Mathcenter Forum  

Go Back   Mathcenter Forum > คลายเครียด > ฟรีสไตล์
สมัครสมาชิก คู่มือการใช้ รายชื่อสมาชิก ปฏิทิน ค้นหา ข้อความวันนี้ ทำเครื่องหมายอ่านทุกห้องแล้ว

ตั้งหัวข้อใหม่ Reply
 
เครื่องมือของหัวข้อ ค้นหาในหัวข้อนี้
  #1  
Old 05 มิถุนายน 2011, 23:56
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default เรื่องเล่าหลังบวช

มาเล่าให้ฟัง เป็นประสบการณ์หลังจากที่ไปบวชมา 4 อาทิตย์รวมกับไปเป็นเด็กวัดอยู่ 4 วันก่อนบวชครับ ก็จะมีส่วนที่เป็นประสบการณ์และส่วนที่เป็นสาระทางศาสนาผสมกันอยู่ในนี้นะครับ

เริ่มจาก 2 parts แรกก่อนครับ

A. ก่อนบวช 4 วัน
ตอนแรก ผมเข้าใจว่า สำหรับทุกวัด คนส่วนใหญ่จะไปค้างวัดก่อน 2-3 วัน เผลอๆเป็นสัปดาห์ แต่หลังจากที่ผมบวชอยู่ เกือบเดือน ผมพบว่า ผมเป็นคนส่วนน้อยของที่นี่ ที่มาค้างวัดเกิน 1 คืนก่อนบวช เพราะพระใหม่หลายองค์ที่มาบวช ในเดือน พ.ค. ล้วนมากัน 1 วันก่อนบวชเกือบทั้งนั้น

แต่ผมว่า ผมคิดถูกนะที่มาอยู่เกิน 1 คืน เพราะทำให้เราได้ทำกิจกรรมต่างๆนานาได้เยอะกว่า เช่น การเดินตามพระบิณฑบาตซึ่งผมเป็นคน want เอง , กวาดวัด,ล้างจานให้พระตอนฉันเช้า

ชีวิตก่อนบวชเริ่มจากคืนวันจันทร์ 25/4/2011 โดยเริ่มจากการล้างเท้าขอขมาบิดามารดาที่บ้าน เป็น drama scene กันก่อนบวชก็ว่าได้ จากนั้นก็เอาน้ำล้างเท้าไปอาบครับ กระโดดข้ามมาที่วันพุธ 27/4/2011 ซึ่งผมจะต้องไปค้างที่วัด โดยผมกับแม่ไปฉะเชิงเทราด้วยรถไฟครับ และไปไหว้หลวงพ่อโสธรตอนบ่าย ก่อนจะไปยังวัดที่จะบวชช่วง 15.00

วัดนี้อยู่ใกล้บ้านยาย และผมเคยมาบ่อยตอนเด็กๆเมื่อมีงานศพญาติพี่น้อง เป็นวัดติดแม่น้ำบางปะกง สภาพวัดปัจจุบันสะอาดและดีกว่าแต่ก่อนมาก แถมข้างในวัดมีอาคารวิปัสสนาด้วย

ผมค่อนข้างโชคดีที่ห้องหรือกุฏิที่ผมอยู่ มีห้องน้ำในตัว ถึงแม้ฝักบัวจะเสียก็ตาม ต้องใช้ขันล้วนๆในการอาบ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เป็นหนึ่งในกุฏิไม่กี่ห้องที่มีทั้งตู้เย็น พัดลมและแอร์ ซึ่งเจ้าอาวาสบอกว่าเปิดแอร์ได้นะ แต่ผมไม่เคยเปิดเลยช่วงก่อนบวช เพราะไม่อยากติดความสบายไปถึงตอนบวช นอกจากนี้ ผมว่า ผมเป็นพระบวชใหม่ไม่กี่รูปของเดือน พฤษภาคม ที่ไม่พกโทรศัพท์มือถือมาช่วงบวช 4 อาทิตย์เลย เพราะถ้าติดมา ก็จะเกิดกิเลสเยอะ

กลับมาที่เรื่องห้องครับ ห้องนี้อยู่ห่างจากห้องเจ้าอาวาสแค่ 3 ก้าวเท่านั้นครับ ผมคิดว่า ที่ผมได้อยู่ห้องนี้ เพราะคืนก่อนบวช จะมีเพื่อนผมที่เดินทางมาจากเพชรบูรณ์มาค้างก่อน 1 คืน เจ้าอาวาสเลยเลือกห้องกว้างๆและมีแอร์ให้

หลังจากเข้าห้องไปไม่เกิน 2 นาที เจ้าอาวาสก็มาเคาะประตูเรียกและยื่นกระดาษแผ่นนึงให้ เป็นฉายาของพระ และพระอุปัชฌาย์ที่ผมต้องใช้ท่องวันบวช ผมเข้าใจว่าฉายาพระจะตั้งจากอักษรแรกของชื่อจริง อย่างผมได้ฉายา ว่า ติกขวีโร แปลว่า ผู้มีความแกล้วกล้าและเด็ดเดี่ยว ผมเดาเอาว่าอาจจะเป็นเพราะผมบวชนานสุดในบรรดาพระที่มาบวชเดือนพฤษภาคม ถ้าไม่กล้าพอ คงไม่มาบวชนาน

เวลาโดยเฉลี่ยของพระที่มาบวชเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 2 อาทิตย์ครับ แต่ผมบวช 1 พ.ค. และสึก 28 พ.ค. จึงไม่แปลกอะไรที่พอเข้าอาทิตย์ที่ 3 ผมกลายเป็นหนึ่งในพระ senior ไปเลย ที่ต้องคอยมา guide พระบวชใหม่

พอช่วงใกล้ 4 โมง เจ้าอาวาสก็มาเคาะห้องผมอีกรอบ เพื่อให้ลงไปทำวัตรเย็นกับพระที่วัด โดยผมนั่งอยู่ขอบพรม นอกบริเวณที่พระสวด เพราะสถานภาพเราตอนนั้น คือฆราวาส

การทำวัตรเย็นของที่นี่ ใช้เวลาแต่ละวันต่างกัน นานสุด 50 นาที สั้นสุด 35 นาที แต่ละวันจะสวดไม่เหมือนกัน ซึ่งพระที่บวชใหม่ๆทุกรูป จะต้องจดแผนที่เลขหน้า ไว้ในหนังสือ มนต์พิธี เพื่อดูว่า วันไหนสวดหน้าไหน

บทที่สวดช่วงทำวัตรเย็น หรือเช้า ส่วนใหญ่จะเป็นบทเดียวกับที่พระต้องสวดเวลามีญาติโยมมานิมนต์เลี้ยงพระเพล เช่น อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน พาหุง สวดธรรมจักร สวดชยันโต etc.

บทที่ผมจะโฟกัส คือ พาหุง กับ ธรรมจักรครับ คือผมเข้าใจว่า พาหุงมันไม่ยาว เพราะตอนประถม สวด พาหุงประมาณ 4 บรรทัด แต่นั่นคือย่อหน้าแรกของ พาหุงแบบเต็มครับ บทพาหุง มี 8 ย่อหน้า จะพูดถึงการชนะมารในรูปแบบต่างๆของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะเป็นชนะพญาช้างนาฬาคิริง ชนะยักษ์ ชนะพญามาร ชนะองคุลิมาล etc. ด้วยคุณธรรมแบบต่างๆ

ส่วนธรรมจักร มาจากชื่อเต็มคือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่พระพุทธองค์ แสดงปฐมเทศนา บทนี้จะยาวมากๆๆๆ ผมเคยสวดแบบผ่านๆ ตอนประถมปลาย ไม่เกี่ยวกับโรงเรียน แต่เป็นผู้ปกครองเพื่อนคนนึงเอามาให้สวด จะบอกว่า ผมจำสวรรค์ 6 ชั้นได้ ก็จากมนต์บทนี้ครับ แต่หารู้ไม่ว่าจริงๆ บทสวดนี้ cover ไปถึงชั้นพรหม และอรูปพรหมด้วย

สวดธรรมจักร จะเริ่มจาก เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภควา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย?.. จริงๆยังมีอีกหลายบทสวด ที่ขึ้นด้วย เอวัมเม สุตัง แต่เปลี่ยนจากพาราณสี เป็น สาวัตถีบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง

หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ พระเกือบทุกรูปจะต้องลงมากวาดลานวัดตอน 5 โมง ตอนก่อนบวช ผมก็ลงไปกวาดเหมือนกัน เป็นการออกกำลังกายด้วยไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งบริหาร Triceps ดีนักแล

แต่ถ้าวันไหนที่พรุ่งนี้มีบวชพระใหม่ เย็นวันก่อนหน้า พระส่วนหนึ่งก็จะแบ่งมาช่วยล้างบริเวณรอบอุโบสถ ครับ ซึ่งการกวาดวัด จะเป็นกิจของสงฆ์อย่างสุดท้ายในแต่ละวันของพระที่นี่ (ถ้าไม่นับการสวดอภิธรรมศพ) หลังจากนั้น พระก็จะสรงน้ำ และทำกิจวัตรส่วนตัว

ในส่วนของฆราวาส อย่างผม วันแรกที่ไปค้าง ผมยังกินมื้อเย็นอยู่นะ แต่ต่อมาอีก 3 วัน ก็เริ่มอดมื้อเย็น กินแต่น้ำปานะ กับนมอย่างเดียวหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ

ช่วงที่ผมมาค้าง ผมเจอน้องอีก 2 คนที่มาบวชต่อจากผม คือวันที่ 2 พ.ค. เป็นเด็กใกล้จบ ป.ตรี คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ สาขาโฆษณา ได้คุยกันตอนไปกินข้าวเย็นวันแรกครับ หนึ่งใน 2 คนนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระรูปหนึ่งที่บวชอยู่วัดนี้มา 1 พรรษาหรือ 1 ปี ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นพระที่ผมคุยด้วยบ่อยสุดในช่วงที่ผมบวช อายุท่านจริงๆมากกว่าผมปีเดียว แต่ผมจะเรียกท่าน ว่าเป็นพระพี่เลี้ยง หรือพระอุปถัมภ์ เพราะท่านอุปการะผมเยอะมาก

ผ่านมาถึงอีกวัน ผมยังนอนไม่ค่อยจะหลับเพราะแปลกที่ แต่ยังไงก็ต้องตื่นมาตี 4 กว่าๆเพื่อมาอาบน้ำ และเตรียมทำวัตรเช้าตอนตี 5 พร้อมพระ ทำวัตรเช้าจะสั้นกว่าทำวัตรเย็นครับ เฉลี่ยอยู่ที่ 35 นาทีทุกวัน

ผมได้ถือย่ามตามพระบิณฑบาต ซึ่งที่นี่จะแบ่งพระไปหลายเส้นทางครับ ผมไปมา 2 สายครับ แต่สาย main ของผม ออกจากวัด 5:45 จะผ่านถนนปกติ ตัดเข้าบริเวณที่เป็นหญ้า ผ่านขอบบ่อ ผ่านเล้าไก่ แล้ววกกลับมาที่ทางลูกรังอีกรอบ ผ่านหน้าบ้านยาย แล้วเข้าวัดตอน 6:45 ระยะทางผมว่าไป-กลับน่าจะ 2 กิโลเมตรกว่าๆ ความไกลไม่เท่าไหร่ครับ แต่ความวิบาก อันนี้สุดๆ เดี๋ยวผมจะเล่าในตอนต่อๆไปให้ฟังว่า ถ้าคืนก่อนบิณฑบาต มีฝนตก ตอนบิณฑบาตจะมันแค่ไหน

ปกติพระที่นี่ จะใส่รองเท้าบิณฑบาตครับ เพราะเศษแก้วเยอะ เพียงแต่ตอนรับบาตร จะต้องถอดรองเท้า การให้พรพระที่นี่ ก็คล้ายๆกับที่อื่น คือ อภิวาทะนะศีลลีสะนิจจัง วุฑฒา ปัจจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฒฑัณติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง

ที่นี่ ฉัน 2 มื้อครับ คือ เช้าและเที่ยง ความแปลกคือ วันที่บิณฑบาต จะฉัน 7 โมง แต่ถ้าวันไหนมีคนมาเลี้ยงพระเช้า จะลงมาพร้อมกันประมาณ 6:35 ในช่วง 4 วันนี้ ฆราวาสอย่างผม ก็จะรอให้พระฉันเสร็จก่อน แล้วก็จะกินต่อจากพระครับ อ้อ! ต้องบอกก่อนว่า ถ้าเป็นวันพระ หรือมีบวชพระใหม่ จะงดบิณฑบาต เพราะจะมีคนมาเลี้ยงพระที่วัดทั้งเช้า ทั้งเพลอยู่แล้ว ที่นี่มีคนมาเลี้ยงพระถี่มากครับ ผมบวชมา 4 อาทิตย์ ได้บิณฑบาตแค่ 7-8 วันเอง แต่ก็เป็น 7-8 วันที่สวรรค์จัดเต็ม ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปครับ

