ดูหนึ่งข้อความ
  #53  
Old 08 เมษายน 2006, 22:45
TOP's Avatar
TOP TOP ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎขั้นสูง
 
วันที่สมัครสมาชิก: 27 มีนาคม 2001
ข้อความ: 1,003
TOP is on a distinguished road
Smile

เมื่อผมกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เคยซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่านคือ "ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการสร้างพระบารมีหลายอสงไขยกับเศษอีกหลายแสนมหากัป จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ระยะเวลาอสงไขย หรือมหากัป หรือระยะเวลาอื่นๆนอกจากนี้ มักปรากฏในเรื่องเล่าต่างๆทางพุทธศาสนา และในหนังสือเล่มนี้ก็มีคำอธิบายถึงระยะเวลาต่างๆเหล่านี้ จึงอยากรวบรวมมาให้ทุกท่านได้มีโอกาสเข้าใจความหมาย ของระยะเวลาเหล่านี้มากขึ้น

อสงไขย
กาลเวลาที่เรียกว่า อสงไขย นั้น ท่านกำหนดเอากาลเวลาที่มากมายยาวนาน เหลือที่จะนับประมาณได้ เพราะคำว่าอสงไขย แปลว่า นับไม่ได้ คืออย่านับดีกว่า โดยมีคำอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า

ฝนตกใหญ่โตมโหฬารทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลานานถึง 3 ปีติดต่อกัน มิได้หยุด มิได้ขาดสายเม็ดฝน จนน้ำฝนเจิ่งนองท่วนท้นเต็มขอบเขาจักรวาล อันมีระดับความสูงได้ 84,000 โยชน์ ทีนี้ ถ้าสามารถนับเม็ดฝน และหยาดแห่งเม็ดฝนที่กระจายเป็นฟองฝอยใหญ่น้อย อสงไขยหนึ่ง เป็นจำนวนปีเท่ากับ เม็ดฝนและหยาดแห่งเม็ดฝนที่นับได้นั้น

เป็นไงครับ จินตนาการไม่ออกละสิ ว่า 1 อสงไขย นั้นยาวนานเท่าใด เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักกับหน่วยของเวลา ที่เล็กลงกว่าอสงไขย กันก่อน ซึ่งจะนำไปสู่ระยะเวลา 1 มหากัป ได้ในที่สุด (1 มหากัป ยังนับว่าเป็นเศษ เมื่อเทียบกับ 1 อสงไขย)

อสงไขยปี
$1$ อสงไขยปี = $10^{140}$ ปี

อันตรกัป
1 อสงไขยปี เป็นอายุของมนุษย์เราโดยอนุมานในสมัยเริ่มแรก แล้วอายุอันมีจำนวนมากมายมหาศาลนั้น ก็ค่อยๆลดลงมา โดยร้อยปีลดลงปีหนึ่งๆ ลดลงมาๆ อายุของมนุษย์ค่อยๆลดลงด้วยอาการอย่างนี้ จนกระทั่งเหลือเพียง 10 ปี เมื่อเหลือเพียง 10 ปีแล้ว ทีนี้ก็ไม่ลดต่อไปอีกละ แต่จะเพิ่มขึ้นคือค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร้อยปีเพิ่มขึ้นปีหนึ่งๆ เช่นเดียวกับตอนที่ลดลงมานั่นเอง เพิ่มขึ้นๆเรื่อยไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งมนุษย์มีอายุยืนนานถึงอสงไขยปีอีกตามเดิม เวลาหนึ่งรอบอสงไขยปีนี้ เรียกว่าเป็น 1 อันตรกัป (อาการที่อายุลดลงมานี้ พึงเห็นตัวอย่างเช่น ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น อายุของมนุษย์มี 100 ปี เป็นประมาณ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลนั้น ตราบเท่ามาถึงปัจจุบันนี้ล่วงแล้วได้ 2500 กว่าพรรษา เอาเป็นว่า 2500 พรรษา ก็แล้วกัน ในจำนวน 2500 นี้ หนึ่งร้อยหักออกเสียหนึ่งปี ก็คงเป็นหักออก 25 ปี เมื่อ 100 ปีหักออกเสีย 25 ปี ก็คงเหลือ 75 ปี จึงเป็นยุติได้ว่า อายุของมนุษย์เราในปัจจุบันนี้ประมาณ 75 ปี เป็นเกณฑ์โดยมาก)
ดังนั้น $1$ อันตรกัป = $2 \times 10^{2}(10^{140} - 10) = 2 \times (10^{142} - 10^{3}) $ ปี

