ดูหนึ่งข้อความ
  #1  
Old 05 มิถุนายน 2011, 23:56
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default เรื่องเล่าหลังบวช

มาเล่าให้ฟัง เป็นประสบการณ์หลังจากที่ไปบวชมา 4 อาทิตย์รวมกับไปเป็นเด็กวัดอยู่ 4 วันก่อนบวชครับ ก็จะมีส่วนที่เป็นประสบการณ์และส่วนที่เป็นสาระทางศาสนาผสมกันอยู่ในนี้นะครับ

เริ่มจาก 2 parts แรกก่อนครับ

A. ก่อนบวช 4 วัน
ตอนแรก ผมเข้าใจว่า สำหรับทุกวัด คนส่วนใหญ่จะไปค้างวัดก่อน 2-3 วัน เผลอๆเป็นสัปดาห์ แต่หลังจากที่ผมบวชอยู่ เกือบเดือน ผมพบว่า ผมเป็นคนส่วนน้อยของที่นี่ ที่มาค้างวัดเกิน 1 คืนก่อนบวช เพราะพระใหม่หลายองค์ที่มาบวช ในเดือน พ.ค. ล้วนมากัน 1 วันก่อนบวชเกือบทั้งนั้น

แต่ผมว่า ผมคิดถูกนะที่มาอยู่เกิน 1 คืน เพราะทำให้เราได้ทำกิจกรรมต่างๆนานาได้เยอะกว่า เช่น การเดินตามพระบิณฑบาตซึ่งผมเป็นคน want เอง , กวาดวัด,ล้างจานให้พระตอนฉันเช้า

ชีวิตก่อนบวชเริ่มจากคืนวันจันทร์ 25/4/2011 โดยเริ่มจากการล้างเท้าขอขมาบิดามารดาที่บ้าน เป็น drama scene กันก่อนบวชก็ว่าได้ จากนั้นก็เอาน้ำล้างเท้าไปอาบครับ กระโดดข้ามมาที่วันพุธ 27/4/2011 ซึ่งผมจะต้องไปค้างที่วัด โดยผมกับแม่ไปฉะเชิงเทราด้วยรถไฟครับ และไปไหว้หลวงพ่อโสธรตอนบ่าย ก่อนจะไปยังวัดที่จะบวชช่วง 15.00

วัดนี้อยู่ใกล้บ้านยาย และผมเคยมาบ่อยตอนเด็กๆเมื่อมีงานศพญาติพี่น้อง เป็นวัดติดแม่น้ำบางปะกง สภาพวัดปัจจุบันสะอาดและดีกว่าแต่ก่อนมาก แถมข้างในวัดมีอาคารวิปัสสนาด้วย

ผมค่อนข้างโชคดีที่ห้องหรือกุฏิที่ผมอยู่ มีห้องน้ำในตัว ถึงแม้ฝักบัวจะเสียก็ตาม ต้องใช้ขันล้วนๆในการอาบ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เป็นหนึ่งในกุฏิไม่กี่ห้องที่มีทั้งตู้เย็น พัดลมและแอร์ ซึ่งเจ้าอาวาสบอกว่าเปิดแอร์ได้นะ แต่ผมไม่เคยเปิดเลยช่วงก่อนบวช เพราะไม่อยากติดความสบายไปถึงตอนบวช นอกจากนี้ ผมว่า ผมเป็นพระบวชใหม่ไม่กี่รูปของเดือน พฤษภาคม ที่ไม่พกโทรศัพท์มือถือมาช่วงบวช 4 อาทิตย์เลย เพราะถ้าติดมา ก็จะเกิดกิเลสเยอะ

กลับมาที่เรื่องห้องครับ ห้องนี้อยู่ห่างจากห้องเจ้าอาวาสแค่ 3 ก้าวเท่านั้นครับ ผมคิดว่า ที่ผมได้อยู่ห้องนี้ เพราะคืนก่อนบวช จะมีเพื่อนผมที่เดินทางมาจากเพชรบูรณ์มาค้างก่อน 1 คืน เจ้าอาวาสเลยเลือกห้องกว้างๆและมีแอร์ให้