สิ่งนึงที่ทำให้ผมอยากมาค้างก่อนหลายวัน คือจะได้มีเวลาซ้อมขั้นตอนและบทที่ต้องท่องในวันบวชได้หลายรอบ แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เมื่อผมรู้ตอนวันที่มาค้างว่า วันจริงจะมีนาคอีกคนบวชพร้อมผม และต้องรอซ้อมพร้อมกัน นาคอีกคนที่ว่ามาวันที่ 30 เมษา ครับ ก่อนบวช 1 วันของแท้ แถมวันนั้น พระที่ทำหน้าที่ซ้อมบวช ก็ติดธุระนิมนต์ไปข้างนอก กว่าผมจะได้ซ้อมใหญ่ก็เสาร์เย็นตอน 5โมง เพียงรอบเดียวก่อนบวชจริง 13-14 ชั่วโมงโดยประมาณ

ความน่าตื่นเต้นก่อนบวช ยังไม่หมดแค่นี้ครับ เพราะนาคอีกคนที่บวชคู่กับผม สวดอะไรแทบไม่ได้เลยนอกจากช่วงท้าย คือพูดง่ายๆว่า ภาระตกอยู่กับผม อีก 1 เท่าคือผมจะต้องสวดหรือท่องคำขอบวชยืนพื้นให้ได้เป๊ะๆในวันจริง ห้ามพลาดเลย ส่วนนาคคู่กับผม ก็ต้อง สไลด์ คลอไปให้จบ

B. คำขอบวชและวันบวชจริง

ที่นี่จะใช้คำขอบวชแบบมหานิกาย คือขึ้นต้นด้วยอุกาสะ ซึ่งต่างจากสายธรรมยุต ที่ขึ้นด้วย เอสาหัง ผมได้คำขอบวชมาท่องตอนมีนาคมครับ แต่จำไม่ค่อยได้ จนมาพบเคล็ดลับที่เจ้าอาวาส พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า ถ้าเขาถาม กุฏฐัง ให้ตอบ นัตถิ ภันเต อย่าตอบ อามะ ภันเต เดี๋ยวไม่ได้บวช ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอย่างนึงว่า ที่จำไม่ค่อยได้ เพราะเราท่องแบบนกแก้ว นกขุนทอง แต่ไม่รู้คำแปลเลย หลังจากนั้น ผมก็เข้า internet search หาคำแปลของบาลีพวกนี้ จนเข้าใจว่า ทำไมต้องสวดบรรทัดนั้น บรรทัดนี้

ในความเห็นผม ขั้นตอนการบวช แบ่งเป็น 4 ช่วงครับ : ช่วงแรก จะยาวหน่อย แปลบาลีเป็นไทยจะประมาณว่า เรามายื่นคำร้องขอบวช เพื่อจะได้มีโอกาสปฏิบัติกุศล จากนั้นก็จะถวายผ้าไตรให้พระอุปัชฌาย์ แล้วก็สวดต่อไปด้วยใจความคล้ายๆกับ บรรทัดก่อน การถวายผ้าไตรให้อุปัชฌาย์ มีนัยแฝงว่า ให้ท่านพิจารณารับเรามาบวชหรือไม่ ซึ่งปกติท่านก็จะรับคำร้องนี้อยู่แล้ว โดยแสดงออกด้วยการคืนผ้าไตรกลับมาให้เรา แล้วเราก็รับผ้ามาแล้ว สวดต่อไป

พอหมดบาลีช่วงแรก ท่านก็จะกล่าวไทย ไปเรื่อยๆจนมาจบที่ให้เราพิจารณากรรมฐานขั้นต้น ว่าร่างกายเรา ที่จริงก็เป็นแค่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้น โดยให้กล่าวชื่ออวัยวะพวกนี้เป็นบาลีตามท่าน ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ทั้งแบบเดินหน้าและถอยหลัง หรือ ศัพท์ตอนบวช เรียกว่า แบบอนุโลม ปฏิโลม

จากนั้นจะมีพระมาดึงเสื้อขาวของนาคออก แล้วอุปัชฌาย์จะชักอังสะ(เสื้อของพระ)มาคล้องให้เรา พอคล้องเสร็จ เราก็จะเดินไปหลังพระประธานเพื่อถอดชุดนาคและห่มจีวรเต็มยศ โดยจะมีพระหลายรูปมะรุมมะตุ้มแต่งตัวให้เรา พอแต่งเสร็จก็เดินกลับมาที่เดิม เข้าสู่ช่วงสองครับ คือ การขอศีล รับศีล ท่านก็จะให้เรา นโม ตัสสะ ,พุทธัง สรณัง คัจฉามิ... บลา บลา บลา ตามท่านไป จนถึงจุดนึงที่เราจะขอศีล ก็จะสวดบาลีคล้ายๆเดิม แต่เปลี่ยนบรรทัดสุดท้าย พอหมดบาลีตรงนี้ ก็จะเป็นการสมาทานศีล 10 ครับ หลายคนมาตกม้าตายขั้นตอนนี้เยอะ ถึงแม้จะพูดตามพระก็ตาม เพราะมีศีลบางข้อที่ ยาวมาก ประมาณว่า ถ้าไม่จำติดไปบ้าง แล้วไปเอาตัวรอดหน้าพระ คงจะไม่ไหว

ศีล 10 ที่สมาทาน มี 5 ข้อแรกเหมือนที่เคยสวดกัน ต่างกันตรงที่ข้อที่ 3 จะไม่ใช้ กาเมสุมิจฉาจารา แต่ใช้ อะพรัหมจริยา แทน ส่วนศีลข้อ 6 จะหมายถึงการงดฉันอาหารยามวิกาล ข้อ 7 (ที่ยาวพอสมควร) จะเป็นการงดเว้นการดูระบำ รำฟ้อน หรือพูดง่ายๆว่า งดดูหนัง ฟังเพลง เพื่อความบันเทิงนั่นเอง ศีลข้อ 7 แบบบาลี คือ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสนา เวรมณีสิกขา ปทังสมาทิยามิ

ส่วนข้อ 8 ยาวสุดครับ คือ มาลาคันธวิเลปณะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี สิกขา ปทังสมาทิยามิ แปลประมาณว่า ห้าม ประพรมเครื่องหอม สวมเครื่องประดับ หรือแต่งกายเกินงาม ดังนั้นเราจึงมักไม่เห็นพระใส่นาฬิกาข้อมือเลย เพราะผิดศีลข้อนี้ (แต่พกติดตัวเพื่อดูเวลาได้นะครับ เพียงแต่ห้ามโชว์) สำหรับข้อ 9 คือห้ามนอนฟูกหรือเตียงสูง ข้อ 10 คือห้ามจับเงิน ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่า เจตนาจริงๆของศีลข้อนี้คือ ห้ามภิกษุใช้เงินมาปรนเปรอความสุขส่วนตัว เพราะไม่งั้นญาติโยมคงถวายปัจจัยให้พระไม่ได้

พอสมาทานศีลเสร็จ ก็จะซ้ายหัน มารับบาตรจากบุพการี แล้วเดินกลับไปในที่ประชุมสงฆ์เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 เรียกว่า ขอนิสัยครับ จะเป็นการสวดเพื่อรับเป็นอุปัชฌาย์ และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มาบวช อย่างที่นี่ เจ้าอาวาส จะเป็นอุปัชฌาย์ของพระบวชใหม่ทุกรูปครับ มีท่อนนึงที่ผมขนลุกมากตั้งแต่ตอน search ใน internet เป็นส่วนหนึ่งของบาลีในขั้นตอนนี้ ที่บอกว่า อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร ซึ่งแปลว่า ทั้งเราและพระอุปัชฌาย์ นับจากนี้ ถือเป็นภาระของกันและกัน ใครทำอะไรไม่ดี จะกระทบถึงอีกคนด้วย

ผมใช้บาลีตรงนี้ ยึดเหนี่ยวตัวเองไว้ ตลอดเวลาที่มาบวชว่า เราต้องปฏิบัติให้ดี เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียงของพระอุปัชฌาย์ด้วย หรือเวลามีเรื่องที่เราตัดสินใจไม่ถูก ว่าจะทำหรือไม่ทำดี ก็จะนึกถึง อัชชะตัคเคทานิ ไว้ตลอดครับ แล้วก็จะตัดสินใจบนพื้นฐานนี้ตลอด ถึงแม้จะมีใครมา psycho อย่างไรก็ตาม

พอหมด อัชชะตัคเค ก็จะเป็นการบอกบาตรและจีวรครับ ว่าที่คล้องอยู่คือบาตรของเรา ผืนนี้คือสังฆาฏิ etc. จากนั้นก็จะกลับหลังหันออกจากที่ประชุมสงฆ์ไปยืนด้านนอก เข้าสู่ขั้นการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มาขอบวชครับหรือเรียกว่าสวดถามอันตรายิกธรรม โดย จะมีพระอาจารย์ ถามเป็นบาลี ให้เราตอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งYes แทนด้วย อามะ ภันเต และ No แทนด้วย นัตถิ ภันเต

คุณสมบัติที่จะถามมี 13 อย่างมั้งครับ ถ้าจำไม่ผิด ช่วงแรกๆจะถามว่า เป็นโรคต้องห้ามหรือเปล่า เช่น กุฏฐัง คือ โรคเรื้อน ก็ต้องตอบ นัตถิ ภันเต ปกติคนที่มาบวชส่วนใหญ่จะให้จำว่า นัตถิกี่ครั้ง อามะกี่ครั้ง แต่ผมกลัวนับพลาด ก็เลยใช้แบบ conversation ไปเลย เพราะแปลบาลีออก พอหมดคำถามเรื่องโรค 4-5 โรค ก็จะเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน เช่น เป็นมนุษย์หรือไม่ (มะนุสโสสิ๊) ,ผู้ชายใช่มั้ย(ปุริโสสิ๊) ,บิดามารดาอนุญาตใช่มั้ย , ครบ 20 ปีแล้วใช่มั้ย ,มีบาตรและจีวรแล้วใช่มั้ย etc.

พอจบช่วงนี้พระอาจารย์ก็จะให้เรากล่าวฉายาของเราและฉายาของอุปัชฌาย์ครับ อย่างของผม ก็จะเป็น ?อะหัง ภันเต ติกขวีโร นามะ? ส่วนฉายาอุปัชฌาย์คือ ยุตตโยโค ก็จะเป็น ?อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสมา ยุตตโยโค นามะ? (หมายเหตุนิดนึงว่า ภาษาบาลีจะอ่าน อายัสมา ว่า อา-ยัด-สะ-หมา แต่เนื่องจากเราให้เกียรติอุปัชฌาย์ เวลาบวชจริงจะออกเสียง อา-ยัด-สะ-มา แทนครับ)

เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย ที่สำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนการรับเป็นภิกษุ จะท่องบาลีอีก 6 วรรคซึ่งจะต่างจาก บาลีที่ผ่านๆมา ที่มันจะคล้ายๆกัน แต่เปลี่ยนไส้ในบ้าง เปลี่ยนตอนท้ายบ้าง

ขั้นตอนนี้ เราจะเดินจากข้างนอก เข้ามาตรงขอบที่ประชุมสงฆ์ และกล่าวคำขอบวชอีก 6 วรรค ซึ่งเป็น shot ที่สำคัญมาก เพราะตอนบวชสามเณรจะไม่มีท่อนนี้และพระที่ซ้อมบวชให้ผม บอกว่า สมัยพุทธกาล มีพญานาคมาปลอมบวช แล้วก็ท่องท่อนนี้ไม่ได้ ก็เลยไม่ได้บวช แถม 6 วรรคนี้ยังเป็นคาถายามคับขันได้ด้วย

ผมเชื่อว่าพระบวชใหม่หลายองค์คิดเหมือนผม คือ ท่อนที่สำคัญสุดๆในการบวช ดันมาอยู่ตอนจบซะนี่ ซึ่ง memory ความจำใกล้หมดพอดี

พอกล่าวจบก็จะขยับจากขอบ เข้ามานั่งข้างหน้าอุปัชฌาย์เหมือนเดิม และจะมีการสวดถามอันตรายิกธรรมอีกรอบ (ช่วงที่นัตถิ/อามะ ภันเต) หลังจากนั้นก็จะฟังสวดยาวมากๆ จนจบพิธี

ขั้นตอนจริงในการบวช นับตั้งแต่เข้าโบสถ์ จะใช้เวลาประมาณ 50 นาทีครับ

วันบวชจริง ญาติพี่น้องมากันครบครับ มีลูกศิษย์ และครอบครัวลูกศิษย์มากัน 3บ้าน น้องรหัส ป.ตรี รุ่นน้อง ป.ตรี เพื่อนสนิทมากๆ ก็มาหมด อย่างของผมจะมีพิเศษคือมีหลวงลุงซึ่งเป็นลุงจริงๆมาจากอีกวัด มาร่วมในที่ประชุมสงฆ์ด้วย ยิ่งมาเยอะก็ยิ่งต้องทำให้ดีตอนเข้าโบสถ์ครับ ถ้าใครถ่ายรูปผมตอนก่อนเข้าโบสถ์ จะเห็นว่าหน้าผมเครียดมาก เพราะตื่นเต้น กลัวท่องผิดท่องถูก

