถ้าเราถามคำถามเดียวกันนี้ กับคนที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว คำตอบก็อาจจะเป็นการมีใครสักคนเป็นเพื่อน แต่ถ้าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ได้รับการตอบสนองจนครบถ้วนแล้ว ยังจะมีอะไรอีกไหมที่ทุกคนต้องการ? นักปรัชญาคิดว่ามี พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถ อยู่ได้ด้วยข้าวเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าทุกคนต้องการอาหาร ทุกคนต้องการความรักและการเอาใจใส่ดูแล แต่ยังมีอย่างอื่นนอกเหนือจากนั้นอีกที่ทุกคนต้องการ นั่นคือการหาคำตอบว่าเราคือใคร และทำไมเราจึงมาอยู่ที่นี่ -- (จากหนังสือ "โลกของโซฟี" หน้า 13)

หลังจากนั้น โซฟี ก็ได้พบกับ อัลแบร์โต้ น็อคซ์ อาจารย์ปรัชญาผู้ลึกลับเจ้าของจดหมายฉบับนั้น และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตก ย้อนยุคไปตั้งแต่สมัยโสคราตีส โน่นเลย และเรื่องของปรัชญาเหล่านี้ ก็มีนักคณิตศาสตร์เข้าไปมีบทบาทสำคัญกับเขาด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรอเน่ เดส์การ์ต บิดาของวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ และบิดาของปรัชญาสมัยใหม่

เดส์การ์ตเชื่อว่าเราไม่สามารถยอมรับว่าอะไรจริง จนกว่าเราจะรับรู้มันได้อย่างชัดแจ้งเสียก่อน โดยการแตกปัญหาที่ซับซ้อนออกเป็นปัจจัยเดี่ยวๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นเราก็เริ่มต้นจากความคิดที่ไม่ซับซ้อนที่สุด ทุกความคิดจะต้องถูกนำมาชั่งและวัดในทำนองเดียวกับที่กาลิเลโอต้องการให้วัดทุกอย่างที่วัดได้ และทำสิ่งที่วัดไม่ได้ให้วัดได้ เดส์การ์ตเชื่อว่า ปรัชญาควรเริ่มต้นจากความคิดง่ายๆ ไปสู่ความคิดที่ซับซ้อน และด้วยวิธีการนี้เท่านั้น เราจึงจะสามารถสร้างญาณทัศนะใหม่ขึ้นได้ และท้ายที่สุด จำเป็นต้องทำให้มั่นใจด้วยการคำนวณนับอย่างถูกต้องอยู่เสมอ และต้องควบคุมไม่ให้อะไรหลุดรอดจากการคำนวณ เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว ข้อสรุปทางปรัชญาย่อมไม่หนีไปไหน -- (จากหนังสือ "โลกของโซฟี" หน้า 238)

อ่านแล้วรู้สึกคล้ายๆกับการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์รึเปล่า ผมจะแสดงแนวคิดกว้างๆสำหรับแก้ปัญหาใดๆ โดยใช้คณิตศาสตร์ของเดส์การ์ต ให้ลองเปรียบเทียบดูครับ เดส์การ์ตสร้างกฏการแก้ปัญหาทั่วไป Rules for the Direction of the Mind (แต่สร้างไม่สำเร็จ) ซึ่งสรุปใจความสั้นๆ ได้ 3 ข้อคือ
  • ข้อแรก ลดรูปปัญหาใดๆ ให้เป็นปัญหาทางคณิตศาสตร์
  • ข้อที่สอง ลดรูปปัญหาคณิตศาสตร์ใดๆ ให้เป็นปัญหาพีชคณิต
  • ข้อที่สาม ลดรูปปัญหาพีชคณิตใดๆ ให้เป็นผลเฉลยของสมการเดียว
หากใครสนใจแนวคิดทางปรัชญาของนักคณิตศาสตร์ท่านนี้ หรือสนใจปรัชญาตะวันตกเพิ่มเติม แนะนำให้หามาอ่านเป็นอย่างยิ่ง

"ทั้งโลกเปรียบเหมือนโรงละครใหญ่
ชายหญิงไซร้เปรียบตัวละครนั่น
ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน
คนหนึ่งนั้นย่อมเล่นตัวนานา"
(จากหนังสือ "โลกของโซฟี" หน้า 230 โดยนำมาจากเรื่อง "ตามใจท่าน" สำนวนทรงแปลและนิพนธ์โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว)
__________________
The difference between school and life?
In school, you're taught a lesson and then given a test.
In life, you're given a test that teaches you a lesson.

24 มิถุนายน 2005 01:58 : ข้อความนี้ถูกแก้ไขแล้ว 1 ครั้ง, ครั้งล่าสุดโดยคุณ TOP
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้