หลังจากเข้าห้องไปไม่เกิน 2 นาที เจ้าอาวาสก็มาเคาะประตูเรียกและยื่นกระดาษแผ่นนึงให้ เป็นฉายาของพระ และพระอุปัชฌาย์ที่ผมต้องใช้ท่องวันบวช ผมเข้าใจว่าฉายาพระจะตั้งจากอักษรแรกของชื่อจริง อย่างผมได้ฉายา ว่า ติกขวีโร แปลว่า ผู้มีความแกล้วกล้าและเด็ดเดี่ยว ผมเดาเอาว่าอาจจะเป็นเพราะผมบวชนานสุดในบรรดาพระที่มาบวชเดือนพฤษภาคม ถ้าไม่กล้าพอ คงไม่มาบวชนาน

เวลาโดยเฉลี่ยของพระที่มาบวชเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 2 อาทิตย์ครับ แต่ผมบวช 1 พ.ค. และสึก 28 พ.ค. จึงไม่แปลกอะไรที่พอเข้าอาทิตย์ที่ 3 ผมกลายเป็นหนึ่งในพระ senior ไปเลย ที่ต้องคอยมา guide พระบวชใหม่

พอช่วงใกล้ 4 โมง เจ้าอาวาสก็มาเคาะห้องผมอีกรอบ เพื่อให้ลงไปทำวัตรเย็นกับพระที่วัด โดยผมนั่งอยู่ขอบพรม นอกบริเวณที่พระสวด เพราะสถานภาพเราตอนนั้น คือฆราวาส

การทำวัตรเย็นของที่นี่ ใช้เวลาแต่ละวันต่างกัน นานสุด 50 นาที สั้นสุด 35 นาที แต่ละวันจะสวดไม่เหมือนกัน ซึ่งพระที่บวชใหม่ๆทุกรูป จะต้องจดแผนที่เลขหน้า ไว้ในหนังสือ มนต์พิธี เพื่อดูว่า วันไหนสวดหน้าไหน

บทที่สวดช่วงทำวัตรเย็น หรือเช้า ส่วนใหญ่จะเป็นบทเดียวกับที่พระต้องสวดเวลามีญาติโยมมานิมนต์เลี้ยงพระเพล เช่น อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน พาหุง สวดธรรมจักร สวดชยันโต etc.

บทที่ผมจะโฟกัส คือ พาหุง กับ ธรรมจักรครับ คือผมเข้าใจว่า พาหุงมันไม่ยาว เพราะตอนประถม สวด พาหุงประมาณ 4 บรรทัด แต่นั่นคือย่อหน้าแรกของ พาหุงแบบเต็มครับ บทพาหุง มี 8 ย่อหน้า จะพูดถึงการชนะมารในรูปแบบต่างๆของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะเป็นชนะพญาช้างนาฬาคิริง ชนะยักษ์ ชนะพญามาร ชนะองคุลิมาล etc. ด้วยคุณธรรมแบบต่างๆ

ส่วนธรรมจักร มาจากชื่อเต็มคือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่พระพุทธองค์ แสดงปฐมเทศนา บทนี้จะยาวมากๆๆๆ ผมเคยสวดแบบผ่านๆ ตอนประถมปลาย ไม่เกี่ยวกับโรงเรียน แต่เป็นผู้ปกครองเพื่อนคนนึงเอามาให้สวด จะบอกว่า ผมจำสวรรค์ 6 ชั้นได้ ก็จากมนต์บทนี้ครับ แต่หารู้ไม่ว่าจริงๆ บทสวดนี้ cover ไปถึงชั้นพรหม และอรูปพรหมด้วย

สวดธรรมจักร จะเริ่มจาก เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภควา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย?.. จริงๆยังมีอีกหลายบทสวด ที่ขึ้นด้วย เอวัมเม สุตัง แต่เปลี่ยนจากพาราณสี เป็น สาวัตถีบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง

หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ พระเกือบทุกรูปจะต้องลงมากวาดลานวัดตอน 5 โมง ตอนก่อนบวช ผมก็ลงไปกวาดเหมือนกัน เป็นการออกกำลังกายด้วยไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งบริหาร Triceps ดีนักแล