งานเริ่มจากเลี้ยงพระเช้าตอน 6โมง 35 ครับ จำได้ว่าวันนั้น เลี้ยงข้าวต้มทะเล หลังจากนั้นก็จะให้ญาติพี่น้องมาขลิบผมใส่ใบบัว ตามด้วยการโกนหัวครับ พระที่มาโกนให้ผมชื่อ หลวงน้าสารสิน เป็นอีกองค์รองจากเจ้าอาวาสที่ผมประทับใจมาก และเป็นองค์ที่ซ้อมบวชให้ผมด้วย การโกนก็จะ hard core นิดนึงครับ คือเอาสบู่ถูหัว แล้วก็โกน แต่ขอบอกว่า โกนขั้นเทพมาก เนียนหมดหัวเลยครับ

พอโกนเสร็จก็จะใส่ชุดนาค กลับมาขอขมาบิดามารดา ญาติพี่น้อง จำได้ว่า เป็น scene drama มาก น้ำตาเกือบแตกตอนขอขมาบิดามารดา แต่กลั้นเอาไว้ทัน จากนั้นก็เตรียมขบวนแห่นาคครับ

การแห่นาคของผม ไม่เน้นเอิกเกริก ไม่มีกลองยาว เป็นแค่เดินรอบโบสถ์ธรรมดา 3 รอบแล้วก็มาวันทาเสมา ก่อนเข้าโบสถ์ ตามมาด้วยการโปรยทานที่ต้องบอกว่า มาราธอนมาก วันนั้นผมว่าใครเก็บได้ คงได้ไปหลายตังค์ โปรยทานเสร็จ ก็เข้าโบสถ์ครับ โดยต้องไม่เหยียบธรณีประตู แต่บางครอบครัว จะมีการอุ้มนาคแตะขอบประตูโบสถ์ด้านบน ก็สุดแล้วแต่

พอเข้ามา ก็จะมานั่งตรงพรมแดง ผมจะอยู่ซ้าย นาคอีกคนจะอยู่ขวา ตำแหน่งจะเป็นอย่างนี้ตลอดการบวช แล้วก็จะกราบเบญจางคประดิษฐ์พระประธาน แล้วขั้นตอนต่างๆก็จะเริ่มตามที่ผมบอกไว้ก่อนหน้าครับ ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดีนะ สังเกตจากหลังสึกออกมาแล้วถามเพื่อนที่มางาน ก็บอกว่า แกท่องเป๊ะมาก

พอเสร็จพิธี ก็จะถ่ายรูปพระใหม่กันสนุกสนาน จากนั้นเราก็จะถือย่ามออกมานอกโบสถ์ แล้วก็มีญาติโยมมาถวาย ธูปเทียน ปัจจัย etc. ใส่ย่าม ซึ่งผมถวายปัจจัยคืนกลับให้วัดหมดเลยตอนสึกครับ
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #2  
Old 06 มิถุนายน 2011, 14:02
banker banker ไม่อยู่ในระบบ
เทพเซียน
 
วันที่สมัครสมาชิก: 24 มกราคม 2002
ข้อความ: 9,910
banker is on a distinguished road
Default

สาธุ

เป็นคนสุกเต็มตัวแล้ว
__________________
มาหาความรู้ไว้ติวหลาน
แต่หลานไม่เอาเลขแล้ว
เข้ามาทำเลขเอามันอย่างเดียว

ความรู้เป็นสิ่งเดียวที่ยิ่งให้ ยิ่งมีมาก


รู้อะไรไม่สู้ รู้จักพอ
(ยกเว้นความรู้ ไม่ต้องพอก็ได้ หาไว้มากๆแหละดี)
(แต่ก็อย่าให้มากจนท่วมหัว เอาตัวไม่รอด)
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #3  
Old 06 มิถุนายน 2011, 15:55
nongtum's Avatar
nongtum nongtum ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 10 เมษายน 2005
ข้อความ: 3,246
nongtum is on a distinguished road
Default

ขอร่วมอนุโมทนาบุญ และสุขสันต์วันคล้ายวันเกิดครับ แล้วจะรออ่านอีกสองส่วนที่เหลือนะครับ
__________________
คนไทยร่วมใจอย่าใช้ภาษาวิบัติ
ฝึกพิมพ์สัญลักษณ์สักนิด ชีวิต(คนตอบและคนถาม)จะง่ายขึ้นเยอะ (จริงๆนะ)

Stay Hungry. Stay Foolish.
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #4  
Old 06 มิถุนายน 2011, 19:33
-Math-Sci- -Math-Sci- ไม่อยู่ในระบบ
กระบี่ประสานใจ
 
วันที่สมัครสมาชิก: 30 มกราคม 2010
ข้อความ: 724
-Math-Sci- is on a distinguished road
Default

สาธุ..
สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดด้วยครับ พี่ passer-by
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #5  
Old 07 มิถุนายน 2011, 01:04
Hirokana's Avatar
Hirokana Hirokana ไม่อยู่ในระบบ
ลมปราณบริสุทธิ์
 
วันที่สมัครสมาชิก: 20 ธันวาคม 2009
ข้อความ: 97
Hirokana is on a distinguished road
Default

เป็นเรื่องราวที่ดีมากๆเลยครับที่นำมาเล่าสู่กันฟัง
__________________
พยายามเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #6  
Old 07 มิถุนายน 2011, 04:15
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

C.สบง อังสะ จีวร
สมัยเรียนพุทธศาสนาตอนมัธยม ผมก็ยังไม่รู้จัก สบง จีวร สังฆาฏิ อังสะ ผ้าอาบน้ำฝน แบบจริงจัง จะมา get ก็ตอนเป็นพระนี่แหละครับ

เวลาอยู่กุฏิ หรือเดินไปไหนมาไหนในวัด ช่วงไม่มีงานพิธี พระจะใส่แค่เสื้อ กับกางเกงครับ เสื้อของพระ คือ อังสะ ลักษณะคล้ายๆสายสะพายนางงาม คือพาดข้างเดียวแล้วเปิดนมข้างนึง แต่ที่นี่จะมีอังสะแบบติดกระดุมข้างด้วย ก็จะมิดชิดกว่านิดนึง ส่วนกางเกงพระ ก็คือ สบงครับ เป็นผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา แต่ต้องเอามาห่อช่วงล่าง ซึ่งจะมีเทคนิคการพับ สไตล์ใครสไตล์มัน แต่ต้องจบเหมือนกัน คือเป็นสี่เหลี่ยมนูนขึ้นมาตรงกลางปิดหว่างขาไว้ พอห่มเสร็จก็จะเอาประคดเอวมาคาดไว้ครับ จะได้ไม่หลุด โดยต้องมัดให้แน่นที่สุด ขอย้ำว่าแน่นที่สุด ซึ่งตอนแรกผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแน่น มาเข้าใจตอนใช้งานจริง เพราะเวลาเดินไปเดินมา มันจะคลายตัวของมันเองอัตโนมัติ ดังนั้นถ้าไม่แน่นพอ ก็หลุดต่อหน้าญาติโยมแน่ๆ แถมพระห้ามใส่กางเกงในด้วย เป็นวินัยสงฆ์ข้อนึงเลย

ลำพัง สบงกับอังสะ ไม่เท่าไหร่ครับ ที่ห่มยากสุด คือ จีวร ต้องเล่าก่อนว่า ที่นี่ พระจะห่มจีวร 3 แบบครับ ขึ้นกับกิจที่ต้องทำ : แบบแรกเรียกว่าห่มดอง จะเป็นแบบเต็มยศทั้งจีวรและผ้าพาดบ่า หรือที่เรียกว่า สังฆาฏิ เป็นการห่มแบบเดียวกับที่ห่มในงานบวชออกจากโบสถ์ และจะห่มแบบนี้ตอนลงทำวัตรเช้า กับตอนนิมนต์สวด เวลาญาติโยมมาเลี้ยงพระที่วัด หรือตอนลงอุโบสถเวลามีงานบวช

ผมเดาเอาว่า ที่เรียกว่าห่มดอง เพราะจะร้อนสุด แต่ห่มดองจะเรียบร้อยสุด และไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องผ้าหลุดด้วย ข้อเสียของห่มดองคือ ต้องเตรียมผ้าก่อนห่มครับ โดยจะต้องพับจีวรซึ่งผืนยาวมาก ให้คล้ายๆพัดยักษ์ที่ยังไม่ได้คลี่ครับ ถ้าพับกัน 2 คน ก็ต้องประสานงาน หัวผ้า ท้ายผ้าดีๆ เพื่อให้ผ้าไม่แลบตรงกลางตอนสะบัดให้เรียบ ถ้าจำเป็นต้องพับคนเดียว คนตัวสูงจะได้เปรียบ เพราะจะจัดผ้าง่ายกว่า เนื่องจากจีวรจะยาว แต่ไม่ว่าจะเตี้ยหรือสูง เราจะมีตัวช่วยอย่างนึงคือ ไม้หนีบอันใหญ่ๆ โดยเราจะพับหัวผ้าให้เสร็จก่อน จากนั้นจับพาดราวในกุฏิ แล้วก็เอาไม้หนีบ หนีบ 2 ข้างตรงหัวผ้า จากนั้นค่อยๆจัดผ้าลงมาให้เรียบจนถึงปลายผ้า เพราะฉะนั้น พระใหม่ทุกรูป เวลารู้ว่าต้องห่มดองตอนไหน จะต้องพับผ้ารอไว้เลยตั้งแต่กลางคืน เพราะพับว่าเหนื่อยแล้ว ตอนห่มยิ่งกว่าครับ

ผมสารภาพว่า ตลอดช่วงที่บวช ผมต้องให้พระห้องใกล้ๆมาช่วยห่มดองตลอด เพราะตอนห่มมันต้องเป๊ะทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ก็จะมีบางวันที่พระห้องใกล้ๆไม่อยู่ ก็ต้องพึ่งกระจกในห้องน้ำ ซึ่งก็ห่มออกมาได้ แต่ก็จะเยินๆนิดนึง

การห่ม จะเริ่มจากการเอาพัดยักษ์ มาคลี่ตรงกลางออกให้ยาวสุดแขนขวา ระยะเหมาะสมแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์ล้วนๆครับ การห่มเดี่ยวจะทุลักทุเลมากสำหรับผม แต่พอห่มคู่ จะง่ายมาก เพราะ พระรูปนึงจะเอาปลายผ้าที่ดึงออกมาทาบไหล่ซ้าย จากนั้น เราจะหมุนตัว 360 องศาให้ผ้าที่เหลือห่อเราพอดี ผลก็จะออกมาสวยงามครับ จากนั้นก็เอาสังฆาฎิพาด แล้วจัดผ้าด้านหลังให้เรียบร้อย ตามด้วยเอาผ้าคาดอก คาดให้แน่นสุดเหมือนเดิม ก็เป็นอันเสร็จการห่มดองครับ

การห่มให้ดี ปลายจีวรจะต้องปิดปลายสบง ห้ามให้สบงแลบออกมาเวลาเดินครับ

อีกสิ่งนึงที่ผมต้องทำสำหรับจีวรห่มดอง คือ ต้อง mark ตัวอักษรไว้ เพื่อจะได้ดูว่าเราดึงผ้าตรงกลางถูกด้านหรือไม่ และจีวรห่มดอง จะไม่นำมาห่มอย่างอื่นถ้าไม่จำเป็น เพื่อให้รอยพับมันอยู่ตัวและควรจะซักอย่างน้อย 1 ครั้งหลังใช้แล้ว เพื่อให้ผ้านิ่มและพับง่ายขึ้น

สาเหตุที่การทำวัตรเช้า ต้องห่มเต็มยศอย่างห่มดองเพราะ มีวินัยสงฆ์ ระบุไว้ว่า ต้องรักษาชุดครองหรือชุดที่แต่งออกมาจากโบสถ์วันอุปสมบทครับ คำว่ารักษาชุดครอง คือการที่ให้สบง จีวร สังฆาฏิ ผืนที่ออกจากโบสถ์ รับแสงอรุณตอนเช้า ถ้าหยิบผิดผืนหรือไม่ได้ใส่มารับอรุณ ถือเป็นอาบัติแบบหนึ่ง

แสงอรุณที่นี่ ขึ้นเร็วมากครับ คือประมาณทำวัตรเสร็จ 5 นาทีหรือ 5:35 ก็ถอดชุดครองออกแล้วเปลี่ยนเป็นห่มอีกแบบเพื่อบิณฑบาตได้แล้ว