อสงไขยกัป
เมื่อนับจำนวนอันตรกัปตามที่กล่าาวมาแล้วนั้น จนครบ 64 อันตรกัปแล้ว จึงเรียกว่าเป็นหนึ่ง อสงไขยกัป
ดังนั้น $1$ อสงไขยกัป = $64$ อันตรกัป = $128 \times (10^{142} - 10^{3})$ ปี

มหากัป
เมื่อนับจำนวนทั้ง 4 อสงไขยกัป หรือ 256 อันตรกัป ตามที่กล่าวมาแล้วจนครบ จึงเป็นหนึ่งมหากัป
ดังนั้น $1$ มหากัป = $512 \times (10^{142} - 10^{3})$ ปี

เรื่องของระยะเวลา 1 มหากัป นั้น ยังมีอุปมาได้ 2 แบบคือ
  • ยังมีจอมบรรพตภูเขาใหญ่หนึ่ง ซึ่งตั้งตระหง่านเงื้อมทะมึนอยู่ เมื่อทำการวัดภูเขานั้นโดยรอบ ย่อมได้ปริมาณความกว้างใหญ่และส่วนสูงได้ 1 โยชน์พอดี ทีนี้ พอถึงกำหนด 100 ปี มีเทพยดาผู้วิเศษองค์หนึ่งมีหัตถ์ถือเอาผ้าทิพย์ซึ่งมีเนื้อละเอียดอ่อน ประดุจควันไฟลงมาจากเบื้องสวรรค์เทวโลก ครั้นพอมาถึง ก็ลงมือเช็ดถูบนยอดภูเขาใหญ่ด้วยผ้าทิพย์นั้นหนหนึ่ง แล้วก็กลับไปเสวยทิพยสมบัติอยู่ ณ วิมานอันแสนสุขแห่งตนบนเทวโลกตามเดิม พอครบกำหนด 100 ปีอีกแล้ว จึงถือเอาผ้าทิพย์มาเช็ดถูยอดภูเขานั้นอีกหนหนึ่ง เทพยดาผู้วิเศษนั้นเฝ้าเช็ดถูยอดภูเขาตามวาระอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ร้อยปีเช็ดถูทีหนึ่งๆ จนกระทั่งภูเขาใหญ่ที่สูงได้ 1 โยชน์นั้น สึกเกรียนเ**้ยนลงมาราบเป็นหน้ากลองเสมอพื้นดินแล้วเมื่อใด ตลอดเวลาเท่านั้นแหละจึงกำหนดได้ว่าเป็น หนึ่งมหากัป
  • อีกอุปมาหนึ่งว่า ยังมีกำแพงหนึ่ง ซึ่งใหญ่มหึมาเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างและความลึกวัดได้ 1 โยชน์พอดี ทีนี้ พอถึงกำหนด 100 ปี ปรากฏว่ามีเทพยดาองค์หนึ่ง มีหัตถ์ถือเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาหยอดใส่กำแพงสี่เหลี่ยมที่ว่านี้เมล็ดหนึ่ง แล้วกลับไปเสวยทิพยสมบัติอยู่ ณ วิมานอันแสนสุขแห่งตนบนเทวโลก ครั้นครบกำหนด 100 ปีอีกแล้ว จึงนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาใส่เพิ่มเติม ลงมาในกำแพงสี่เหลี่ยมนั้นอีกเมล็ดหนึ่ง แต่เทพยดาผู้วิเศษนั้น เฝ้าเวียนมาหยอดใส่เมล็ดพันธุ์ผักกาดด้วยอาการอย่างนี้ ร้อยปีหยอดใส่ลงไปเมล็ดหนึ่งๆ จนกระทั่งเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้น เต็มเสมอขอบปากกำแพงอันกว้างใหญ่ได้โยชน์หนึ่งแล้วเมื่อใด ตลอดเวลาเท่าที่อุปมาเปรียบเทียบมานี้ จึงจะมีกำหนดอันนับได้ว่าเป็นหนึ่งมหากัป
สุดท้าย ขอฝากเรื่อง มหาวิบัติ จากหนังสือเล่มนี้ให้อ่านกัน
__________________
The difference between school and life?
In school, you're taught a lesson and then given a test.
In life, you're given a test that teaches you a lesson.

13 มีนาคม 2010 01:55 : ข้อความนี้ถูกแก้ไขแล้ว 1 ครั้ง, ครั้งล่าสุดโดยคุณ TOP
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้