แต่ถ้าวันไหนที่พรุ่งนี้มีบวชพระใหม่ เย็นวันก่อนหน้า พระส่วนหนึ่งก็จะแบ่งมาช่วยล้างบริเวณรอบอุโบสถ ครับ ซึ่งการกวาดวัด จะเป็นกิจของสงฆ์อย่างสุดท้ายในแต่ละวันของพระที่นี่ (ถ้าไม่นับการสวดอภิธรรมศพ) หลังจากนั้น พระก็จะสรงน้ำ และทำกิจวัตรส่วนตัว

ในส่วนของฆราวาส อย่างผม วันแรกที่ไปค้าง ผมยังกินมื้อเย็นอยู่นะ แต่ต่อมาอีก 3 วัน ก็เริ่มอดมื้อเย็น กินแต่น้ำปานะ กับนมอย่างเดียวหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ

ช่วงที่ผมมาค้าง ผมเจอน้องอีก 2 คนที่มาบวชต่อจากผม คือวันที่ 2 พ.ค. เป็นเด็กใกล้จบ ป.ตรี คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ สาขาโฆษณา ได้คุยกันตอนไปกินข้าวเย็นวันแรกครับ หนึ่งใน 2 คนนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระรูปหนึ่งที่บวชอยู่วัดนี้มา 1 พรรษาหรือ 1 ปี ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นพระที่ผมคุยด้วยบ่อยสุดในช่วงที่ผมบวช อายุท่านจริงๆมากกว่าผมปีเดียว แต่ผมจะเรียกท่าน ว่าเป็นพระพี่เลี้ยง หรือพระอุปถัมภ์ เพราะท่านอุปการะผมเยอะมาก

ผ่านมาถึงอีกวัน ผมยังนอนไม่ค่อยจะหลับเพราะแปลกที่ แต่ยังไงก็ต้องตื่นมาตี 4 กว่าๆเพื่อมาอาบน้ำ และเตรียมทำวัตรเช้าตอนตี 5 พร้อมพระ ทำวัตรเช้าจะสั้นกว่าทำวัตรเย็นครับ เฉลี่ยอยู่ที่ 35 นาทีทุกวัน

ผมได้ถือย่ามตามพระบิณฑบาต ซึ่งที่นี่จะแบ่งพระไปหลายเส้นทางครับ ผมไปมา 2 สายครับ แต่สาย main ของผม ออกจากวัด 5:45 จะผ่านถนนปกติ ตัดเข้าบริเวณที่เป็นหญ้า ผ่านขอบบ่อ ผ่านเล้าไก่ แล้ววกกลับมาที่ทางลูกรังอีกรอบ ผ่านหน้าบ้านยาย แล้วเข้าวัดตอน 6:45 ระยะทางผมว่าไป-กลับน่าจะ 2 กิโลเมตรกว่าๆ ความไกลไม่เท่าไหร่ครับ แต่ความวิบาก อันนี้สุดๆ เดี๋ยวผมจะเล่าในตอนต่อๆไปให้ฟังว่า ถ้าคืนก่อนบิณฑบาต มีฝนตก ตอนบิณฑบาตจะมันแค่ไหน

ปกติพระที่นี่ จะใส่รองเท้าบิณฑบาตครับ เพราะเศษแก้วเยอะ เพียงแต่ตอนรับบาตร จะต้องถอดรองเท้า การให้พรพระที่นี่ ก็คล้ายๆกับที่อื่น คือ อภิวาทะนะศีลลีสะนิจจัง วุฑฒา ปัจจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฒฑัณติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง

ที่นี่ ฉัน 2 มื้อครับ คือ เช้าและเที่ยง ความแปลกคือ วันที่บิณฑบาต จะฉัน 7 โมง แต่ถ้าวันไหนมีคนมาเลี้ยงพระเช้า จะลงมาพร้อมกันประมาณ 6:35 ในช่วง 4 วันนี้ ฆราวาสอย่างผม ก็จะรอให้พระฉันเสร็จก่อน แล้วก็จะกินต่อจากพระครับ อ้อ! ต้องบอกก่อนว่า ถ้าเป็นวันพระ หรือมีบวชพระใหม่ จะงดบิณฑบาต เพราะจะมีคนมาเลี้ยงพระที่วัดทั้งเช้า ทั้งเพลอยู่แล้ว ที่นี่มีคนมาเลี้ยงพระถี่มากครับ ผมบวชมา 4 อาทิตย์ ได้บิณฑบาตแค่ 7-8 วันเอง แต่ก็เป็น 7-8 วันที่สวรรค์จัดเต็ม ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปครับ

สิ่งนึงที่ทำให้ผมอยากมาค้างก่อนหลายวัน คือจะได้มีเวลาซ้อมขั้นตอนและบทที่ต้องท่องในวันบวชได้หลายรอบ แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เมื่อผมรู้ตอนวันที่มาค้างว่า วันจริงจะมีนาคอีกคนบวชพร้อมผม และต้องรอซ้อมพร้อมกัน นาคอีกคนที่ว่ามาวันที่ 30 เมษา ครับ ก่อนบวช 1 วันของแท้ แถมวันนั้น พระที่ทำหน้าที่ซ้อมบวช ก็ติดธุระนิมนต์ไปข้างนอก กว่าผมจะได้ซ้อมใหญ่ก็เสาร์เย็นตอน 5โมง เพียงรอบเดียวก่อนบวชจริง 13-14 ชั่วโมงโดยประมาณ

ความน่าตื่นเต้นก่อนบวช ยังไม่หมดแค่นี้ครับ เพราะนาคอีกคนที่บวชคู่กับผม สวดอะไรแทบไม่ได้เลยนอกจากช่วงท้าย คือพูดง่ายๆว่า ภาระตกอยู่กับผม อีก 1 เท่าคือผมจะต้องสวดหรือท่องคำขอบวชยืนพื้นให้ได้เป๊ะๆในวันจริง ห้ามพลาดเลย ส่วนนาคคู่กับผม ก็ต้อง สไลด์ คลอไปให้จบ

B. คำขอบวชและวันบวชจริง

ที่นี่จะใช้คำขอบวชแบบมหานิกาย คือขึ้นต้นด้วยอุกาสะ ซึ่งต่างจากสายธรรมยุต ที่ขึ้นด้วย เอสาหัง ผมได้คำขอบวชมาท่องตอนมีนาคมครับ แต่จำไม่ค่อยได้ จนมาพบเคล็ดลับที่เจ้าอาวาส พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า ถ้าเขาถาม กุฏฐัง ให้ตอบ นัตถิ ภันเต อย่าตอบ อามะ ภันเต เดี๋ยวไม่ได้บวช ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอย่างนึงว่า ที่จำไม่ค่อยได้ เพราะเราท่องแบบนกแก้ว นกขุนทอง แต่ไม่รู้คำแปลเลย หลังจากนั้น ผมก็เข้า internet search หาคำแปลของบาลีพวกนี้ จนเข้าใจว่า ทำไมต้องสวดบรรทัดนั้น บรรทัดนี้

ในความเห็นผม ขั้นตอนการบวช แบ่งเป็น 4 ช่วงครับ : ช่วงแรก จะยาวหน่อย แปลบาลีเป็นไทยจะประมาณว่า เรามายื่นคำร้องขอบวช เพื่อจะได้มีโอกาสปฏิบัติกุศล จากนั้นก็จะถวายผ้าไตรให้พระอุปัชฌาย์ แล้วก็สวดต่อไปด้วยใจความคล้ายๆกับ บรรทัดก่อน การถวายผ้าไตรให้อุปัชฌาย์ มีนัยแฝงว่า ให้ท่านพิจารณารับเรามาบวชหรือไม่ ซึ่งปกติท่านก็จะรับคำร้องนี้อยู่แล้ว โดยแสดงออกด้วยการคืนผ้าไตรกลับมาให้เรา แล้วเราก็รับผ้ามาแล้ว สวดต่อไป

พอหมดบาลีช่วงแรก ท่านก็จะกล่าวไทย ไปเรื่อยๆจนมาจบที่ให้เราพิจารณากรรมฐานขั้นต้น ว่าร่างกายเรา ที่จริงก็เป็นแค่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้น โดยให้กล่าวชื่ออวัยวะพวกนี้เป็นบาลีตามท่าน ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ทั้งแบบเดินหน้าและถอยหลัง หรือ ศัพท์ตอนบวช เรียกว่า แบบอนุโลม ปฏิโลม