การบิณฑบาต จะใช้การห่มแบบที่สองคือ ห่มคลุม นอกจากจะห่มเพื่อบิณฑบาตแล้ว เวลาญาติโยม มานิมนต์ฉันเพลที่บ้าน ก็ต้องห่มคลุมครับ การห่มแบบนี้จะง่ายกว่าห่มดอง เพราะไม่ต้องเตรียมผ้า พอใส่อังสะ กับสบงเสร็จก็คว้าจีวรมาห่อตัวแล้วม้วนๆผ้าจนถึงระยะเหมาะสม ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน จากนั้นจะชูปลายที่ม้วนสุดแขนซ้าย แต่ห้ามเกร็งและงอแขน แล้วม้วนช่วงกลางผ้าด้วยมือขวาจากข้างในผ้า โดยทำในลักษณะบิดแล้วดึงให้จีวรพ้นพื้น มาอยู่ที่ครึ่งน่อง การห่มแบบนี้ ห่มง่ายแต่ใช้แรงข้อมือเยอะครับ จากนั้นก็หักศอกซ้ายลงมา เอามือขวาโผล่ออกมาจากด้านล่างผ้า มาจับผ้าที่ม้วนไว้ เอาแขนซ้ายแนบตัว แล้วเอามือขวายกผ้าพาดไหล่ และคลายเกลียวผ้าออกให้ห่อแขนซ้ายไว้ แต่ไม่ต้องคลายหมด ขั้นตอนนี้ ผ้ามันจะรัดคอนิดนึงครับ จากนั้น ก็เอารักแร้หนีบเกลียวผ้าที่เหลือให้แน่น ถ้าไม่แน่น จะหลุดง่าย ต้องคอยเดินไปจัดผ้าไป ดูไม่สำรวม

ห่มแบบสุดท้าย เรียกว่า ห่มเฉียงครับ จะใช้บ่อยสุด อย่างของผมก็ห่มเฉียงเป็นก่อนห่มแบบอื่นเลยครับ เพราะง่ายสุด ขั้นตอนคล้ายห่มคลุม แต่ตอนม้วนกลางผ้าด้วยมือขวา ให้ม้วนนอกผ้าแทน การห่มเฉียงจะใช้ตอนทำวัตรเย็น ตอนฉันเช้าที่กลับจากบิณฑบาต แล้วก็ ฉันเพลครับ หรือเวลามีโยมพ่อ โยมแม่มาเยี่ยมก็จะห่มเฉียงออกมาจากห้องครับ

แต่กิจกรรมพวกกวาดลานวัด หรือล้างจาน ก็ไม่ต้องห่มจีวรครับ แค่ใส่อังสะกับสบงก็พอ และผ้าทุกผืนที่เรามี รวมไปถึงผ้ากราบที่ใช้รับประเคน จะต้องพินทุผ้า 3 จุด เป็นเครื่องหมายเพราะฉะนั้น และสวดอธิษฐานผ้าสั้นๆเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ อันนี้เป็นกิจที่ต้องทำตอนบวชใหม่ๆเลย โดยที่มาของการพินทุผ้า มาจากสมัยพุทธกาล ที่มีการหยิบผ้าสลับกัน ก็เลยต้องมีการ mark เครื่องหมายไว้

เรื่องห่มจีวร จะเป็นปัญหากับผมช่วงแรกๆที่บวช มากครับ เพราะตั้งแต่ ตื่นนอนถึงฉันเช้าเสร็จ จะต้องห่มทั้ง 3 แบบเลย คือ พอตื่นนอน จะทำวัตรเช้า ก็ห่มดอง ทำวัตรเช้าเสร็จ รับอรุณเสร็จ เปลี่ยนเป็นห่มคลุมไปบิณฑบาต พอบิณฑบาตเสร็จกลับมาฉันเช้า เปลี่ยนเป็นห่มเฉียง

ก็ยังดีครับที่ ประมาณวันที่สองที่บวช มีพระใหม่มานอนกุฏิเดียวกับผมอีก 2 รูปซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเด็ก 2 คน ม.กรุงเทพ ที่เล่าให้ฟังใน part A ครับ จากนั้นเรื่องเทคนิคการพับ การห่มต่างๆ ก็ค่อยๆเรียนรู้ไปตอนระหว่างบวช

ผ้าอาบน้ำฝน ปกติใช้ตอนเข้าพรรษาแต่ผมได้ใช้ตอนวันโกนด้วยครับ คือ ที่นี่ พระจะโกนหัวทุกเดือน เมื่อเป็นวันพระใหญ่ อย่างเดือน พ.ค. วันพระใหญ่คือ วันวิสาขบูชา ก่อนวันนั้น 1 วัน พระที่ยังไม่ได้รีบสึก ก็จะโกนหัวกันทุกรูปครับ ช่วงที่โกน ท่อนบนก็จะถอด ท่อนล่างก็จะคาดผ้าอาบน้ำฝนไว้ เสมือนคาดผ้าขาวม้า แล้วก็จะมีพระที่บวชมาหลายพรรษาเป็นคนโกนให้ครับ

D. บิณฑบาต (จัดเต็ม)
ผมไปบิณฑบาต มา 2 versions ครับ ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กวัดกับตอนเป็นพระ ก็จะไปกับพระอีกรูป ที่บวชมา 2 พรรษา สิ่งหนึ่งที่ผมกับท่านมีเหมือนกัน คือ เดินเร็ว ก็เลยไปกันได้

ตอนเป็นเด็กวัด ก็แค่ถือย่าม แล้วก็คิดเอาเองว่า ตอนบวชแล้วก็คงจะอารมณ์ประมาณนี้ พอบวชแล้ว ก็เป็นไปตามคาดครับ แต่ต้องดูแลบาตรให้ดีๆ อย่าไปทำร่วงหล่นกลางทาง ความวิบากของเส้นทางที่ผมเดิน มันจะมี 2 ช่วงครับ คือ ช่วงที่เป็นบ่อปูนสี่เหลี่ยมตั้งอยู่กลางทาง ต้องเดินตามขอบปูนสี่เหลี่ยม ถ้าร่วงก็ตกบ่อ กับช่วงที่เป็นไม้กระดาน2ท่อนข้ามคู (ดีที่มีราวข้าง ไม่งั้นขาสั่น ไปไม่เป็นแน่) เป็น 2 ช่วงที่ใช้สติในการเดินสูงมากสำหรับพระใหม่

ความวิบากแค่นี้ในวันแดดออก เป็นเรื่องไม่สาหัสเท่าไหร่ จนกระทั่งเช้าวันที่ 19 พ.ค. ที่ฝนตกตอนกลางคืน และพอผ่านช่วงถนนปกติ เข้าสู่ช่วงทุ่งหญ้า บ่อปลา ก็ต้องถอดรองเท้าเดินตั้งแต่ตรงนั้น สิ่งแรกที่เจอ คือ โคลนครับ ก็เดินไปช่วงนึง ไม่ต่างอะไรกับใส่รองเท้าโคลน ช่วงนั้นเห็นหญ้ากับแอ่งน้ำเหมือนขึ้นสวรรค์ เพราะ จะได้เดินผ่าน ให้โคลนมันหลุดจากเท้าบ้าง ตรงโคลน นี่ยังไม่เท่าไหร่ครับ อย่างมากแค่ลื่น แต่ช่วงที่ผ่านทางปกติ ที่มีกรวด จะมันส์มาก เรียกได้ว่า เหยียบแล้ว ความรู้สึกจากปลายเท้า ส่งไปถึงเส้นประสาทส่วนบนสุดของร่างกายเลยก็ว่าได้ ดีที่ผมไม่มีเลือดตกยางออกในช่วงที่บิณฑบาต

วันฝนตกไม่ได้มีวันเดียวครับ วันที่ extreme ที่สุดในการบิณฑบาต คือวันที่เด็กวัดที่จะไปบิณฑบาตสายเดียวกับผม คิดว่าวันนี้งดบิณฑบาตเพราะฝนตกหนัก คือต้องบอกก่อนว่า สายที่ผมไป ข้าวก็เยอะ กับข้าวก็เยอะครับ ต้องมีเด็กวัดขี่จักรยานตามไปตลอด มาช่วยถือกับข้าว

เพราะฉะนั้น กับข้าวทั้งหมดของวันนั้น มาอยู่ที่ย่ามผมคนเดียว ในวันที่ ต้องถอดรองเท้า บิณฑบาต เหยียบโคลน เหยียบกรวด จำได้ว่า ผ่านวันนั้นไป ยังคิดในใจเลยว่า อะไรที่หนักกว่านี้ก็ไม่กลัวแล้ว

สิ่งที่ผมมารู้ตอนหลัง คือ สายผมเป็นสายเดียวในบรรดาพระใหม่ทั้งหมดที่ถอดรองเท้า อาจจะไม่ไกลที่สุด แต่วิบากที่สุด ก็คิดซะว่า ฝึกขันติบารมีกันไป

สายของผมจะบิณฑบาต กลับมาถึงวัดเร็วเป็นอันดับสอง เกือบทุกวัน เพราะอาศัยเดินเร็วเป็นหลัก กลับมาทุกครั้งก็จะเหมือนไปอาบน้ำมาเลยครับ เพราะจีวรจะโชกไปด้วยเหงื่อ พอมาถึงที่โรงครัว ก็จะถอดจีวรออก ล้างบาตรและเตรียมจาน เตรียมข้าว เตรียมกับข้าว ไว้ให้พระฉัน งานนี้ก็จะช่วยกันทุกรูปครับ ใครมาก่อนก็มาทำก่อน ตอนฉันก็จะเปลี่ยนเป็นห่มเฉียง และก่อนฉันเช้า จะสวดยะถา วาริวะหา.... ซึ่งเป็นบทอนุโมทนาให้กับผู้ที่ใส่บาตรให้พระ (สาระเกี่ยวกับยะถา จะเล่าให้ฟังใน part ท้ายๆครับ) จากนั้นผมก็จะอธิษฐานในใจ ประมาณว่า กับข้าวมื้อนี้ ข้าพเจ้าจะฉันแค่ให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นไปเพื่อบำรุงกิเลส (บทนี้ ผมได้มาจากช่วงระหว่างบวช ที่ไปวิปัสสนา ที่โคราช เขาอธิษฐานกันก่อนกินข้าวครับ ก็เลยเอามาใช้ที่วัดด้วย สำหรับเรื่องวิปัสสนา ที่โคราช จะอยู่ใน part ต่อๆไปครับ)

พอฉันเสร็จ พระที่พรรษาน้อยๆ ก็จะช่วยกันล้างจานครับ เป็นอันเสร็จกิจตอนเช้า
------------------------------------------------------------------------------------------
Note : น่าจะถึง part J หรือ K นี่แหละครับ เพราะบอกตรงๆว่า บวชครั้งนี้ ทำกิจของสงฆ์มาครบเกือบทุกอย่าง ยกเว้นสวดศพอย่างเดียว
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว

07 มิถุนายน 2011 04:18 : ข้อความนี้ถูกแก้ไขแล้ว 1 ครั้ง, ครั้งล่าสุดโดยคุณ passer-by
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #7  
Old 07 มิถุนายน 2011, 17:52
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

E. วิปัสสนา ที่โคราช
ปกติ ที่วัดจะมีโปรแกรมส่งพระใหม่ไปวิปัสสนาตามที่ต่างๆอยู่แล้ว บางทีก็ที่อาคารวิปัสสนาในวัด หรือบางทีก็ต่างจังหวัด วิปัสสนาที่นี่และสาขาตามจังหวัดอื่น เป็นส่วนหนึ่งของ วิธีปฏิบัติแบบ ดร. สิริ กรินชัย ซึ่งปัจจุบันอายุ 90 กว่าๆแล้วครับ ตอนนี้เห็นว่านอนป่วยที่โรงพยาบาล

วิปัสสนาที่ผมไป อยู่ที่ปากช่อง โคราชครับ ก็เป็นสาขาของ ดร.สิริ เหมือนกัน เราเดินทางกันบ่ายวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม ห่มดองและนั่งรถตู้ที่วัดขึ้นไป โดยมีพระที่เป็น head องค์นึงนำไป และพระใหม่อีก 4 รูป (รวมทั้งผมด้วย) โดย 1 ใน 4 เพิ่งบวชสดๆร้อนๆ เช้าวันที่ 7 เลยครับ

คอร์สนี้ กินเวลา 7 คืน 8 วันครับ (7-14 /5/2011) โดยวิทยากรทุกคน เป็นฆราวาสทั้งหมด สถานที่ปฏิบัติ จะเป็นตึกแถวสูงๆครับ ไม่ใหญ่มาก โดยเราจะปฏิบัติกันชั้นล่าง เป็นโถงกว้างๆแบบ open air กับคฤหัสถ์อีก 40 กว่าชีวิต พระทั้งหมดที่ไป จะอยู่ zone หน้าสุดของห้อง และห้องนอนพระ จะอยู่ชั้นบนสุดของอาคาร โดยนอนรวมในห้องเดียว

กิจกรรมหลักๆของคอร์สนี้ คือ การเดินจงกรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ และฟังธรรมะบรรยาย ส่วนคฤหัสถ์ก็จะได้ทำเยอะกว่าพระหน่อย ตรงที่จะมีกิจกรรม ดนตรีผสมธรรมะบำบัด โดยหมอท่านนึง แล้วก็ กิจกรรม แสดงกตัญญูต่อบุพการี ใน case ที่มาเป็นครอบครัว ส่วนพระก็จะแค่นั่งดูเฉยๆในช่วงนี้

การเดินจงกรม จะมีเฉลี่ยวันละ 4 รอบ คือ รอบ ตี 5 กว่าๆ , รอบ 9 โมง , รอบ บ่ายโมงครึ่ง , รอบ 6 โมงเย็น การเดิน 1 ครั้งรวมกับนั่งสมาธิจะกินเวลา 40-60 นาทีโดยเฉลี่ย การเดินมี 2 แบบ คือ เดินจงกรมแบบธรรมชาติ กับเดินจงกรมแบบพิธีการ ถ้าแบบธรรมชาติ จะเดินเป็นปกติ ช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่สติต้องจดจ่ออยู่กับการก้าว เขาจะให้เดินแบบธรรมชาติสลับกับแบบพิธีการในบางครั้ง เพื่อกันง่วงครับ

ส่วนเดินแบบพิธีการ จะเป็น slow walk มากๆครับ ถ้าสาย ดร.สิริ จะมีเดิน 7 ระยะครับ ซึ่งจริงๆ ทุกระยะ เดินเหมือนกัน แต่ภาวนาละเอียดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ระยะที่ 1 จะเป็นแค่ ยก(เท้า)หนอ ย่าง(เท้า)หนอ พอระยะเริ่มมากขึ้น ก็จะประมาณว่า ยกหนอ ย่างหนอ วางหนอ(ฝ่าเท้าแตะพื้น) พอเพิ่มระยะขึ้นอีก ก็จะเป็น ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ(กำลังจะวางฝ่าเท้าลงพื้น แต่ค้างไว้กลางอากาศ) ถูกหนอ (ปลายเท้าแตะพื้น)

การเดินจะเดินไปๆกลับๆ ประมาณว่า เดินหน้า 5 ก้าว เดินกลับ 5 ก้าว ด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่ พอต้องเดินกลับ ก็จะไม่กลับหลังหัน นะครับ จะมีการกลับ 8 steps โดยต้องขวาหัน ทีละ 22.5 องศา โดยภาวนา กลับหนอ กลับหนอ 8 ครั้งครับ เวลากลับก็กะเอาเองให้ครบ 8 ครั้งครับ

เจตนาจริงๆของการเดินจงกรม หรือเดินสมาธิ ก็คือให้มีสติ รู้เท่าทันปัจจุบันครับ ซึ่งเป็น theme ของการวิปัสสนาทุกที่ เพราะปกติ เวลาเราเดินไปไหนมาไหน เรามักคิดนั่น คิดนี่ ไม่ได้สนใจปัจจุบันที่กำลังเดินเท่าไหร่ คำว่ามีสติรู้เท่าทันปัจจุบัน สำคัญมากครับ โดยเฉพาะคำว่าปัจจุบัน ในการเดินจงกรม มีสติอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้เท่าทันปัจจุบันด้วย ไม่ใช่ว่าปากบริกรรม ย่าง(เท้า)หนอ แต่ขายังไม่ก้าว

ผมเชื่อว่า ใครที่ได้เดินจงกรม จะชอบเดินจงกรม มากกว่านั่งสมาธิครับ เพราะนั่งสมาธิ จิตจะฟุ้งซ่านง่ายกว่า โอกาสหลับง่ายกว่า แต่การเดิน ถึงจิตจะวอกแวกแค่ไหน ก็ยังมีหลักยึดไว้ คือ การก้าวเท้า เพียงแต่ว่า ในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นต้องเดินช้าขนาดนั้น เพียงแต่ให้มีสติรู้ว่า ขณะนั้นกำลังทำอะไร ก็เป็นกุศลแล้ว พระอุปถัมภ์ที่ผมเล่าไปตอนแรก บอกผมว่า ?ระหว่างที่เดิน ถ้าจิตเผลอไปคิดนั่น คิดนี่ ก็ให้รู้ว่า จิตกำลังเผลอ แบบนี้ก็ถือเป็นกุศล เพราะยังรู้ว่าปัจจุบัน จิตเกิดอะไรขึ้นตามจริง โดยธรรมดาของจิต มันจะเผลอเป็นปกติอยู่แล้ว จำไว้ว่า ธรรมะที่ดีต้องเป็นธรรมชาติมากที่สุด ถ้ามันเผลอ ก็เฝ้าดูว่ามันเผลอ และอย่าไปเพ่ง พอเราปฏิบัติบ่อยขึ้น จากเผลอ 50 รอบ ก็จะลดลงๆเอง เพราะสติ จะคอยกำกับไว้?

ผมได้ถามวิทยากรว่า สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ที่เคยเรียนมาสมัยมัธยม มันต่างกันอย่างไร และที่นี่เป็นแบบไหน คำตอบคือ สมถกรรมฐาน เป็นการเพ่งให้จิตยึดอยู่ในอารมณ์เดียว เช่น การบริกรรม พุทโธ หรือการเพ่งกสิณ ซึ่งจะเน้นสมาธิ แต่ไม่ได้เน้นให้เกิดปัญญา ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน คือ การที่จิตรู้ถึงอายตนะภายนอกที่มากระทบ ขณะปฏิบัติ เช่น สมมติ นั่งสมาธิอยู่แล้ว ได้ยินเสียงนาฬิกาดังตอนครบชั่วโมง ก็ให้ รับรู้ว่าได้ยินหนอ แล้วตัดไป หรือถ้าปฏิบัติแล้วเกิดปีติ ก็ให้รับรู้ว่าปีติ แล้วตัดไป หรือที่ผมยกตัวอย่างเรื่องเผลอหนอ ก็เหมือนกันครับ

เรียกว่า จะสุขหรือจะทุกข์ ต้องไม่ยึดไว้ เพียงแต่คนทั่วไปจะกำหนดรู้ไม่ทัน เช่น สมมติฟังเพลง 1 เพลง เราจะข้ามขั้นได้ยินหนอ กลายเป็น โดนหนอ ชอบหนอ ไม่ชอบหนอ คือปรุงแต่งขึ้นมาทันที ดังนั้นเราต้องเจริญสติบ่อยๆครับ เพื่อจะปูทางไปสู่ปัญญา และวิทยากรบอกอีกว่า โดยทั่วไปสถานวิปัสสนาทุกที่ จะผสมทั้ง สมถภาวนาและวิปัสสนา ไว้ด้วยกันอยู่แล้ว

ที่ที่ผมไปวิปัสสนา จะให้กินข้าวกล้องทุกมื้อครับ และตอน 14:30 จะมีสารพัดน้ำสมุนไพรมาเสริ์ฟ เช่น น้ำตะไคร้ น้ำชามะละกอ น้ำใบย่านาง น้ำคลอโรฟิลล์ น้ำกระชาย (อันนี้ extreme สุดครับ เพราะรสชาติเหมือนเอาหญ้ามาปั่นมาก แต่ผมก็กินไปเกินครึ่งแก้วนะ ถือซะว่าเป็นการ Detox)

เวลากินข้าวที่นั่น เขาจะฝึกสติไปด้วยครับ เช่น พอตักข้าว ก็รู้ว่าตัก กำลังยกช้อน ก็รู้ว่ายกช้อน เข้าปาก ก็รู้ว่าเข้าปาก กำลังเคี้ยว ก็รู้ว่าเคี้ยว ซึ่งเราจะรู้สึกได้ถึงฟันบน ฟันล่างที่กำลังขบอาหารอยู่ และที่สำคัญคือการงดพูด

ข้อดีของการกินช้าๆ คือ จะอิ่มเร็วครับ เพราะเวลากินช้าๆ จะมีอะไรถ่วงกระเพาะเยอะ และกระเพาะก็จะทำงานไม่หนักมากเพราะเคี้ยวละเอียด ใครที่กำลัง diet ลองเอาไปใช้ดูได้ครับ

แต่ก็อย่างที่บอกครับ ในชีวิตประจำวัน หลังจากออกจากคอร์สวิปัสสนาไปแล้ว ก็ไม่ต้อง slow motion เท่ากับตอนปฏิบัติก็ได้ เพียงแต่ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ก็พอแล้ว

ผมเชื่อว่า ทั้งพระใหม่หรือคฤหัสถ์ที่ไปวิปัสสนาหลายวันแบบนี้ จะรู้สึกคล้ายๆกันใน 2 วันแรก คือเกิดคำถามในใจมากมายและรู้สึกอยากกลับบ้าน ช่วงทดสอบจิตนี่เป็นกันเกือบทุกคน รวมทั้งผมด้วย เพราะในชีวิตจริง เราไม่ได้ทำอะไร slow motion ขนาดนี้ แถมยิ่งทำแรกๆ จิตก็จะวิ่งวุ่นไปหมด ทั้งยังมีนิวรณ์ 5 เช่น ถีนมิทธะ (ง่วงเหงาหาวนอน) หรืออุทธัจจะกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน) มาทดสอบเราตลอดเวลา

พอวันที่สาม จะมีการ ?สอบอารมณ์?ครับ โดยจะแบ่งกลุ่มผู้ที่มาปฏิบัติทั้งหมด เป็นกลุ่มย่อย แล้วก็จะมีวิทยากรกระจายไปตามกลุ่มต่างๆ การสอบอารมณ์ ฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ คือการให้ผู้ปฏิบัติทุกคนเล่าความรู้สึกขณะปฏิบัติในวันก่อนหน้าให้วิทยากรฟัง ใครมีปัญหาสงสัย ก็ถามวิทยากรได้ แล้ววิทยากรก็จะคอยปรับแก้วิธีปฏิบัติให้เรา การสอบอารมณ์มี 2 ครั้งครับ คือวันที่ 3 กับ 6 เพื่อดูพัฒนาการของการปฏิบัติด้วย

ตอนที่ผมปฏิบัติ ผมจะทำได้ดีที่สุด ช่วงบ่ายๆครับ อาจจะเป็นเพราะ เช้า กำลังตื่นนอน เย็น แบตเตอรี่กาย-ใจ หมดก็ได้มั้งครับ

หลังจากที่สอบอารมณ์ครั้งแรก ความรู้สึกวุ่นวาย ใน 2 วันแรกก็ยังมีอยู่ แต่หายไป 60-70 % ครับ

รอบที่คฤหัสถ์จะลงจากห้องพักมาปฏิบัติมากสุด จะเป็นช่วงบ่าย เพราะจะมีวิทยากรท่านนึงมา เล่าประสบการณ์สุด extreme ให้ฟังเป็นธรรมทานกึ่ง Talk Show ครับ วิทยากรท่านนี้ เป็นผู้หญิงวัย 40 กว่าๆ ชื่อ อ.นงลักษณ์ ซึ่งอดีตเป็นคริสเตียน ที่ไม่ยอมคนและอารมณ์ร้อนมาก ต่อหลังจากมาปฏิบัติวิปัสสนาได้หลายสิบปี ชีวิตก็เปลี่ยนไป สถานะปัจจุบันคือแต่งงานกับนายตำรวจใหญ่ และมีบุตร แล้ว และเป็นตัวอย่างครอบครัวไม่กี่ครอบครัว ที่คนเชียร์เสื้อแดง เสื้อเหลือง อยู่รวมกันในบ้านเดียวกันได้ (แต่วิทยากร ก็ไม่ได้เล่านะครับ ว่าตัวท่านเอง เสื้อสีอะไร)

มีคำพูดนึงของ อ.นงลักษณ์ ที่ย้ำบ่อยๆ ว่า ?วันสุดท้าย ที่ทุกท่านเดินออกจากสถานวิปัสสนา จะมีขบวนกิเลสแห่กลองยาวมารับเราถึงปากประตูทีเดียว นั่นหมายถึงชีวิตจริงและการสอบปฏิบัติครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น? ที่ท่านพูดเป็นเรื่องจริงอย่างที่สุด เพราะที่มาวิปัสสนากัน 7 คืน 8 วัน เสมือนเป็นการเรียนทฤษฎีกึ่ง workshop เท่านั้น หลังจากนี้คือ ชีวิตจริง คือของจริง

อีกประเด็นที่ อ.นงลักษณ์ เล่าและผมจำแม่นมาก คือ วัตถุชิ้นนึงที่แขวนไว้หน้าห้องวิปัสสนาเป็นปริศนาธรรม ลักษณะเป็นตาชั่ง ด้านหนึ่งมีหัวมันเทศ อีกด้านถ้าจำไม่ผิด จะเป็นเขาสัตว์ ปริศนาธรรมนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่คนบนโลกจะต้องเจอซึ่งมี 2 แบบ คือแบบที่แก้ได้ กับแบบที่แก้ไม่ได้ แบบที่แก้ไม่ได้ เช่น ปัญหาระหว่างบุคคล บางทีเราจบ เขาไม่จบ หรืออย่างปัญหาการเมือง การศึกษา etc.