จากนั้นจะมีพระมาดึงเสื้อขาวของนาคออก แล้วอุปัชฌาย์จะชักอังสะ(เสื้อของพระ)มาคล้องให้เรา พอคล้องเสร็จ เราก็จะเดินไปหลังพระประธานเพื่อถอดชุดนาคและห่มจีวรเต็มยศ โดยจะมีพระหลายรูปมะรุมมะตุ้มแต่งตัวให้เรา พอแต่งเสร็จก็เดินกลับมาที่เดิม เข้าสู่ช่วงสองครับ คือ การขอศีล รับศีล ท่านก็จะให้เรา นโม ตัสสะ ,พุทธัง สรณัง คัจฉามิ... บลา บลา บลา ตามท่านไป จนถึงจุดนึงที่เราจะขอศีล ก็จะสวดบาลีคล้ายๆเดิม แต่เปลี่ยนบรรทัดสุดท้าย พอหมดบาลีตรงนี้ ก็จะเป็นการสมาทานศีล 10 ครับ หลายคนมาตกม้าตายขั้นตอนนี้เยอะ ถึงแม้จะพูดตามพระก็ตาม เพราะมีศีลบางข้อที่ ยาวมาก ประมาณว่า ถ้าไม่จำติดไปบ้าง แล้วไปเอาตัวรอดหน้าพระ คงจะไม่ไหว

ศีล 10 ที่สมาทาน มี 5 ข้อแรกเหมือนที่เคยสวดกัน ต่างกันตรงที่ข้อที่ 3 จะไม่ใช้ กาเมสุมิจฉาจารา แต่ใช้ อะพรัหมจริยา แทน ส่วนศีลข้อ 6 จะหมายถึงการงดฉันอาหารยามวิกาล ข้อ 7 (ที่ยาวพอสมควร) จะเป็นการงดเว้นการดูระบำ รำฟ้อน หรือพูดง่ายๆว่า งดดูหนัง ฟังเพลง เพื่อความบันเทิงนั่นเอง ศีลข้อ 7 แบบบาลี คือ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสนา เวรมณีสิกขา ปทังสมาทิยามิ

ส่วนข้อ 8 ยาวสุดครับ คือ มาลาคันธวิเลปณะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี สิกขา ปทังสมาทิยามิ แปลประมาณว่า ห้าม ประพรมเครื่องหอม สวมเครื่องประดับ หรือแต่งกายเกินงาม ดังนั้นเราจึงมักไม่เห็นพระใส่นาฬิกาข้อมือเลย เพราะผิดศีลข้อนี้ (แต่พกติดตัวเพื่อดูเวลาได้นะครับ เพียงแต่ห้ามโชว์) สำหรับข้อ 9 คือห้ามนอนฟูกหรือเตียงสูง ข้อ 10 คือห้ามจับเงิน ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่า เจตนาจริงๆของศีลข้อนี้คือ ห้ามภิกษุใช้เงินมาปรนเปรอความสุขส่วนตัว เพราะไม่งั้นญาติโยมคงถวายปัจจัยให้พระไม่ได้

พอสมาทานศีลเสร็จ ก็จะซ้ายหัน มารับบาตรจากบุพการี แล้วเดินกลับไปในที่ประชุมสงฆ์เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 เรียกว่า ขอนิสัยครับ จะเป็นการสวดเพื่อรับเป็นอุปัชฌาย์ และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มาบวช อย่างที่นี่ เจ้าอาวาส จะเป็นอุปัชฌาย์ของพระบวชใหม่ทุกรูปครับ มีท่อนนึงที่ผมขนลุกมากตั้งแต่ตอน search ใน internet เป็นส่วนหนึ่งของบาลีในขั้นตอนนี้ ที่บอกว่า อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร ซึ่งแปลว่า ทั้งเราและพระอุปัชฌาย์ นับจากนี้ ถือเป็นภาระของกันและกัน ใครทำอะไรไม่ดี จะกระทบถึงอีกคนด้วย