ตาชั่งอันนี้ ก็เหมือนเป็นการบอกว่า ถ้าเราทำอะไรไม่ได้ดีกว่านี้แล้ว ก็ให้ช่างมัน ช่างเขา (ชั่งมัน ชั่งเขา) หรือพูดง่ายๆว่า ต้องรู้จักปล่อยวาง

แต่ที่ผมชอบที่สุดในคอร์สนี้ คือธรรมะบรรยายของ อ.วรากร ไรวา เรื่อง สังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด ครับ ซึ่ง พระอุปถัมภ์ เคยให้ผมดูและฟังบางส่วนจาก You Tube ก่อนมาวิปัสสนา

อาจารย์พูดเรื่องนี้ไว้เคลียร์มาก และมีอุปกรณ์ประกอบ เป็น chart ง่ายๆ แล้วก็ลูกเทนนิส 1 ลูก รายละเอียด ติดตามใน part F ครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------
Note : ผมจะจบที่หัวข้อ J นะครับ โดยหัวข้อหน้าจะยาวหน่อยและที่เหลือจะสั้นๆแล้ว นานๆจะให้ธรรมทานซักที เลยขอจัดเต็มนิดนึงนะครับ
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #8  
Old 07 มิถุนายน 2011, 22:02
yellow's Avatar
yellow yellow ไม่อยู่ในระบบ
ลมปราณไร้สภาพ
 
วันที่สมัครสมาชิก: 20 ธันวาคม 2010
ข้อความ: 1,230
yellow is on a distinguished road
Default

ขอบคุณสำหรับข้อเขียนดีๆ นี้ครับ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #9  
Old 08 มิถุนายน 2011, 22:20
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

F. สังสารวัฏและนานาสาระช่วงบวช

ต่อจากที่ผมทิ้งท้ายไว้ ถ้าใครจะดูบน You Tube ก็ลอง search ใน google ว่า ?อรหันต์พลิกฝ่ามือ วรากร ไรวา? ก็จะเจอครับ แต่เขาจะตัดเป็น 11-12 ตอน ตอนละ 9 นาที

ใครที่ได้ดูจนจบ จะพบว่า จริงๆแล้วเราเลือกเกิดได้ (เพียงแต่ชาตินี้อาจเลือกไม่ทันซะแล้ว) ว่าจะเกิดภพภูมิใดในสังสารวัฏ โดย จิตของเราเป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ไปในสังสารวัฏ ผ่านการเปลี่ยนรูปกายภายนอกไปตามภพชาติต่างๆ

สังสารวัฏ 31 ภพภูมิ ไล่จากบนสุด คือ ชั้น อรูปพรหมและ ชั้นพรหม (จำไม่ได้ว่ากี่ชั้น) รองลงมาคือ เทวดา หรือสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น นั่นเอง รองลงมาคือ ภพมนุษย์ ตามมาด้วย ภพเดรัจฉาน ซึ่งก็อยู่ร่วมโลกเดียวกับเรา ต่ำกว่านั้น ก็จะเป็น ภพเปรต ภพอสูรกาย ภพสัตว์นรก ซึ่งต่ำที่สุด

อาจารย์ เทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่า ถ้าปฏิบัติ สิ่งที่เป็นกุศล 1 ครั้ง ก็เท่ากับเราไปจองทำเลสร้างบ้านในภพมนุษย์หรือภพที่สูงกว่าไว้ พอทำมากขึ้น ก็เหมือนไปลงเสาเอก ทำมากขึ้นก็เหมือนเริ่มตกแต่งภายใน วันไหน ทำอกุศล ก็เหมือนไปจองทำเลสร้างบ้านในภพเดรัจฉานหรือภพที่ต่ำกว่า ถ้าทำอยู่ zone ไหนมาก บ้านที่ภพภูมินั้นก็จะเสร็จเร็วขึ้น เมื่อเราตายไป ชาติหน้าจิตก็จะไปเกิดในภพที่เราปลูกบ้านเสร็จก่อน

ถ้าชาติหน้า อยากกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ต้องรักษาศีลให้ถึงพร้อม อาจารย์เล่าว่า หมาในบ้านเศรษฐี สื่อถึงการที่ชาติก่อน ทำทานเยอะ แต่ไม่เคยรักษาศีลเลย หรือมนุษย์บางคนที่ถือศีลใช้ได้ แต่อาจจะบกพร่องบางข้อ เช่น ชอบดื่มสุรา ก็จะมาเกิดเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญาไม่ดี หรือ เป็นคนฟุ้งซ่านง่าย เป็นต้น

ในบรรดากุศล ทั้งหมด ทานให้เนื้อนาบุญ น้อยกว่าศีล ศีลให้เนื้อนาบุญน้อยกว่าภาวนา ในบรรดาทานด้วยกัน การให้ธรรมะเป็นทานเหนือกว่าทานทั้งปวงครับ

ย้อนกลับไปเรื่อง การปฏิบัติกุศล-อกุศลใน 2 ย่อหน้าก่อนครับ เรามองว่า การสร้างกุศลหรือ อกุศล ก็คือการที่จิตมี reaction กับกิเลส มาก น้อยแค่ไหน อาจารย์เทียบให้เห็นว่า ถ้าฝ่ามือของเรา คือ จิต และนิ้วทั้ง 5 คือ สิ่งที่จิต ยึดไว้ เรียกว่า ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

พูดกันง่ายๆ ขันธ์ 5 คือตัวที่หล่อหลอม ความเป็นตัวกู ของกู หรือ อัตตา ของคนนั่นเองครับ เวลามีใครมาทำให้เราไม่พอใจ หรือในทางตรงข้าม มีคนมายกยอปอปั้นเรา ขันธ์ 5 จะทำงานแบบอัตโนมัติทันที ถ้าได้มีโอกาสทำสมาธิ วิปัสสนา สติ และปัญญาจะเข้าไปช่วยละหรือเป็น ScottBrite ไปขัดเอาขันธ์แต่ละส่วนออกไปจากจิตได้ ถึงแม้ไม่ใช่สิ่งที่ละได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ทำก็ดีกว่าไม่ทำ

สมมติว่ากิเลส(โลภะ โทสะ โมหะ etc.) คือลูกเทนนิส 1 ลูก ,มือที่แบและคว่ำคือจิตที่ยึดในขันธ์ 5 เมื่อลูกเทนนิสตกกระทบหลังมือ มือจะเคลื่อนลง แต่มากหรือน้อย ขึ้นกับภูมิต้านทานของจิตที่มีต่อกิเลส ถ้าเคลื่อนมาก ก็คือตอบสนองมาก เราก็จะเข้าใกล้ภพภูมิที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ ถ้าเคลื่อนน้อย สื่อถึงความสามารถในการควบคุมกิเลสได้ดี

ในโลกความจริง กิเลสไม่ได้มาแค่ลูกเทนนิส 1 ลูก อาจจะมาทีละหลายลูก ประดังเข้ามา ก็เป็นได้ และไม่ว่าจะเป็นภพภูมิใดในสังสารวัฏ ต่างก็ยังตอบสนองกับกิเลสทั้งนั้น เพียงแต่มากหรือน้อยต่างกัน

เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นบุคคลแรก ที่เบื่อกับการท่องเที่ยวในสังสารวัฏนี้ และค้นหาวิธีดับกิเลส จนสุดท้ายตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราอาจเข้าใจว่า การบรรลุอรหันต์ น่าจะบรรลุจากภพภูมิที่สูง จะง่ายกว่า แต่ในความเป็นจริง ภพสุดท้ายก่อนที่คนๆหนึ่งจะบรรลุอรหันต์ จะมาละกิเลสที่ภพมนุษย์ครับ สาเหตุเพราะว่า สวรรค์มีแต่สุข ไม่มีทุกข์ นรกมีแต่ทุกข์ ไม่มีสุข มนุษย์เป็นภพเดียว ที่รู้จักทั้งสุขและทุกข์

รายละเอียดเต็มๆแบบมีสื่อประกอบ ลองไปหาฟังจากเจ้าตัวใน you tube ได้ครับ

นอกจากความรู้เกี่ยวกับ สังสารวัฏ ที่ได้จากการบวชครั้งนี้ ก็ยังมีเรื่องเล็กๆน้อยๆ หลายเรื่อง ที่ถ้าไม่มาบวช ก็คงไม่รู้ เอาเท่าที่ผมพอจะจำได้นะครับ เช่น

(i) บทสวด อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ และบางทีก็เป็น พุทธัง อภิปูชะยามะ คำว่า มิ กับ มะ ในภาษาบาลี มีนัยเหมือน singular และ plural ในภาษาอังกฤษ ครับ ถ้าเป็นมิ หมายถึงสงฆ์องค์เดียว มะ คือหมู่สงฆ์

(ii) เม ในภาษาบาลี แปลว่า ฉันหรือ I ในภาษาอังกฤษ ส่วนคำว่าภิกษุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

(iii) บทสวด กุสะลา ธัมมา หรือเรียกว่าบทสังคิณี ที่สวดในงานศพ เขาสวดให้คนเป็นฟัง ไม่ใช่สวดถึงคนตาย

(iv) พระสงฆ์ห้ามยืนฉันน้ำ เพราะเป็นอาบัติแบบหนึ่ง และหลัง 12:00 ฉันน้ำปานะได้ ยกเว้น น้ำข้าวกล้องงอก (เพราะมีส่วนผสมของข้าว) ส่วนกรณีน้ำปานะที่มีเนื้อผลไม้ เช่น Mini made pulpy ก็ฉันได้ แต่ให้กลืนเนื้อลงไปตอนดื่ม ห้ามเคี้ยว

(v) ยะถา วาริวะหา ปุรา ปะริปุเรนติ สาคะรัง....สัพพีติโย วิวัชชันตุ...... ที่พระสวดตอนญาติโยมกรวดน้ำ เป็นบทสวดเดียวเท่าที่ผมเจอ ที่มีคำแปลอลังการที่สุด ลองดูคำแปลแบบเต็มๆได้ที่นี่ครับ (บางคนชอบบอกว่า ยะถาให้ผี สัพพีให้คน ก็เพราะคำแปลของบทสวดครับ)

(vi) ภิกษุถือศีล 227 ข้อ แต่ทำไมตอนขอบวชถึงสมาทานศีล 10 พระท่านอธิบายให้ฟังว่า ช่วงแรกเป็นแค่การบวชสามเณรเท่านั้น ต่อเมื่อเราสวดบาลี 6 วรรคสุดท้ายที่ผมเล่าให้ฟังไปใน part B จึงจะเป็นการรับเป็นภิกษุอย่างแท้จริง และช่วงที่พระสวดยาวๆหลังจากนั้น ก็จะระบุให้เราถือศีล 227 ข้อ แบบเต็มตัว

(vii) วัตรปฏิบัติของสงฆ์ มีทั้งส่วนที่ทำแล้วอาบัติ กับส่วนที่ไม่อาบัติ เพียงแต่ทำแล้วไม่สำรวม เช่น มีคนเคยถามว่า พระอยากลดน้ำหนัก จะ Sit Up วิดพื้น ได้มั้ย คำตอบคือ ได้ ไม่อาบัติแต่ไม่สำรวม ถ้าจะทำ ก็ควรทำในที่รโหฐานคนเดียว หรืออย่างพระว่ายน้ำเล่นได้มั้ย อันนี้ ไม่ได้เพราะอาบัติ แต่ถ้าเป็น case สุดวิสัยที่มีคนจมน้ำ และแถวนั้นหาฆราวาสมาช่วยไม่ได้เลย ก็อนุโลมเป็นกรณีๆไป

G. นิมนต์สวด ที่วัดและนอกวัด

ช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 จะมีพระใหม่หลายรูปมาบวชและถูกส่งไปวิปัสสนา ประกอบกับพระเก่าหลายรูปที่สึกออกไปช่วงสัปดาห์ที่ 2,3 ทำให้ที่วัดช่วงนั้น ผมกลายเป็นพระ senior เต็มๆ ดังนั้นเวลามีญาติโยมมานิมนต์พระไปสวด ผมก็จะต้องติดสอยห้อยตามไปตลอดเพราะพระไม่พอ อย่างปกติช่วง เสาร์ อาทิตย์ ถ้าไม่มีงานบวช จะมีญาติโยมมาทำบุญที่วัด เนื่องในโอกาสต่างๆ เต็มไปหมด จะมีการนิมนต์พระลงสวดหลายรูป โดยจะนั่งเรียงตามลำดับพรรษา และแน่นอนว่า ผมก็จะนั่งค่อนไปทางปลายแถวตลอดครับ

ความรู้สึกตอนเป็นเด็กที่ฟังพระสวด แล้วถามในใจว่า ทำไมมันนานขนาดนี้ ก็ได้มาประจักษ์ตอนบวชเป็นพระแล้ว ว่าบางที ที่มันยาวนั้น ท่านตัดทิ้งไปบางส่วนแล้วนะครับ ของจริงยาวกว่านี้อีก ปัญหาหนึ่งที่พระใหม่จะเจอเวลาสวดแบบทางการ คือเหน็บกินขา ตอนนั่งพับเพียบครับ วิธีแก้ของผมในกรณีที่เปลี่ยนขาลำบาก คือ พยายามยกต้นขาด้านที่เหน็บขึ้นเหนือพื้น ประมาณ 3 วินาที ให้เลือดมันเดิน แล้ววางลงเหมือนเดิม หรืออีกวิธีที่พระบางองค์บอกผม คือ ให้ทายาหม่องทั่วต้นขา ให้ร้อนสุดๆ เท่าที่จะร้อนได้ก่อนลงสวด

สำหรับ ฆราวาสที่ อยากรู้ว่า เมื่อไหร่พระจะสวดจบ มีวิธีสังเกตอย่างนี้ครับ คือ ถ้าพระเริ่มสวด ?ภะวันตุเต ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา สัพพะพุทธานุ .....? แปลว่าใกล้สวดจบแล้ว และจะไปจบที่ สัพพะสังฆานุ ภาเวนะ สัตถา โสตถิ ภะวันตุ เต