ผมใช้บาลีตรงนี้ ยึดเหนี่ยวตัวเองไว้ ตลอดเวลาที่มาบวชว่า เราต้องปฏิบัติให้ดี เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียงของพระอุปัชฌาย์ด้วย หรือเวลามีเรื่องที่เราตัดสินใจไม่ถูก ว่าจะทำหรือไม่ทำดี ก็จะนึกถึง อัชชะตัคเคทานิ ไว้ตลอดครับ แล้วก็จะตัดสินใจบนพื้นฐานนี้ตลอด ถึงแม้จะมีใครมา psycho อย่างไรก็ตาม

พอหมด อัชชะตัคเค ก็จะเป็นการบอกบาตรและจีวรครับ ว่าที่คล้องอยู่คือบาตรของเรา ผืนนี้คือสังฆาฏิ etc. จากนั้นก็จะกลับหลังหันออกจากที่ประชุมสงฆ์ไปยืนด้านนอก เข้าสู่ขั้นการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มาขอบวชครับหรือเรียกว่าสวดถามอันตรายิกธรรม โดย จะมีพระอาจารย์ ถามเป็นบาลี ให้เราตอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งYes แทนด้วย อามะ ภันเต และ No แทนด้วย นัตถิ ภันเต

คุณสมบัติที่จะถามมี 13 อย่างมั้งครับ ถ้าจำไม่ผิด ช่วงแรกๆจะถามว่า เป็นโรคต้องห้ามหรือเปล่า เช่น กุฏฐัง คือ โรคเรื้อน ก็ต้องตอบ นัตถิ ภันเต ปกติคนที่มาบวชส่วนใหญ่จะให้จำว่า นัตถิกี่ครั้ง อามะกี่ครั้ง แต่ผมกลัวนับพลาด ก็เลยใช้แบบ conversation ไปเลย เพราะแปลบาลีออก พอหมดคำถามเรื่องโรค 4-5 โรค ก็จะเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน เช่น เป็นมนุษย์หรือไม่ (มะนุสโสสิ๊) ,ผู้ชายใช่มั้ย(ปุริโสสิ๊) ,บิดามารดาอนุญาตใช่มั้ย , ครบ 20 ปีแล้วใช่มั้ย ,มีบาตรและจีวรแล้วใช่มั้ย etc.

พอจบช่วงนี้พระอาจารย์ก็จะให้เรากล่าวฉายาของเราและฉายาของอุปัชฌาย์ครับ อย่างของผม ก็จะเป็น ?อะหัง ภันเต ติกขวีโร นามะ? ส่วนฉายาอุปัชฌาย์คือ ยุตตโยโค ก็จะเป็น ?อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสมา ยุตตโยโค นามะ? (หมายเหตุนิดนึงว่า ภาษาบาลีจะอ่าน อายัสมา ว่า อา-ยัด-สะ-หมา แต่เนื่องจากเราให้เกียรติอุปัชฌาย์ เวลาบวชจริงจะออกเสียง อา-ยัด-สะ-มา แทนครับ)

เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย ที่สำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนการรับเป็นภิกษุ จะท่องบาลีอีก 6 วรรคซึ่งจะต่างจาก บาลีที่ผ่านๆมา ที่มันจะคล้ายๆกัน แต่เปลี่ยนไส้ในบ้าง เปลี่ยนตอนท้ายบ้าง

ขั้นตอนนี้ เราจะเดินจากข้างนอก เข้ามาตรงขอบที่ประชุมสงฆ์ และกล่าวคำขอบวชอีก 6 วรรค ซึ่งเป็น shot ที่สำคัญมาก เพราะตอนบวชสามเณรจะไม่มีท่อนนี้และพระที่ซ้อมบวชให้ผม บอกว่า สมัยพุทธกาล มีพญานาคมาปลอมบวช แล้วก็ท่องท่อนนี้ไม่ได้ ก็เลยไม่ได้บวช แถม 6 วรรคนี้ยังเป็นคาถายามคับขันได้ด้วย

ผมเชื่อว่าพระบวชใหม่หลายองค์คิดเหมือนผม คือ ท่อนที่สำคัญสุดๆในการบวช ดันมาอยู่ตอนจบซะนี่ ซึ่ง memory ความจำใกล้หมดพอดี