การนิมนต์สวดในวัด เป็นเรื่องธรรมดามาก ถ้าเทียบกับตอนที่รับกิจนิมนต์สวดนอกวัด ซึ่งผมมีโอกาสไปแจม 2 ครั้งครับ และแน่นอนว่าทั้ง 2 ครั้ง ผมเป็นคนสุดท้ายปลายสายสิญจน์ทั้ง 2 ครั้ง ที่เหลือจะมีแต่พระเกิน 1 พรรษาล้วนๆ ก็ต้องบอกว่าเกร็งมาก เพราะทุกรูปสวดกันจริงจังมาก ปกติ บทไหนสวดได้ ผมก็จะสวดครับ บทไหนยากมาก ก็ ลิปซิ้งค์ หรือเงียบแล้วแต่กรณี

ใน 2 ครั้งที่ไป ครั้งแรก สวดประมาณ 50 นาที เรียกว่าเหน็บกินแล้วกินอีกเลยครับ แต่ต้องมีขันติ เพราะไปบ้านฆราวาส ไม่ได้อยู่วัด ต้องสำรวมมากกว่าเดิม ส่วนอีกครั้ง จะเป็นทำบุญครอบรอบวันตาย หรืออะไรซักอย่าง ผมไม่แน่ใจ เห็นมีทอดผ้าบังสุกุล จากงานนี้ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มอีกอย่าง ว่า การถวายผ้าบังสุกุล ที่สงฆ์ยังไม่สวดพิจารณาผ้า (อะนิจจัง วะตะสัง ขารา...... ) ไม่ต้องทอดผ้ากราบรับผ้า ถึงแม้สตรีมาถวาย (แต่ก็ห้ามให้สตรี ส่งให้ถึงมือเรานะครับ?.. อาบัติ ! )

มีคำแซวติดตลก ของญาติผมที่เป็นโยมอุปัฏฐากว่า "เป็นพระนี่รวยใช้ได้เลยนะ เพราะทั้งงานบวช ทั้งรับกิจนิมนต์ ญาติโยมใส่ซองปัจจัยให้ตลอด" ผมมาบวช 1เดือน ได้ซองเฉพาะจากกิจนิมนต์ รวมๆกัน 3160 บาทครับ ซึ่งสุดท้าย ก็ถวายคืนวัดไปทั้งหมดตอนสึก
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ในตอนต่อไป มาดูว่าการเทศน์ครั้งแรกในชีวิตของผม เป็นอย่างไร
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #10  
Old 09 มิถุนายน 2011, 04:47
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

H. เทศน์บนธรรมาสน์

ผมมีลางสังหรณ์ตั้งแต่กลับจากวิปัสสนาว่า วันพระหน้า ได้ขึ้นเทศน์แน่ๆ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆครับ เพราะพระที่ดูแลเรื่องนี้ ส่งกัณฑ์เทศน์ให้ผมก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน เพื่อเทศน์ในวันพระ 25 พ.ค. (ก่อนสึก 3 วัน) ปกติที่นี่จะมีเทศน์ทุกวันพระอยู่แล้วครับ โดยจะมีพระอาวุโส เลือกองค์ที่ขึ้นเทศน์และเลือกกัณฑ์เทศน์ให้เรา

ลักษณะ กัณฑ์เทศน์ จะเป็นแผ่นยาวๆ มีหลายทบครับ ดูเหมือนไม่ยาก เพราะแค่อ่านตามกัณฑ์เทศน์ แต่ต้องซ้อมนะครับ จะมา script สด ไม่ได้

กัณฑ์ที่ผมได้ ชื่อเรื่องว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง หรือ ความสุขนอกเหนือจากความสงบไม่มี ความยาว 11 ทบ ซึ่งถือว่าไม่ยาวมาก เมื่อเทียบกับกัณฑ์ของน้องอีกคน ที่อยู่กุฏิเดียวกับผม ที่เทศน์ วัน วิสาขบูชา (อันนั้น 17 ทบ)

เวลาที่ใช้เทศน์ จะอยู่ที่ 20-25 นาทีครับ เรียกว่าต้องแรงดีไม่มีตก ตลอดช่วงที่เทศน์ครับ

จะมีการซ้อม 2 รอบ รอบแรก คือหลังจากได้กัณฑ์เทศน์ไป 3-4 วัน ก็จะนั่งบนเก้าอี้ธรรมดาแล้วลองเทศน์ให้พระที่ดูแลเรื่องนี้ฟัง รอบที่สอง คือหลังทำวัตรเช้าของวันจริงครับ ซึ่งจะได้ซ้อมบนธรรมาสน์ ออกไมโครโฟนจริงๆ

ขั้นตอนในการเทศน์ จะเริ่มจาก สวด นะโม 5 ชั้นครับ หมายความว่า สวดนะโม ธรรมดา 3จบ แต่ตัดเป็น 5 วรรค มันจะเป็นอย่างนี้ครับ : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ // ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ // นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต // อะระหะโต สัมมา // สัมพุทธัสสะ รวม 5 วรรคพอดี จากนั้นจะมีช่วง intro ว่าจะเทศน์เรื่องอะไรให้ญาติโยมฟัง ก็จะต้องพูดช้าๆเนิบๆครับ จนพอถึงช่วง ที่บอกว่า มีใจความดังนี้ ก็จะเริ่มเป็นจังหวะปกติ เร็วขึ้นได้ แต่ต้องไม่ speed จนญาติโยมตามไม่ทัน และพอตอน ending ก็จะต้องพูดช้าๆเนิบๆอีกรอบ ตรงไหนในกัณฑ์เทศน์ที่มีบาลี จะต้องพูดช้าๆครับ

ส่วนตอนก่อนขึ้นเทศน์ ขั้นตอนจะเริ่มจาก พอฆราวาสที่นำสวด เริ่ม บทลาข้าวพระพุทธ (เสสัง มังคะลา ยาจามิ) เราก็จะคุกเข่า ถอยหลังออกจากคณะสงฆ์ที่นั่งอยู่ แล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์ เจ้าอาวาสที่นั่งหัวแถว ค่อยๆลุกอย่างสำรวม เดินไปที่ธรรมาสน์(ซึ่งสูงเลยต้นขามานิดนึง) และก้าวขึ้นนั่งพับเพียบอย่างสำรวม จัดตำแหน่งไมค์ให้เรียบร้อย แต่อย่าเพิ่งเปิดไมค์ พอฆราวาสสวด อาราธนาธรรม(พรัหมมา จะโลกา ธิปติ สะหัมปะติ กัตอัญชะลี....) ไปได้กลางท่อน เราก็ไหว้กัณฑ์เทศน์ที่วางอยู่ขวามือ หยิบกัณฑ์เทศน์ แล้วรอช่วงที่อาราธนาธรรมเสร็จ ก็เปิดไมค์ ขึ้น นะโม 5 ชั้น แล้วก็เทศน์ยาวเลยครับ

ปัญหาตอนเทศน์จริงคือ เหงื่อแตกพลั่กๆเลยครับ เพราะตรงที่ธรรมาสน์ไม่มีพัดลม ส่วนเรื่องเหน็บ ไม่หนักเท่าตอนซ้อมใหญ่ (อาจจะเป็นเพราะแรงอธิษฐานของผมตอนก่อนขึ้นเทศน์ ว่าให้ผ่านไปอย่างราบรื่น) พอเทศน์จบ ก็ลงจากธรรมาสน์ กราบเบญจางค์ 3 ครั้งเจ้าอาวาส แล้วคลานเข่ามานั่งตรงกลาง ซึ่งพระจะเว้นที่ให้เรา ตรงกับตำแหน่งที่มีพานที่ญาติโยมถวายสังฆทานตั้งไว้ วันจริง โยมพ่อ โยมแม่ จะเป็นคนถวายของให้ผมปิดท้ายครับ

วันเทศน์จริง ผมก็สวมวิญญาณ เหมือนเด็กมัธยมที่ไปแข่งอ่านฟังเสียงระหว่างโรงเรียนเลยครับ ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะโยมพ่อ โยมแม่มาฟังด้วย ที่ดีใจมาก คือ มี feedback จากคนรู้จักที่ไม่ใช่ญาติ จำบางท่อนเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ กั้นขวางความสงบ ที่ผมเทศน์ได้ OHO ! ตื้นตันมาก

I. วันลาสิกขา

ฤกษ์สึก เป็นสิ่งที่บุพการีทุกบ้านให้ความสำคัญมาก เพราะการสึกหรือลาสิกขา คือ การตายจากเพศสมณะไปสู่เพศฆราวาส เหมือนคนเกิดใหม่น่ะครับ ก็อยากได้ฤกษ์ดีๆ

สมัยก่อน จะมีบางคน ที่สึกก่อนเวลา แล้ว รถชนตาย หรือเป็นบ้าไปเลยก็มี อันนี้เป็นเรื่องของความเชื่อน่ะครับ เพราะจริงๆ สมัยพุทธกาล ก็ไม่มีการให้ฤกษ์สึก และผมได้คุยกับบางองค์ที่สึกแบบฤกษ์สะดวก ก็มีครับ

การลาสิกขาง่ายกว่าตอนขอบวชเยอะมากครับ เริ่มจากก่อนสึกจริง ต้องนิมนต์พระ 5 รูป รวมอุปัชฌาย์ และก็บอกวัน เวลาสึกของเราให้พระทั้ง 5 รูปทราบ (ควรนิมนต์พระก่อนหลายวัน) อย่าง 5 รูปของผม ก็จะมี เจ้าอาวาส ,หลวงน้าสารสิน ,พระอุปถัมภ์ ,พระที่บิณฑบาตกับผม แล้วก็พระที่โกนหัวให้ผมตอนวันโกนครับ ซึ่งเป็นรูปเดียวกับที่แต่งตัวให้ผมวันบวช (และเป็นพระเถระด้วย)

ฤกษ์สึกของผม วางมาตั้งแต่ก่อนบวชครับ โดยผมเป็นคนวางฤกษ์สึกเองทั้งหมด ตามหลักโหราศาสตร์ แล้วก็ spare ไว้ 2 ฤกษ์ด้วย เผื่อกรณีที่ชนกับงานสำคัญที่วัด เช่น มีบวชพระใหม่ ก็จะใช้อุโบสถไม่ได้

ฤกษ์สึกที่ดีของแต่ละคนต่างกันครับ และ ถ้าจะเอาแบบ perfect จริงๆ ต้องบอกว่า หาไม่ง่ายครับ โดยเฉลี่ย 1 ปีมีไม่เกิน 2-3 ฤกษ์ ดังนั้น ผมจึงใช้แค่ ฤกษ์แบบ optimal ก็พอ คือให้มันส่งเสริมพื้นดวงเดิม ถ้ามันจะมีอะไรเสียๆบ้าง ก็ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่เจ้าชะตารับได้

ที่นี่ เวลาใครใกล้จะสึก ก็จะไปเคาะประตูห้องเจ้าอาวาส ให้ท่านดูให้ เว้นเสียแต่บาง case ที่พึ่งคนนอก หรืออย่าง case ของผมที่ดูเองได้ ฤกษ์ดีๆ บางที ก็มากับเวลาแปลกๆ ครับ อย่างบางรูปสึกหลังเที่ยงคืนก็มีครับ

ผมลาสิกขา ตอน 8:40 วันเสาร์ที่ 28 /5/2011 ใน ปุษย ราชาฤกษ์ จริงๆ ผมวางเป็น range กว้างๆ ไว้ว่า 8:35- 9:15 ซึ่งมันจะคาบเกี่ยว ราชาฤกษ์ไปถึงสมโณฤกษ์

ก่อนวันสึกจริง ผมก็บอกโยมพ่อ โยมแม่ ว่าน่าจะมีเลี้ยงพระเช้าวันสึกด้วยนะ โดยมาสรุปที่ ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว และติ่มซำ ถือเป็นการสร้างกุศลแบบจัดเต็มส่งท้ายครับ (หลังฉันเช้าเสร็จเห็นคนงานที่วัด โซ้ยกันสนุกสนานมาก)

การลาสิกขา ทำในอุโบสถครับ เริ่มจาก ขอขมาพระรัตนตรัย โดยวันนั้นหลวงน้าสารสิน มานำสวดให้ แล้วก็ตามด้วยการท่องคำลาสิกขา 2 บรรทัด 3 รอบ : สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์

จากนั้น พระอุปัชฌาย์ ก็จะปลดสังฆาฏิออกด้านไหล่ซ้าย แล้วให้เราไปเปลี่ยนเป็นชุดขาว หลังพระประธาน โดยถอดชุดที่ห่มดองออก ทางศีรษะนะครับ ย้ำว่าถอดทุกอย่าง ทั้งสบง จีวรและอื่นๆขึ้นทางหัวให้หมด เพราะเราไม่ใช่พระแล้ว

พอเปลี่ยนเป็นชุดขาวเสร็จ ก็กลับมาที่หน้าคณะสงฆ์ทั้ง 5 แบบเดิม แล้ว สวดคำอาราธนาพระรัตนตรัย (อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ....) ตามด้วยสวดขอศีล (มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ...) จากนั้น พระท่านก็จะนำสมาทานศีล 5 ครับ ปิดท้ายด้วยสวดชยันโต กรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี

แล้วเจ้าอาวาสหรือพระที่อาวุโสรองลงมา ก็จะให้พรเราเป็นภาษาไทย ขั้นตอนทั้งหมดไม่เกินครึ่งชั่วโมงครับ ช่วงที่ท่านพรมน้ำมนต์ รู้สึกขนลุกครับ (ชั่วโมงที่แล้วเป็นพระ พอตอนนี้เป็นทิดซะแล้ว)

วันบวช ก็บวชนาคคู่ วันลาสิกขา ผมก็ลาสิกขาคู่ครับ แต่ไม่ใช่กับองค์เดิม เป็นพระใหม่ที่มาบวชกลางเดือน

สิ่งที่ผมทำในคืนก่อนลาสิกขา ก็คือล้างห้องน้ำในกุฏิครับ โดยมีพระอุปถัมภ์มาช่วยอีกแรง ตอน 2 ทุ่มกว่า ส่วนพอลาสิกขาแล้ว ก็ถวายเงินทั้งหมดคืนวัดครับ ตั้งแต่ที่ผมได้มาตอนรับกิจนิมนต์ รวมกับตอนที่ญาติโยม ใส่ย่ามให้วันบวช สิริรวมเป็นเงิน 14,770 บาทครับ

หลังจากถวายเงินคืนวัดแล้ว ก็มาซัก จีวร สบงที่เหลือ ตากและพับคืนวัด ก่อนกลับบ้าน และไปลาพระที่เราเคารพนับถือ ก่อนกลับครับ โดยคุกเข่ากราบเบญจางค์ 3 ครั้งต่อหน้าท่าน แล้วท่านก็จะให้พรเราครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------

Note : เหลืออีก 1 part สุดท้ายที่เป็นบทสรุปของการบวช ใน post หน้าครับ
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #11  
Old 09 มิถุนายน 2011, 17:33
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

J. ข้อคิดปิดท้าย

การบวช 1 เดือนของผม ในแง่กิจของสงฆ์ ก็ได้ทำเกือบครบทุกอย่างครับ เว้นแต่สวดศพ กับอยู่ปริวาส (การอยู่กรรมของภิกษุ เพื่อชำระอาบัติสังฆาทิเสส จะอาบัติหรือไม่ ก็มาปริวาสได้ครับ (ปกติ จะทำปีละครั้ง สำหรับพระที่บวชเกิน 3 เดือน) เพราะบางที เราอาจเผลอทำสิ่งที่อาบัติโดยไม่รู้ตัว)

อ้อ! ผมลืมเล่าไปเรื่องนึงครับ คือที่นี่ พระจะปลงอาบัติกันทุกเช้าครับ ก่อนทำวัตรเช้า โดยจะจับคู่ พรรษามากกับพรรษาน้อยแล้วปลงอาบัติ ซึ่งก็จะเป็นบทสวดแบบ conversation

จริงๆกิจวัตรประจำวันของสงฆ์นั้น มีไม่มากครับแต่วินัยสงฆ์นั้นมีมาก พระจะพรรษามากหรือน้อยก็อาจเผลอทำสิ่งที่ผิดวินัยโดยไม่รู้ตัวได้

ในแง่ธรรมะ ที่ได้มากสุดของผม มี 2 อย่างครับ อย่างแรกคือ ขันติ บททดสอบขันติอย่างแรก ก็เช่น ตอนที่บวชมาได้ซักระยะ หัวเข่าจะด้านไปหมดเลยครับ เพราะท่อนที่คุกเข่า ทำวัตรเช้า-เย็น จะนานมาก อาทิตย์แรกๆ ผมอาจจะมีนั่งพับเพียบในตอนที่ให้คุกเข่าบ้าง แต่พอ 2 อาทิตย์หลัง ผมพยายาม ทำให้เป๊ะๆตามที่สงฆ์ควรทำ ว่าสวดท่อนไหนคุกเข่า ท่อนไหนพับเพียบ นอกจากขันติต่อความยากลำยากแล้ว ก็ยังมีขันติต่อความหิวครับ ซึ่งหลังสึก น้ำหนักลดไป 4 กิโลครับ

ภาพชินตาอีกอย่างที่ได้เห็นตอนมาบวช คือ ฆราวาสที่อาวุโสกว่าเรา ยกมือไหว้เรา ซึ่งจริงๆแล้ว เขาไหว้ในศีลที่เราปฏิบัติ ดังนั้น เราก็ต้องประพฤติตัวให้ดี ให้สมกับที่มีคนมายกมือไหว้เรา

มีเรื่องนึงครับ จะฝากเผื่ออนาคตใครที่ board จะบวช นั่นคือเรื่อง บุหรี่ เพราะผมเห็นพระใหม่ที่มาบวช หลายรูป ยังตัดไม่ได้ มันอาจจะไม่ผิดวินัย แต่ ในความเห็นผม ผมว่าเป็นภาพพจน์ที่ไม่ดี ถ้ามีใครมาเห็น

จากการได้มาบวช ก็พบว่า สังคมพระ มีหลายอย่าง ที่ไม่ต่างจากสังคมฆราวาสครับ ไม่ใช่เพราะวัดไม่ดี แต่เพราะคนที่มาบวช ร้อยพ่อพันแม่ องค์ที่ดีและน่าเคารพก็มีเยอะ ซึ่งผมก็อนุโมทนา อย่างองค์ที่มาช่วยผมล้างห้องน้ำ ก็เป็นองค์ที่ให้ความรู้ผมเยอะมาก ซึ่งสาระต่างๆที่ผมมาถ่ายทอดในกระทู้นี้ ก็มาจากท่านส่วนนึง นอกจากนี้ ท่านจะมาชวนผมเดินจงกรมเกือบทุกวัน วันที่ผมสึก ท่านบอกผมว่า ?ฆราวาสที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ยังดีกว่าบรรพชิตที่ไม่ปฏิบัติ การมาบวชเราต้องบวชใจด้วย ไม่ใช่บวชกายเพียงอย่างเดียว และการบวชใจ ทำได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะลาสิกขาไปแล้ว?

สำหรับองค์ที่ติดพฤติกรรมหลายอย่างของฆราวาสมาใช้ที่วัดก็มีครับ ซึ่งเราก็ต้องปล่อยวาง และทำความเข้าใจว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล

ผมชื่นชมเจ้าอาวาส ตรงที่ท่านอ่านคนขาด และเป็นคนสมานฉันท์ในเวลาเดียวกัน ผมสัมผัสได้ว่า ท่านรู้ว่า พระรูปไหน นิสัยใจคออย่างไร ใครชอบท่าน ไม่ชอบท่าน แต่ท่านไม่เอามาเป็นอารมณ์ แม่ผมบอกว่า จริงๆท่านจะไปอยู่วัดอื่นนานแล้ว แต่ญาติโยมขอร้องไว้ เพราะท่านเป็นสไตล์พระนักพัฒนา

อย่างผมเอง เวลาเจอเรื่องขัดใจระหว่างบวชเกี่ยวกับคน ก็จะนึกถึงคำของท่านพุทธทาสที่บอกว่า ?เขามีส่วนเลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย? ซึ่งนั่นก็คือ สิ่งที่สอง นอกจากขันติที่ผมได้ คือ ได้เข้าใจ อนัตตา มากขึ้น

อนัตตา เป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ ครับ แปลว่า ไม่มีตัวตน หรือจริงๆแล้วใจความของ อนัตตา ต้องการจะบอกว่า สรรพสิ่งล้วนไม่มีตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ เหตุใดมนุษย์จึงยึดมันเอาไว้ พยายามจะควบคุมให้ได้อย่างใจเรา

ผมว่า ถ้าคนเราเข้าใจ อนัตตา ความขัดแย้งระหว่างบุคคลจะยุติง่ายขึ้นเยอะครับ

พอพูดเรื่องนี้ แล้วก็นึกถึง wording ฝรั่ง ที่บังเอิญไปเจอในหนังสือ จิตวิทยาการสื่อสาร หัวข้อ การดูแลอารมณ์ เขาบอกว่า Don?t think that ?you make me feel hurt.?, just thinks only ?I feel hurt? and delete it. เป็นคำสอนเรื่องอนัตตา ที่ดีมากครับ เพราะปกติเวลาใครมาทำให้เราไม่พอใจ เราจะย้ำว่า คุณมาทำให้ฉันเจ็บ ซึ่งนำไปสู่ความโกรธ อาฆาต และอื่นๆ แต่พอตัดเขา ตัดเราออกได้ ไม่ไปยึดกับมัน คิดแค่ว่า เจ็บหนอ แล้วลืมมันไปซะ ไม่ต้องไปย้ำความเจ็บ วิวาทะก็ไม่เกิด
----------------------------------------จบบริบูรณ์----------------------------------------------------------
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #12  
Old 24 กรกฎาคม 2011, 02:47
ความฝัน ความฝัน ไม่อยู่ในระบบ
จอมยุทธ์หน้าหยก
 
วันที่สมัครสมาชิก: 16 เมษายน 2010
ข้อความ: 184
ความฝัน is on a distinguished road
Default

เป็นเรื่องที่ดีมากๆเลยครับ

ผมก็เพิ่งบวชไปไล่เลี่ยกันแหละครับ แต่ขอชื่นชมตรงไม่เอามือถือไปนี่ละ

ผมคิดว่าตัวเองมีมือถือไปเครื่องเดียวจะแลแปลกแล้วเพราะพระที่บวชอยู่ข้างๆผมมีทั้งโทรทัศน์เครื่องเสียง

ส่วนการมีห้องน้ำในตัวผมว่าไม่ดีนะ

เพราะเวลาเข้าตอนดึกๆจะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศแบบ...ยิ่งถ้าบนศาลามีศพนะ

ตั้งแต่ศึกมาจนถึงวันนี้ผมยังไม่ลืมเลยมันเหมือนเราดตขึ้นในชั่วเวลาเกือบเดือน
__________________
ทำตัวให้ตื่นเต้น
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
  #13  
Old 24 กรกฎาคม 2011, 04:57
passer-by passer-by ไม่อยู่ในระบบ
ผู้พิทักษ์กฎทั่วไป
 
วันที่สมัครสมาชิก: 11 เมษายน 2005
ข้อความ: 1,442
passer-by is on a distinguished road
Default

อ้างอิง:
ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ ความฝัน View Post
ผมคิดว่าตัวเองมีมือถือไปเครื่องเดียวจะแลแปลกแล้วเพราะพระที่บวชอยู่ข้างๆผมมีทั้งโทรทัศน์เครื่องเสียง
ที่ผมไปบวชมา สำหรับพระที่บวชหลายพรรษา บางกุฏิก็มีโทรทัศน์ครับ แต่ผม assume ว่า ท่านดูด้วยสติ และควบคุมจิตใจได้อย่างมั่นคง ส่วนพระบวชใหม่ โทรทัศน์นี่อันตรายมากครับ เพราะเป็นประตูสู่กิเลสนานาชนิด

อ้างอิง:
ข้อความเดิมเขียนโดยคุณ ความฝัน View Post
ตั้งแต่สึกมาจนถึงวันนี้ผมยังไม่ลืมเลยมันเหมือนเราโตขึ้นในชั่วเวลาเกือบเดือน
ครับ การบวชเป็นประสบการณ์ที่ต้องมาลองเองถึงจะรู้ และจะไม่มีวันลืมเลยครับ

มีเรื่องปลีกย่อยเรื่องนึงที่ผมไม่ได้เล่าไว้ข้างบน คือ สมัยก่อน เรื่องบวชไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย จนต้นปี 2554 ที่ความรู้สึกอยากบวชมันก็มาแบบ automatic มาก จนทั้งบ้านงง ที่แปลกไปกว่านั้น คือวันที่ผมตัดสินใจบอกกับพ่อแม่ว่าจะบวช เป็นวันเดียวกับที่น้าชายเล่าให้ฟังว่า เพิ่งฝันเห็นผมห่มผ้าเหลืองมาเยี่ยมบิดามารดา

อืมม...ไม่รู้ว่าผมคิดไปเองหรือเปล่านะ เพราะหลังลาสิกขามาเกือบ 2 เดือน ผมรู้สึกว่า กุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่ผมได้ทำในปัจจุบัน ให้ผลแรงและเร็วกว่าเดิมทั้ง 2ด้าน มองในแง่ดี คือ เราจะได้มีสติมากขึ้น และไม่ทำอะไรออกนอกลู่นอกทาง
__________________
เกษียณตัวเอง ปลายมิถุนายน 2557 แต่จะกลับมาเป็นครั้งคราว
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความนี้
ตั้งหัวข้อใหม่ Reply


เครื่องมือของหัวข้อ ค้นหาในหัวข้อนี้
ค้นหาในหัวข้อนี้:

ค้นหาขั้นสูง

กฎการส่งข้อความ
คุณ ไม่สามารถ ตั้งหัวข้อใหม่ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบหัวข้อได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์และเอกสารได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความของคุณเองได้

vB code is On
Smilies are On
[IMG] code is On
HTML code is Off
ทางลัดสู่ห้อง


เวลาที่แสดงทั้งหมด เป็นเวลาที่ประเทศไทย (GMT +7) ขณะนี้เป็นเวลา 16:00


Powered by vBulletin® Copyright ©2000 - 2024, Jelsoft Enterprises Ltd.
Modified by Jetsada Karnpracha