พอกล่าวจบก็จะขยับจากขอบ เข้ามานั่งข้างหน้าอุปัชฌาย์เหมือนเดิม และจะมีการสวดถามอันตรายิกธรรมอีกรอบ (ช่วงที่นัตถิ/อามะ ภันเต) หลังจากนั้นก็จะฟังสวดยาวมากๆ จนจบพิธี

ขั้นตอนจริงในการบวช นับตั้งแต่เข้าโบสถ์ จะใช้เวลาประมาณ 50 นาทีครับ

วันบวชจริง ญาติพี่น้องมากันครบครับ มีลูกศิษย์ และครอบครัวลูกศิษย์มากัน 3บ้าน น้องรหัส ป.ตรี รุ่นน้อง ป.ตรี เพื่อนสนิทมากๆ ก็มาหมด อย่างของผมจะมีพิเศษคือมีหลวงลุงซึ่งเป็นลุงจริงๆมาจากอีกวัด มาร่วมในที่ประชุมสงฆ์ด้วย ยิ่งมาเยอะก็ยิ่งต้องทำให้ดีตอนเข้าโบสถ์ครับ ถ้าใครถ่ายรูปผมตอนก่อนเข้าโบสถ์ จะเห็นว่าหน้าผมเครียดมาก เพราะตื่นเต้น กลัวท่องผิดท่องถูก

งานเริ่มจากเลี้ยงพระเช้าตอน 6โมง 35 ครับ จำได้ว่าวันนั้น เลี้ยงข้าวต้มทะเล หลังจากนั้นก็จะให้ญาติพี่น้องมาขลิบผมใส่ใบบัว ตามด้วยการโกนหัวครับ พระที่มาโกนให้ผมชื่อ หลวงน้าสารสิน เป็นอีกองค์รองจากเจ้าอาวาสที่ผมประทับใจมาก และเป็นองค์ที่ซ้อมบวชให้ผมด้วย การโกนก็จะ hard core นิดนึงครับ คือเอาสบู่ถูหัว แล้วก็โกน แต่ขอบอกว่า โกนขั้นเทพมาก เนียนหมดหัวเลยครับ

พอโกนเสร็จก็จะใส่ชุดนาค กลับมาขอขมาบิดามารดา ญาติพี่น้อง จำได้ว่า เป็น scene drama มาก น้ำตาเกือบแตกตอนขอขมาบิดามารดา แต่กลั้นเอาไว้ทัน จากนั้นก็เตรียมขบวนแห่นาคครับ

การแห่นาคของผม ไม่เน้นเอิกเกริก ไม่มีกลองยาว เป็นแค่เดินรอบโบสถ์ธรรมดา 3 รอบแล้วก็มาวันทาเสมา ก่อนเข้าโบสถ์ ตามมาด้วยการโปรยทานที่ต้องบอกว่า มาราธอนมาก วันนั้นผมว่าใครเก็บได้ คงได้ไปหลายตังค์ โปรยทานเสร็จ ก็เข้าโบสถ์ครับ โดยต้องไม่เหยียบธรณีประตู แต่บางครอบครัว จะมีการอุ้มนาคแตะขอบประตูโบสถ์ด้านบน ก็สุดแล้วแต่

พอเข้ามา ก็จะมานั่งตรงพรมแดง ผมจะอยู่ซ้าย นาคอีกคนจะอยู่ขวา ตำแหน่งจะเป็นอย่างนี้ตลอดการบวช แล้วก็จะกราบเบญจางคประดิษฐ์พระประธาน แล้วขั้นตอนต่างๆก็จะเริ่มตามที่ผมบอกไว้ก่อนหน้าครับ ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดีนะ สังเกตจากหลังสึกออกมาแล้วถามเพื่อนที่มางาน ก็บอกว่า แกท่องเป๊ะมาก

พอเสร็จพิธี ก็จะถ่ายรูปพระใหม่กันสนุกสนาน จากนั้นเราก็จะถือย่ามออกมานอกโบสถ์ แล้วก็มีญาติโยมมาถวาย ธูปเทียน ปัจจัย etc. ใส่ย่าม ซึ่งผมถวายปัจจัยคืนกลับให้วัดหมดเลยตอนสึกครับ
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้